xs
xsm
sm
md
lg

“วรพร” มรดก ‘มะม่วงดอง’ ติดปีกผลไม้รถเข็นขึ้นห้างรายแรกของไทย (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มะม่วงดองของแบรนด์ วรพร
แบรนด์ “วรพร” สานต่อธุรกิจครอบครัว โดยถ่ายทอดภูมิปัญญาการประกอบอาชีพขาย “มะม่วงดอง” อย่างต่อเนื่อง เกิดการพัฒนาเพิ่มขึ้นในแต่ละเจเนอเรชัน ช่วยยกระดับผลไม้ที่เดิมขายในรถเข็นริมถนน กลายเป็นเมนูขึ้นห้างสรรพสินค้าสำเร็จเป็นรายแรกของประเทศ


ชัยพร (ซ้าย) และชัยรัตน์ โสธรนพบุตร
ตำนานมะม่วงดองเจ้าดังต้องย้อนไปเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ตั้งแต่นาย “ไต่ไห้ แซ่โค้ว” อพยพมาจากเมืองซัวเถา ประเทศจีน หอบเสื่อผืนหมอนใบทำมาหากินที่ จ.ฉะเชิงเทรา โดยพกภูมิปัญญาแปรรูปผักผลไม้ติดตัวมาด้วย ซึ่งแปดริ้วมีมะม่วงอยู่จำนวนมาก เลยเปิดร้านเล็กๆ ดองมะม่วงใส่โหลแก้วขาย สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว

บันไดแจ้งเกิดจริงจังเริ่มขึ้นในยุคทายาทรุ่น 2 อย่าง “ชัยรัตน์ โสธรนพบุตร” ปัจจุบัน ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลไม้แปรรูปวรพร จำกัด นำความรู้จากรุ่นพ่อมาหารายได้เสริมจากงานประจำอาชีพครูวิชาเคมี โดยใช้วันหยุดทำมะม่วงดอง แล้วตระเวนส่งขายตามร้านค้าต่างๆ ในเมืองแปดริ้ว

“ตอนนั้นผมเห็นว่าถ้าขายแค่หน้าร้าน ตลาดไม่กว้างพอ เลยเริ่มไปส่งขายร้านค้าต่างๆ ในเมืองแปดริ้ว เริ่มจากร้านของฝาก ตามด้วยส่งตามปั๊มน้ำมัน ทำแบบนี้เป็นประจำอยู่ 3-4 ปี จนรายได้เสริมมากกว่าเงินเดือนครู ผมเลยตัดสินใจมาทำธุรกิจมะม่วงแปรรูปเต็มตัว” ชัยรัตน์กล่าว

ก้าวกระโดดของธุรกิจ ในปี พ.ศ. 2529 เมื่อครูวิชาเคมีนำเงินเก็บหอมรอมริบมาตลอดชีวิตประมาณหนึ่งล้านบาท ลงทุนซื้อมะม่วงมาดองเตรียมไว้ตั้งใจจะขายตลอด 1 ปีเต็ม ทว่าแค่ 3 เดือนกลับขายหมด จึงตัดสินใจลงทุนเพิ่มกว่า 3 ล้านบาทเปิดโรงงานเพื่อขยายการผลิตและปรับกระบวนการผลิตยกระดับมะม่วงดองขายตามรถเข็นสู่ผลไม้แปรรูปเกรดพรีเมียม

“ผมมองว่าถ้าจะขายมะม่วงดองแบบเดิมๆ ไม่สามารถจะทำตลาดให้กว้างได้ เลยคิดถึงการนำมาบรรจุถุง ทำในระบบปิด ถือเป็นนวัตกรรมมะม่วงดองบรรจุถุงเจ้าแรกของประเทศ ส่วนช่องทางตลาด ทางร้านเซเว่นอีเลฟเว่น (7-11) เห็นว่าสินค้าเรามีนวัตกรรมเลยติดต่อไปวางขายในร้าน ตอนนั้น 7-11 ยังมีแค่ 80 สาขา ผลปรากฏว่ามันเติบโตเร็วมาก ส่งไปทั่วประเทศ และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน” เจ้าของธุรกิจเล่า

