xs
xsm
sm
md
lg

สั่งเข้าเกียร์เดินเครื่องหนุนเอสเอ็มอีครบวงจร ชี้สัญญาณเริ่มฟื้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ครั้งที่ 2/2558
บอร์ดเอสเอ็มอีมอบนโยบายหนุนเอสเอ็มอีทุกด้าน จี้เร่งพัฒนาฐานข้อมูล เปิดลงทะเบียนเอสเอ็มอีทั่วประเทศผ่านศูนย์ดำรงธรรม ศาลากลางจังหวัด และออนไลน์ พร้อมผุดศูนย์บริการเอสเอ็มอีครอบคลุมเขตเศรษฐกิจ ระบุสถานการณ์ประจำ Q1/2558 สัดส่วน GDP SME มูลค่า 1.39 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41 ของ GDP ประเทศ ขยายตัวร้อยละ 5.5 คาดสิ้นปีนี้ขยายตัวถึงร้อยละ 3.0-4.4 ด้านนายกฯ วอนธนาคารพาณิชย์ช่วยพยุงเอสเอ็มอี
ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ (คนกลาง) รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ครั้งที่ 2/2558 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมเอสเอ็มอีเป็นอย่างมาก และมอบนโยบายให้ทุกส่วนร่วมกันกำหนดเป้าหมายการสนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีใน 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่เข้มเข็งและพร้อมส่งออกไปต่างประเทศ กลุ่มที่สามารถขยายกิจการในประเทศ กลุ่มที่มีศักยภาพแต่ประสบปัญหา และกลุ่มที่เลิกกิจการแต่ยังมีศักยภาพ โดยให้ทุกหน่วยงานร่วมกันหาวิธีการส่งเสริม สนับสนุน ดูแลและฟื้นฟูกิจการเอสเอ็มอีให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเข้มแข็ง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และบริการต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน

“เรื่องที่ท่านนายกฯ ให้ความสำคัญและมอบหมายให้ สสว.ดำเนินการตั้งแต่แรก คือ การเริ่มต้นวางรากฐานที่มั่นคงโดยการจัดทำฐานข้อมูลเอสเอ็มอี ซึ่ง ณ ปัจจุบันฐานข้อมูลดังกล่าวมีทิศทางที่ชัดเจน โดย สสว.ดำเนินการรวบรวมจาก 4 หน่วยงาน คือ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ประมวลผลและวิเคราะห์แบ่งกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ดังนี้”

“เอสเอ็มอีทั่วประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 2,668,293 ราย แบ่งเป็นเอสเอ็มอีที่จดทะเบียนนิติบุคคลจำนวน 589,026 ราย ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวน 6,156,404 ราย ในส่วนนี้สามารถเข้าสู่ระบบสินเชื่อร้อยละ 82 และเอสเอ็มอีประเภทบุคคลธรรมดาจำนวน 2,079,267 ราย ก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวน 4,372,713 ราย ในส่วนนี้สามารถเข้าสู่ระบบสินเชื่อร้อยละ 18 เป็นต้น ซึ่งฐานข้อมูลดังกล่าวนี้จะนำไปใช้กำหนดนโยบายการส่งเสริมเอสเอ็มอีได้สอดคล้องกับความต้องการและเป็นไปตามวงจรธุรกิจต่อไป” ดร.วิมลกานต์กล่าว

ทั้งนี้ เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถเข้ามาอยู่ในระบบการจดทะเบียนทุกรายในอนาคต โดยในส่วนของกลุ่มที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จะส่งเสริมให้เข้าระบบอย่างสมบูรณ์มากขึ้นและเข้าสู่ระบบภาษีที่ถูกต้องต่อไป กลุ่มนี้จะเข้าเป็นสมาชิกของ สสว.โดยอัตโนมัติ ซึ่งจะได้รับข้อมูลองค์ความรู้ต่างๆ ในการพัฒนาศักยภาพอย่างเป็นระบบ ส่วนกลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นบุคคลธรรมดาจะส่งเสริมให้ทยอยเข้าสู่ระบบ โดยจะมีมาตรการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ผ่านการดำเนินโครงการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ เพื่อให้ฐานข้อมูลเอสเอ็มอีสามารถสะท้อนวงจรธุรกิจและความต้องการของเอสเอ็มอีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้โครงการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถดำเนินการได้ทั่วประเทศในหลายช่องทาง ทั้งศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ซึ่งตั้งอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดทั่วประเทศ ผ่านทางเว็บไซต์ www.sme.go.th และที่ สสว. Call center 1301

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบการดำเนินโครงการศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร (SME One-Stop Service Center : OSS) ในพื้นที่รวม 7 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ณ ที่ทำการ สสว. อาคาร TST ถนนวิภาวดีรังสิต และในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 6 แห่ง โดยที่แม่สอด จ.ตาก และ จ.สระแก้ว จะดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ส่วนที่ จ.สงขลา จ.มุกดาหาร จ.ตราด และ จ.หนองคาย อยู่ระหว่างการพิจารณาพื้นที่และประสานความร่วมมือกับศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย

“ศูนย์ OSS จะทำหน้าที่เป็นช่องทางในการติดต่อ เชื่อมโยง ส่งต่องานบริการ ภาครัฐและภาคเอกชนให้แก่ผู้ประกอบการ ครอบคลุมทั้งการให้ข้อมูลความรู้ คำปรึกษาแนะนำในการดำเนินธุรกิจ การอบรม/สัมมนา รวมถึงการขึ้นทะเบียนเอสเอ็มอี และเป็นช่องทางในการรับและดำเนินการด้านเอกสารของผู้ประกอบการกับหน่วยงานภาครัฐ” ดร.วิมลกานต์เผย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ สสว.ดำเนินบทบาทเพิ่มเติม ได้แก่
1) ให้ทำหน้าที่ในการคัดกรองเอสเอ็มอีที่มีประสิทธิภาพ เพื่อส่งต่อเข้าสู่ความช่วยเหลือของภาครัฐและสถาบันการเงิน ส่วนเอสเอ็มอีที่มีประสิทธิภาพน้อยหรือยังไม่มีประสิทธิภาพจะส่งเสริมให้เข้าสู่กระบวนการพัฒนาศักยภาพ
2) ให้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์เอสเอ็มอีในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางผู้ประกอบการในการพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยน รวมทั้งสร้างโอกาสทางการค้า ซึ่งจะนำร่องในพื้นที่ที่จัดตั้งศูนย์ OSS
3) ให้มีการรวบรวมและจัดทำ Road Map การส่งเสริมเอสเอ็มอีที่ประเทศไทยมีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ของต่างประเทศ เพื่อเชื่อมโยงเอสเอ็มอีไทยเข้าสู่สากล
และ 4) มอบหมายให้นำแนวคิด Social Business (ธุรกิจเพื่อสังคม) ซึ่งเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาความยากจนและปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสังคม เช่น การศึกษา สาธารณสุข ความเหลื่อมล้ำและสิ่งแวดล้อม ไปใช้ในการดำเนินโครงการส่งเสริมเอสเอ็มอีที่จะจัดทำขึ้นต่อไป

นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์สถานการณ์เอสเอ็มอีของ สสว.ในไตรมาสที่ 1/2558 พบว่า ตัวเลข GDP ของ SME มีมูลค่า 1.39 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41 ของ GDP รวมของประเทศ ขยายตัวร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2557 ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของภาคก่อสร้างที่ขยายตัวถึงร้อยละ 25.4 สอดคล้องกับตัวเลขในภาคบริการที่ครองแชมป์อัตราการเติบโตสูงสุดคือร้อยละ 6.5 รองลงมาคือภาคการค้า และภาคการผลิต ขณะที่ตลาดส่งออกที่สำคัญคือสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการขยายตัวถึงร้อยละ 8.6 โดยมีสินค้าส่งออกหลักคืออัญมณีและเครื่องประดับ มีมูลค่าถึง 89,695 ล้านบาท

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าปี 2558 GDP SMEs จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.0-4.4 เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการฟื้นตัวของการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนภาคเอกชน การลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงการเร่งรัดการใช้จ่ายของภาครัฐ ฯลฯ

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานบอร์ดส่งเสริมเอสเอ็มอี ว่า ได้ขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ให้ช่วยดูแลธุรกิจเพื่อสังคม และดูแลธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ด้วย โดยรัฐบาลจะมีมาตรการมาสนับสนุนให้ อย่างไรก็ตาม ทางธนาคารพาณิชย์จะพิจารณาเรื่องที่ไม่ให้เกิดหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล หากธุรกิจใดไม่เข้มแข็งพอจะปล่อยสินเชื่อให้ไม่ได้

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น