การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เป็นโอกาสของกลุ่มผู้ประกอบการ SME แต่ในทางกลับกัน ถ้าไม่ปรับตัวการเปิด AEC ก็จะทำให้เราเสียโอกาสได้เช่นกัน เพราะต้องไม่ลืมว่าประเทศเพื่อนบ้านก็มีการปรับตัว และหวังโอกาสในการเปิดตลาด AEC ตรงนี้เช่นกัน วันนี้ได้มีข้อคิดจากผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน ISMED และผู้ประกอบการ SME ประสบความสำเร็จมาร่วมถ่ายองค์ความรู้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการต่อไป
สถาบัน ISMED ที่ปรึกษาที่มาช่วยเติมเต็ม SME
นางสาวอาภาพรรณ ธนานิยม ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการตลาดและการสร้างแบรนด์ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) กล่าวว่า ผู้ประกอบการ SME ไทยแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ คือ กลุ่มที่มีความพร้อม และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และกลุ่มที่ยังมีข้อจำกัดในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินทุน การผลิต การตลาด โดยกลุ่มที่มีข้อจำกัด นี้เป็นกลุ่มที่จะต้องปรับตัว และมองว่าเรามีศักยภาพตรงไหน และยังขาดตรงไหน ทางออกคือ ต้องพยายามหาเครือข่าย และรวมกลุ่มคลัสเตอร์ เพื่อที่เราจะได้แก้ปัญหาข้อจำกัดเหล่านี้
สำหรับสิ่งที่ SME จะต้องปรับปรุงเตรียมความพร้อม รับมือ AEC
ประการแรก ต้องศึกษาความต้องการของตลาด และหันมาปรับปรุงสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด
ประการที่ 2 ดูแนวโน้มของกระแสการเปลี่ยนไปของโลก และปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
ประการที่ 3 ศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น ปัจจุบันคนหันมาซื้อสินค้าออนไลน์ เราก็ต้องมาศึกษาและทำตลาดออนไลน์เช่นกัน เป็นต้น
นางสาวอาภาพรรณกล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญที่สุดของ SME ในยุคนี้คือ ต้องพัฒนาอย่างมีองค์ความรู้ ควบคู่ไปกับภูมิปัญญา เพราะภูมิปัญญาเป็นเสน่ห์ความเป็นไทย ที่เราก็จะทิ้งไม่ได้ ดังนั้น ทำควบคู่ไปกับองค์ความรู้ หลักวิชาการ หรือ R&D งานวิจัย เพราะงานวิจัยจะเป็นที่มาของ Innovation การจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ การบริหารจัดการ การทำบัญชี การวางแผนการเงิน
การเปิด AEC ทำให้ทุกคนมองเห็นโอกาส แต่อัตราการแข่งขันก็มีสูงด้วยเช่นกัน การทำตลาดในประเทศ เราก็จะรู้ว่าลูกค้าเราเป็นใคร มีอุปนิสัยอย่างไร และต้องการอะไร แต่ต่อจากนี้ไปเราจะรู้แค่คู่แข่ง หรือลูกค้าในประเทศไม่ได้ เราจะต้องศึกษาคู่แข่งที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านของเราด้วย
ครั้งนี้วิทยากรได้มีตัวอย่างของประเทศเพื่อนบ้านที่น่ากลัว อย่าง เวียดนาม มาฝาก วิทยากรได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศเวียดนาม พบว่าเป็นประเทศที่เราจะต้องจับตามองอย่างมาก เพราะชีวิตคนเวียดนามเขาต้องต่อสู้จากภาวะสงครามที่ผ่านมา ดังนั้นจะเห็นถึง ความเข้มแข็ง ขยัน อดทนของคนเวียดนาม ซึ่งเมื่อทำอะไรก็จะทำจริงจัง ดังนั้น โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในธุรกิจ และเป็นคู่แข่งเรานั้นมีมาก โดยเฉพาะ กลุ่มเวียดคิว เป็นกลุ่มเวียดนามที่อพยพไปอยู่ในสหรัฐอเมริกา และกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความพร้อม ทั้งด้านองค์ความรู้ ที่ได้รับการถ่ายทอดจากการทำงานในต่างประเทศ และเงินทุนที่เก็บสะสม รอเวลาเมื่อเวียดนามเปิดประเทศ เขาก็พร้อมที่จะกลับไปพัฒนาและลงทุนในประเทศของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ประกอบการไทยจะมีพื้นฐานด้านการเป็นผู้รับจ้างผลิตมายาวนาน แต่สิ่งที่ SME ไม่อาจมองข้าม เพราะการผลิตแบบเดิมไม่ได้ตอบโจทย์ในยุคนี้ ทุกอย่างมีความท้าทาย ต้องพัฒนารูปแบบ คนไทยต้องมีความคิด และมุมมองใหม่ เพื่อให้เราได้สินค้าที่ตรงตามความต้องการของตลาด และสามารถแข่งขันได้ ทั้งคุณภาพ รูปแบบ และราคาที่เหมาะสม
ขนมเปี๊ยะ แม่เอย ไขเคล็ดลับ งานวิจัยช่วยส่งออก อย่างไร