การเปลี่ยนกระบวนการผลิตจากแบบบ้านๆ มาสู่โรงงานอุตสาหกรรม ความยากที่สุด อยู่ที่ควบคุมมาตรฐานมะม่วงดองให้เกิดความ “นิ่ง” สม่ำเสมอกันทุกซองที่ผลิตขึ้น กว่าจะสำเร็จได้สูตรลงตัว อาศัยทั้งเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การคัดเลือกมะม่วงที่เหมาะสมในการนำมาดอง ตลอดจนเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์อาหาร ซึ่งต้องพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างหนึ่งที่ถูกยกมาเป็นเกร็ด คือเรื่องของ “พริกกับเกลือ” ช่วงแรกจะทำเป็นซองเล็กๆ ใส่ในซองมะม่วงดอง แต่เมื่อเก็บไว้สักพักพริกกับเกลือแข็งตัว จนต้องปรับสูตรการผลิต ปรุงรสมะม่วงระหว่างดอง ช่วยให้ได้รสชาติที่ลงตัวสำเร็จรูปโดยไม่ต้องจิ้มพริกกับเกลือ
ชัยรัตน์ โสธรนพบุตร
อีกทั้งการปรับตัวส่งสินค้าเข้าร้านสะดวกซื้อเจ้าดังนับเป็นความท้าทายเช่นกัน เขาแนะนำว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นสินค้าเกี่ยวกับอาหาร เรื่องความสะอาดปลอดภัยเป็นหัวใจชี้ขาดความสำเร็จหรือล้มเหลวของธุรกิจ

“สิ่งที่จะทำให้สินค้าบ้านๆ แจ้งเกิดได้ ผมเชื่อว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องใช้ “มาตรฐาน” เป็นตัวนำ ซึ่งข้อดีของการวางเป้าที่จะสร้างมาตรฐานให้ได้จะเป็นแรงกระตุ้นให้เราต้องพัฒนา เบื้องต้นทำให้ได้มาตรฐาน อย. ก่อน หลังจากนั้นค่อยพัฒนาเป็น GMP และไปสู่ HACCP”

นอกจากนั้น การได้เข้าขายในร้าน 7-11 ช่วยเสริมภาพลักษณ์ของมะม่วงดองให้ผู้บริโภคมั่นใจมากยิ่งขึ้น เพราะคนส่วนหนึ่งมีความเชื่อว่ามะม่วงดองเป็นเมนูขาดความสะอาด อยากกินแต่ก็กังวลเรื่องความปลอดภัย แต่เมื่อเข้าขายในร้าน 7-11 หรือตามห้างสรรพสินค้าได้ ช่วยการันตีได้ว่ามาตรฐานอยู่ระดับสูง

“การเข้า 7-11 ปัจจัยหลักคือ จะทำให้เรามีช่องทางตลาดกว้างขึ้น ควบคู่กับต้องขยายการผลิตเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งหลายรายเมื่อเพิ่มกำลังผลิตคุณภาพสินค้าจะลดลง ดังนั้น ก่อนจะเข้าต้องเตรียมพร้อมทั้งเรื่องของ “ทุน” และ “ความรู้” ซึ่งเบื้องต้นหากจะเข้า 7-11 ควรจะเริ่มจากขายในจำนวนสาขาไม่ต้องมาก มีมาตรฐานดีก่อน ถ้าตลาดไปได้ค่อยขยายกำลังผลิต ซึ่งหลายรายจะเลือกขยายกำลังผลิตก่อน แล้วค่อยไปลุ้นทำตลาด กรณีนี้ถ้าสินค้าขายไม่ดีจะเกิดปัญหาได้” เขาให้ข้อคิด

และหากจะมองไกลถึงตลาดส่งออก จำเป็นต้องพัฒนาถึงมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ “CODEX” ถ้าทำได้ สินค้าที่คล้ายกันในประเทศจะไม่ใช่คู่แข่งอีกต่อไป เพราะช่องทางขายสินค้าคือตลาดโลก มีจำนวนลูกค้ามหาศาลเกินกว่าที่ผู้ผลิตรายใดรายหนึ่งจะผูกขาดทำได้ทั่วถึง

จากการสร้างมาตรฐานดังกล่าว ไม่ใช่เฉพาะในประเทศเท่านั้น ปัจจุบันมะม่วงดอง “วรพร” ยังก้าวไกลไปขายกว่า 11 ประเทศทั่วโลก กำลังผลิตกว่า 2 พันตันต่อปี แบ่งสัดส่วนส่งเข้าร้าน 7-11 ประมาณ 50% อีก 40% ส่งออกไปจีน ส่วนที่เหลือจะกระจายตามจุดต่างๆ ในประเทศ เช่น ห้างสรรพสินค้า และร้านของฝาก รวมถึงส่งออกประเทศต่างๆ ผลประกอบการปีที่แล้วกว่า 94 ล้านบาท

เขาเผยด้วยว่า การทำตลาดต่างประเทศ เริ่มตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2541-2542 ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ อย่างกระทรวงพาณิชย์พาไปออกงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับผลไม้ยังต่างประเทศ โดยเฉพาะที่เมืองจีน ด้วยการตั้งเป้าว่าสร้างแบรนด์มะม่วงดองจากเมืองไทยให้เป็นที่รู้จัก รองรับประเทศจีนได้เป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกของในปี ค.ศ. 2008

การนำมะม่วงดองไปขายยังดินแดนต้นตำรับ ในเวลานั้นมักถูกสบประมาทเชิงเปรียบเทียบว่าเป็นการ “นำมะพร้าวไปขายสวน” ทว่า ชัยรัตน์กลับคิดต่าง มองเห็นโอกาสเปิดกว้าง เนื่องจากในประเทศจีนราคามะม่วงสูงมาก ด้วยสภาพอากาศที่หนาวเย็นทำให้ปริมาณมะม่วงออกน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศของชาวจีน ยิ่งเป็นมะม่วงดองด้วยแล้วนับเป็นสินค้าหายากในเมืองจีน อีกทั้งต้นทุนราคาน้ำตาลยังสูงกว่าประเทศไทยมากด้วย

“จากที่เราไปสำรวจตลาดจีน เฉพาะมะม่วงสดชาวจีนก็ไม่พอจะกินในประเทศแล้ว ยิ่งบวกราคาน้ำตาล ซึ่งตอนนั้นในเมืองไทยกิโลกรัมละ 12 บาท ส่วนจีน 30 บาท ดังนั้น มะม่วงดองของเราที่ส่งไปขายต้นทุนถูกกว่ามาก และยังได้คุณภาพดี ทำให้สินค้าเราได้รับความนิยมในตลาดจีนมาก และต่อเนื่องมาตลอด ถึงขนาดที่ทุกวันนี้มีสินค้าจีนเลียนแบบแบรนด์ว่า “วรพร” เหมือนเราเลย แต่คุณภาพยังไม่สามารถเทียบได้ ซึ่งผมไม่ได้กังวลเรื่องโดนก๊อบปี้ แต่กังวังเรื่องแบรนด์จะเสียชื่อเสียง” เขาระบุ
ภายในโรงงานผลิต
เท่าที่ผ่านมา ชัยรัตน์ระบุว่า ธุรกิจเติบโตค่อนข้างสม่ำเสมอ ส่วนหนึ่งมาจากเน้นทำธุรกิจแบบไม่เกินตัว ขยายธุรกิจลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับมะม่วงดองเป็นสินค้าอาหารที่ไม่ยึดติดกับแฟชั่น หรือปัจจัยภายนอกทางเศรษฐกิจจะดีหรือแย่ สามารถขายได้เรื่อยๆ เพราะเป็นผลไม้กินเล่นง่ายๆ และราคาไม่สูง

อย่างไรก็ตาม หากจะมีปัจจัยเสี่ยงอยู่บ้าง มาจากพึ่งพาแรงงานคนเป็นหลัก เพราะในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะการปอกมะม่วงไม่สามารถใช้เครื่องจักรทดแทนได้ การขยายตลาดจึงทำได้ยาก อีกทั้งราคาวัตถุดิบมะม่วงอาจจะมีความผันผวนสูงต่ำในแต่ละปี ดังนั้น วิธีลดความเสี่ยงจะรับซื้อมะม่วงสดพันธุ์พิมเสน น้ำดอกไม้ แก้วเขียว เป็นต้น จากเกษตรกรใน จ.ฉะเชิงเทรา ไว้ให้มากที่สุดในช่วงฤดูที่ผลผลิตออกพร้อมกัน ราวเดือนเมษายนและพฤษภาคมของทุกปี ในราคารับซื้อเฉลี่ยกิโลกรัมละ 6-12 บาท เพื่อเก็บสต๊อกไว้ เฉลี่ยปีละกว่า 2 พันตัน แล้วค่อยๆ ทยอยแปรรูปส่งขายได้ตลอดทั้งปี

สำหรับการส่งมอบธุรกิจไปสู่ทายาทรุ่น 3 นั้น ชัยรัตน์เล่าว่า ปลูกฝังผ่านการทำงานจริง ให้เรียนรู้ทุกขั้นตอนตั้งแต่เด็ก ทุกช่วงปิดเทอมไม่เคยส่งไปเรียนพิเศษ หากแต่ให้ลูกๆ เข้ามีส่วนร่วมทำมะม่วงดองทุกขั้นตอน ส่วนการศึกษา ชี้แนะให้เลือกเรียนสาขาที่เหมาะแก่ลูกจะสามารถช่วยต่อยอดธุรกิจครอบครัวได้ โดยลูกชายจบด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนลูกสาวเรียนจบด้านบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

“ผมเชื่อว่าลูกเหนือกว่าผมทุกด้าน ทั้งเรื่องความรู้ ภาษา เทคโนโลยี และสิ่งสำคัญผมจะไม่เคยบ่นเรื่องความเหนื่อย ความลำบากในอาชีพนี้ให้ลูกๆ ฟังเลย เพราะผมย้อนกลับมาดูตัวเอง ตอนเล็กๆ เห็นพ่อกับแม่ลำบากมาก ช่วงแรกผมก็ไม่อยากทำอาชีพนี้ เลยหนีไปเป็นครู พอเรามีลูกเอง ผมเลยรู้ว่าเราไม่ควรบ่นให้ลูกฟัง เพราะเขาจะกลัวไม่อยากลำบากเหมือนพ่อ ดังนั้นผมจะบอกแต่สิ่งดีๆ ในอาชีพนี้ให้เขาซึมซับ รักและภูมิใจในอาชีพของครอบครัว” ชัยรัตน์กล่าว และเสริมว่า
“ผมเชื่อว่า ลูกเหนือกว่าผมทุกด้าน ทั้งเรื่องความรู้ ภาษา เทคโนโลยี และสิ่งสำคัญ ผมจะไม่เคยบ่นเรื่องความเหนื่อย ความลำบากในอาชีพนี้ให้ลูกๆ ฟังเลย ชัยรัตน์ กล่าว
ส่วนการทำงานจริง ทุกวันนี้จะวางมือทีละด้าน ค่อยๆ เปิดโอกาสให้ลูกมาสานต่อ และคอยเป็นที่ปรึกษา ปรับบทบาทจากผู้สั่งเป็นคนฟัง แม้บางครั้งจะรู้ว่าแนวคิดของคนรุ่นใหม่โอกาสผิดพลาดสูง แต่ยอมปล่อยผ่านเพื่อให้บทเรียนเป็นครูสอนวิชาแก่ลูกๆ

“ผมอยู่กับอาชีพนี้มาตลอดชีวิต หลายเรื่องที่ลูกมาเสนอทำ ผมเคยทำมาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง มองทะลุทุกด้าน แต่เราก็จะไม่ห้ามจนเกินไปเพื่อไม่ให้เขาเสียกำลังใจ แม้บางครั้งรู้ว่าทำแล้วเจ็บก็ต้องยอมให้เจ็บ เพื่อเขาจะได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ประสบการณ์จะสอนให้เขาแข็งแกร่งขึ้น” ชัยรัตน์กล่าว

ขณะที่ “ชัยพร โสธรนพบุตร” วัย 31 ปี ทายาทธุรกิจรุ่น 3 บอกว่า ไม่ได้รู้สึกว่าถูกยัดเยียดให้ต้องมารับภาระดูแลธุรกิจครอบครัว ตรงกันข้ามกลับรู้สึกผูกพันกับแบรนด์ “วรพร” ตั้งแต่จำความได้ ในวัยเด็กจะติดรถไปช่วยพ่อส่งสินค้า และหลังเรียนจบไปทำงานประจำบริษัทอื่นอยู่สักพักเพื่อหาประสบการณ์ ก่อนกลับมาช่วยดูแลธุรกิจทางบ้าน

“คุณพ่อเป็นนักพัฒนาอยู่เสมอ และเติมความรู้ให้ตัวเองตลอดเวลา จนมีคนแซว ชัยรัตน์พัฒนาไม่หยุดยั้ง นี่คือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ และเก็บมาใช้พัฒนาตัวเองเสมอ” ชัยพร บอก และเสริมว่า

ส่วนวิธีการแก้ปัญหาในการทำงาน เขาจะมุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้จบเร็วที่สุด ส่วนพ่อจะใช้วิธีจัดการปัญหาแบบครบวงจรให้เบ็ดเสร็จในระยะยาว ทั้งสองวิธีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ดังนั้น อาศัยพูดคุย ปรึกษา และแบ่งหน้าที่ชัดเจน เพื่อหาวิธีที่เชื่อว่าเกิดผลดีที่สุดแก่ธุรกิจ
“แนวคิดของผม อยากให้มะม่วงดองเสิร์ฟความต้องการด้านอารมณ์มากยิ่งขึ้น ในราคาที่เหมาะสม  โดยเป็นของกินเล่นที่ชิ้นเล็กลง  สวยขึ้น และซื้อกินทันทีไม่ต้องเก็บ ชัยพร กล่าว
แบรนด์ “วรพร” ในมือของรุ่น 3 สิ่งที่พัฒนาไปอย่างชัดเจนที่สุด คือ ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น มะม่วงกวนอบแห้งในบรรจุภัณฑ์สวยงาม เพื่อหวังขยายตลาดไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ พลิกภาพของมะม่วงดองจากเมนูโบราณสู่ขนมกินเล่นของคนทุกเพศวัย

“แนวคิดของผมอยากให้มะม่วงดองเสิร์ฟความต้องการด้านอารมณ์มากยิ่งขึ้น ในราคาที่เหมาะสม โดยเป็นของกินเล่นที่ชิ้นเล็กลง สวยขึ้น และซื้อกินทันทีไม่ต้องเก็บ นอกจากนั้น ผมกำลังจะรีแบรนด์ “วรพร” ให้มีภาพที่คนจดจำได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น จากเดิมโลโก้ของเราจะเป็นหมีอยู่ในกรอบ แต่ต่อไปหมีตัวนี้จะก้าวเดินออกมา เพิ่มความสนุกและใกล้ชิดผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น พร้อมมีภาษาอังกฤษกำกับ สะท้อนถึงความสากลเต็มรูปแบบ” เขาทิ้งท้าย



* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น