xs
xsm
sm
md
lg

กสอ.แจงแผนพัฒนายาง 5 ชายแดนใต้ 8 เดือน ผปก.มีรายได้เพิ่มกว่า 20%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสาวนิสากร  จึงเจริญธรรมรองอธิบดี กสอ.  นั่งกลาง   ถ่ายร่วมกับคนที่เข้าร่วมโครงการ
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมขานรับนโยบายรัฐบาล พัฒนากระบวนการผลิตยางพาราครบวงจร ผ่านโครงการพัฒนาเพิ่มมูลค่ายางและผลิตภัณฑ์ยางให้แก่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ระยะเวลา 8 เดือนสามารถสร้างรายได้ผู้ประกอบการเพิ่มร้อยละ 20-30 และช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชนผลิตยาง 21 กิจการ สร้างเครือข่ายกลุ่มผู้ผลิตยางต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ 3 เครือข่าย

นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ขานรับนโยบายของรัฐบาล ได้จัดโครงการพัฒนาเพิ่มมูลค่ายางและผลิตภัณฑ์ยาง กิจกรรมพัฒนาอุตสาหกรรมยาง ปี 2558 โครงการดังกล่าวมุ่งเน้นเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตยางพาราแบบครบวงจร เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางพาราอย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ เน้นการต่อยอดการผลิตในเชิงนวัตกรรม เป็นการพัฒนาที่ต้นแบบ (Model) เพื่อนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศให้มีศักยภาพและเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนเพื่อส่งเสริมการนำยางพาราในประเทศไปใช้ผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มเชิงนวัตกรรม แทนการส่งออกวัตถุดิบซึ่งจะช่วยให้ราคายางพาราฟื้นตัวดีขึ้น และลดการนำเข้ายางพาราแปรรูป ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
แผ่นยางพารา
โดยดำเนินการในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และสตูล โดยการทำงานผ่านกิจกรรม ดังนี้ พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ พัฒนาสถานประกอบการ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบจำนวน 21 กิจการ และ 21 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตามลำดับ พัฒนาบุคลากรในสถานประกอบและในวิสาหกิจชุมชน เพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ต้นแบบ จำนวน 96 คน และ 384 คน ตามลำดับ และสร้างเครือข่ายของกลุ่มอุตสาหกรรมในผลิตภัณฑ์ต้นแบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยาง เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มและสร้างอำนาจต่อรอง จำนวน 3 เครือข่าย

สำหรับการดำเนินการมาระยะเวลากว่า 8 เดือนผลเป็นที่น่าพอใจ สามารถแก้ปัญหายางพาราล้นตลาดและลดการนำเข้ายางพาราจากต่างประเทศ สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20-30 ผ่านการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการยางพาราไทย ให้เกิดการแปรรูปยางพาราเพื่อใช้อุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมยางยืดและยางรัดของ อุตสาหกรรมผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ อุตสาหกรรมผลิตรองเท้าและอุปกรณ์กีฬา ซึ่งส่วนใหญ่อุตสาหกรรมเหล่านี้จะนำเข้าผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราจากต่างประเทศ

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น