นายดิศรณ์ มาริษชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัทขนมแม่เอย - เปี้ยะแอนด์พาย (2003) จำกัด กล่าวถึงการรับมือการทำตลาด AEC ว่า ในส่วนของขนมเปี๊ยะ แม่เอย ที่ก้าวมาถึงวันนี้ ส่วนหนึ่งเพราะได้รับการช่วยเหลือจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เหมือนเป็นพี่ชายที่ทำให้แม่เอยขายได้ทั่วโลก ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ขนมเปี๊ยะแม่เอย และขนมไทย สามารถขยายตลาด และส่งออกไปทำตลาดทั่วโลก
สำหรับการขยายตลาดไปต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับขนมไทย เพราะอายุการเก็บรักษาสั้น หรือถ้ายืดอายุก็ต้องใช้การแช่แข็ง แต่ปัญหาของการแช่แข็ง คือ ร้านที่รับจำหน่าย ก็ต้องมีตุู้แช่แข็ง หรือการขนส่งก็ต้องใช้ตู้คอนเทนเนอร์ที่เป็นตู้แช่แข็ง ต้นทุนการขนส่ง หรือ ต้นทุนการขายหน้าร้านที่รับสินค้าไปขายก็ต้องเพิ่มขึ้น
ปัญหานี้หมดไป เพราะเรานำงานวิจัยที่ทำร่วมกับทีมที่ปรึกษาของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมาช่วย สุดท้ายก็ได้ผลิตภัณฑ์ที่เก็บไว้ได้นานโดยไม่ต้องใช้การแช่แข็ง และที่สำคัญคือยังได้รสชาติขนมหวานที่เป็นแบบไทย สามารถขายขนมไทยไปได้ทั่วโลก แต่สิ่งที่ฝากไว้กับ SME ในการที่จะไปขายต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน แนะนำว่าไม่ควรใช้การตัดราคากันเอง เพราะสุดท้ายเมื่อคิดต้นทุนแล้วจะไม่เหลืออะไร เหมือนการฆ่ากันเอง และสิ่งที่ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงคือ วัฒนธรรมไทย และควรจะนำมาเป็นจุดขายที่นำเสนอต่างชาติให้ได้เห็นด้วย
น้ำมันมะพร้าว ทรอปิคานา
ถ่ายทอดองค์ความรู้ สู้ศึก AEC
ด้านนายสุรเดช นิลเอก กรรมการผู้จัดการ บริษัททรอปิคานา ออยล์ จำกัด กล่าวว่า สำหรับ ทรอปิคานา เป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าวที่ปัจจุบันมียอดขายอยู่ในหลายประเทศ จุดขายของน้ำมันมะพร้าวทรอปิคานาคือสามารถทำน้ำมันมะพร้าวที่ไม่มีกลิ่นหืน ทำให้สามารถนำไปใช้กิน หรือใช้เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้ โดยได้ทำวิจัยอยู่นานถึง 2 ปี ก่อนจะได้ ผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าวทรอปิคานา ที่ปัจจุบันหน่วยงานราชการจากหลายประเทศจะต้องมาศึกษาดูงาน และปัจจุบันยังได้ทำน้ำมันมะพร้าวที่เป็นออร์แกนิก ที่ได้รับการรับรองในระดับสากล
“การทำผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกส่งไปขายต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถ้าเป็นใบรับรองออร์แกนิกจากประเทศไทย ส่งออกไม่ได้ ทั่วโลกยังไม่ยอมรับ ดังนั้น ถ้าจะทำออร์แกนิกเราจะต้องได้รับรองที่เป็นออร์แกนิกสากล ที่จะออกโดยสหรัฐอเมริกา หรือ เยอรมนี”
สำหรับข้อคิดที่ SME ต้องคำนึงถึง การไปทำตลาดต่างประเทศ
ประการแรก การศึกษาก่อนว่าสินค้าเราจะขายในประเทศไหนได้บ้าง
ประการที่ 2 การขายในประเทศไหนจะต้องจดทะเบียน ตรายี่ห้อ ในประเทศนั้น ป้องกันการลอกเลียนแบบ
ประการที่ 3 ต้องเรียนรู้คู่ค้าของเราให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจมอบสินค้าให้เขาไปดูแล เพราะสุดท้ายถ้าสินค้าของเราเสียหายก็จะขายในประเทศนั้นไม่ได้อีกเลย สินค้าเหมือนกับลูกสาว ถ้ายกให้ก็ต้องรู้จักเขาให้ดีเสียก่อน
ประการที่ 4 การวางตำแหน่งสินค้า ถ้าขายถูกไปอาจจะไม่ได้รับการตอบรับจากลูกค้าบางกลุ่มได้ เพราะมองว่าเป็นสินค้าไม่มีคุณภาพ หรือราคาสูงเกินไปก็อาจจะมีคู่แข่ง ดังนั้น การวางตำแหน่งสินค้า คุณภาพ และราคาที่เหมาะสมจะทำให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน
และประการสุดท้าย SME ไม่อาจมองข้าม ถ้าขายอาหาร คือ การขอ อย. แม้ว่าจะมีเครื่องหมายมาตรฐานอื่น ไม่ว่าจะเป็น มผช. หรืออื่นๆ ก็ต้องขอ อย. ถึงจะจำหน่ายสินค้าในประเทศไทยได้
สุดท้ายนี้ ถ้าใครมีข้อสงสัยประการใด หรือต้องการจะขอความช่วยเหลือในการทำตลาด AEC ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมยินดีที่จะให้การช่วยเหลือ แนะนำ เพื่อให้ SME ก้าวไปอย่างมั่นคง และพร้อมรับมือการเปิด AEC อย่างเต็มตัว ในปี 2559
***********************
ที่มา : งานเสวนา เปิดตัวแคมเปญ “SME เมคโอเวอร์ พลิกโฉมอุตสาหกรรมไทย” ในหัวข้อ “เปิดยุทธศาสตร์เมคโอเวอร์ SME ผนึกกำลังผู้เชี่ยวชาญรังสรรค์ยุทธ์แปลงโฉมสินค้าให้ตอบตลาดอาเซียน” โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *