xs
xsm
sm
md
lg

สสว.ผนึกพลัง 9 หน่วยงานหนุน SMES ทั่ว ปท.สร้างเครือข่ายเสริมแกร่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.วิมลกานต์  โกสุมาศ (ซ้าย) รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สสว. แถลงข่าวความร่วมมือกับ 9 หน่วยงานในการพัฒนาเครือข่ายเอสเอ็มอี
สสว.จับมือ 9 หน่วยงานส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจับกลุ่มเป็นคลัสเตอร์เสริมความเข้มแข็งทางธุรกิจระหว่างกัน ระบุทุ่มงบ 309 ล้านบาทให้หน่วยงานร่วม ดำเนินการใน 18 จังหวัด แบ่งออกเป็น 54 เครือข่าย ในภาคผลิต การค้า การบริการ และเกษตร เชื่อมีผู้ประกอบการที่เข้าสู่กระบวนการไม่ต่ำกว่า 10,000 ราย และช่วยลดต้นทุนให้เอสเอ็มอีไม่น้อยกว่า 150 ล้านบาท

ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว.ร่วมมือกับ 9 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กรมหม่อนไหม กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการสนับสนุนเครือข่ายเอสเอ็มอีใน 18 กลุ่มจังหวัด

ทั้งนี้ การสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเกิดการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจ หรือคลัสเตอร์ (Cluster) นับเป็นแนวทางที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน เช่น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพัฒนากิจกรรมระหว่างเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมและผู้เกี่ยวข้องทั้งในและนอกพื้นที่ ซึ่งจะสามารถต่อยอดเป็นสังคมหรือเครือข่ายที่มีพลังอำนาจในการต่อรอง และผลักดันให้ภาคธุรกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับโครงการสนับสนุนเครือข่ายเอสเอ็มอีใน 18 กลุ่มจังหวัด ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ในการประชุม ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 วงเงินงบประมาณ 309 ล้านบาท โดยคัดเลือกกลุ่มเครือข่ายเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพทั่วประเทศ ทั้งในภาคการเกษตรแปรรูป ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้า และภาคบริการ รวมจำนวน 54 เครือข่าย เข้าสู่กระบวนการพัฒนา โดยหน่วยร่วมดำเนินการแต่ละแห่งจะทำหน้าที่เป็นเสมือนพี่เลี้ยงดูแลกลุ่มคลัสเตอร์ในแต่ละพื้นที่ตามความเชี่ยวชาญ ประกอบด้วย

สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย 18 เครือข่าย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 17 เครือข่าย กรมส่งเสริมการเกษตร 6 เครือข่าย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 7 เครือข่าย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย 2 เครือข่าย กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมหม่อนไหม และกรมการข้าว หน่วยงานละ 1 เครือข่าย ตัวอย่างเช่น กรมหม่อนไหม จะดูแลกลุ่มอุตสาหกรรมไหมไทย ในพื้นที่กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนล่าง 1 เพื่อพัฒนาศักยภาพและเครือข่ายกลุ่มผู้ผลิตไหมไทยแบบครบวงจร เป็นต้น

ทั้งนี้ แนวทางในการพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์ แบ่งเป็น 2 กิจกรรมหลัก คือ 1. การพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็ง และ 2. กิจกรรมพัฒนาศักยภาพเชิงธุรกิจของเครือข่าย โดยการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และงานวิจัยมาประยุกต์เพื่อใช้เพิ่มมูลค่า

ดร.วิมลกานต์กล่าวด้วยว่า การสร้างเครือข่ายคลัสเตอร์จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจที่จะผลักดันให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด นำไปสู่การสร้างความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างจุดเด่น และแก้ไขจุดอ่อนของตนเองให้เข้มแข็งมากขึ้น

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าการดำเนินโครงการสนับสนุนเครือข่ายเอสเอ็มอีใน 18 กลุ่มจังหวัดนี้ จะช่วยพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเอสเอ็มอีเพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ และก่อให้เกิดการเชื่อมโยงธุรกิจของผู้ประกอบการในลักษณะเครือข่าย เพื่อสนับสนุนและต่อยอดการดำเนินธุรกิจร่วมกัน โดยเชื่อว่าผู้ประกอบการในเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันไม่น้อยกว่า 10,000 ราย มีโอกาสทางการตลาดรวมถึงมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 1,000 ราย และสามารถลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจไม่น้อยกว่า 150 ล้านบาท

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น