xs
xsm
sm
md
lg

“บ้านรักกะลา” เกาะช้าง สีดำขลับ เอกลักษณ์หนึ่งเดียวธรรมชาติสรรค์สร้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ที่รองสบู่ ของฝากประจำเกาะช้าง
ความมันวาว และสีดำขลับของกะลามะพร้าวบนเกาะช้าง ถือเป็นความโดดเด่นเฉพาะตัวที่ชาวบ้านเห็นคุณค่า จึงถูกนำมาแปรรูปเป็นข้าวของเครื่องใช้ ของตกแต่งบ้าน สร้างรายได้ชุมชน กลายเป็นเสน่ห์แห่งของฝากที่ใครมาเยือนเกาะช้างต้องห้ามพลาดกับ “บ้านรักกะลา”
น้ำค้าง กุศลจิต ประธานกลุ่มอาชีพบ้านรักกะลา อ.เกาะช้าง จ.ตราด
ความพยายามของ “น้ำค้าง กุศลจิต” ที่วันนี้ขึ้นแท่นตำแหน่งประธานกลุ่มอาชีพบ้านรักกะลา อ.เกาะช้าง จ.ตราด กลายเป็นความภูมิใจของชาวบ้านจากการสร้างรายได้มานานกว่า 10 ปี กับการแปรรูปกะลามะพร้าวที่หลายคนเคยมองเป็นเพียง 'ขยะ' ไร้ค่า
โคมไฟแบบแหวน ลายดาวกระจาย
แต่กว่าจะก่อเกิดเป็นบ้านรักกะลา คุณน้ำค้างฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะการเปลี่ยนทัศนคติของชาวบ้าน จากการทำงานที่ต้องได้เงินทันที เป็นการ 'รอ' เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ซึ่งเธอย้อนที่มาให้ฟังว่า เดิมเป็นเจ้าของร้านตัดเสื้อผ้า แต่เมื่อกระแสเสื้อผ้าสำเร็จรูปเข้ามาช่วงชิงตลาดทำให้ต้องเลิกกิจการไป หันมาทำงานด้านกะลามะพร้าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ชื่นชอบมาตั้งแต่เด็ก พร้อมฝันอยากมีร้านขายของเล็กๆ เป็นของตัวเอง

กระทั่งมีคนมาสอนการแปรรูปกะลามะพร้าวเป็นของตั้งโชว์ ก็คิดว่าทำไมต้องเป็นตั้งโชว์เพียงอย่างเดียว น่าจะมีฟังก์ชันการใช้งานด้วย เธอจึงพยายามออกแบบเอง เพื่อให้คนในชุมชนเห็นและทำตามหวังสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง

เธอใช้เวลาประมาณ 3 ปีกับการอดทนพยายามทำให้ชาวบ้านเห็นว่าผลิตภัณฑ์จากกะลาสามารถทำเป็นอาชีพและรายได้เสริมได้ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นความได้เปรียบของกะลาบนเกาะช้างที่มีความแตกต่างจากกะลาทั่วไปกับสีดำขลับ และมีความมันวาวอยู่ในตัว รวมถึงบริเวณหมู่บ้านสลักเพชรเหนือนั้นมีสวนมะพร้าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในเรื่องวัตถุดิบลงไปได้

ปัจจุบันกะลามะพร้าวของบ้านสลักเพชรเหนือถูกนำมาทำเป็นโคมไฟแบบตั้งและแขวน พวงกุญแจ จานรองสบู่ โมบายแขวน กรอบรูป เครื่องประดับ โดยการออกแบบต่างๆ โดยเฉพาะโคมไฟจะดัดแปลงมาจากของจริง และดัดแปลงเป็นโคมไฟกะลา ขณะที่สินค้าชิ้นเล็กจะขายดี เช่น พวงกุญแจ ที่ห้อยโทรศัพท์มือถือ ราคาเริ่มต้นตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักพันบาท ซึ่งชาวบ้านที่เข้ามาเป็นสมาชิกจะมีรายได้เป็นค่าแรง และเงินปันผล
โมบายแขวน
“ที่ตั้งของกลุ่มฯ อยู่ที่ 67/5 ม.5 ต.เกาะช้างใต้ อ.เกาะช้าง จ.ตราด ปัจจุบันนอกจากเป็นร้านจำหน่ายของฝากและของที่ระลึกของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศบนเกาะช้างแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่นักศึกษา กศน. (การศึกษานอกโรงเรียน) อีกด้วย โดยสอนแบบไม่หวงวิชา หวังให้ผู้เรียนนำไปใช้ประโยชน์เพิ่มรายได้จริง แต่หากจะให้ประสบความสำเร็จได้นั้นผู้เรียนต้องมีใจรักด้วย เพราะกว่าจะได้หนึ่งชิ้นงานต้องผ่านหลายขั้นตอน”
กระปุกหมู
นำมาทำเป็นเรือสำเภาก็เก๋ไม่น้อย
โคมไฟตั้งโต๊ะ
สำหรับเคล็ดลับการแปรรูปกะลามะพร้าวเป็นผลิตภัณฑ์ จะต้องเป็นกะลาที่เก่าที่ถูกทิ้งไว้ประมาณ 1-2 เดือน เป็นอย่างน้อย เพราะกะลาใหม่ยังมีความเปียกชื้น และเนื้อมะพร้าวยังไม่แห้ง ไม่เหมาะนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งกะลาจะได้มาจากชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง และรับซื้อในเกาะช้างเท่านั้น ขณะเดียวกันต้องซื้อมะพร้าวในช่วงหน้าฝนเพราะลูกใหญ่นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น จากนั้นนำมาแกะเปลือกออก ขัด ตัด ฉลุ ตามรูปแบบที่ต้องการ และนำมาขัดเงาอีกครั้ง เจาะรูสำหรับทำโคมไฟ หรืออื่นๆ


ปัจจุบันกลุ่มชุมชนวิสาหกิจบ้านรักกะลา กลายเป็นแหล่งของฝากสำหรับนักท่องเที่ยว และจำหน่ายสินค้าโอทอปเกาะช้าง มีทัวร์พานักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติมาเที่ยวชมอยู่บ่อยครั้ง และซื้อสินค้ากลับไปเป็นของฝากจำนวนมาก รวมถึงการจัดส่งทางไปรษณีย์
แหวนจากกะลามะพร้าว
ที่รองสบู่ฉลุเป็นรูปช้าง
พวงกุญแจสำหรับห้อยมือถือ
สร้อยจากกะลามะพร้าว
ถือเป็น 10 ปีแห่งความภาคภูมิใจของคุณน้ำค้างที่สามารถเดินตามความฝันของตัวเองได้สำเร็จแถมยังสร้างอาชีพและรายได้ให้คนในชุมชน สามารถยืนหยัดได้ด้วยกะลามะพร้าว ที่เธอพูดได้อย่างเต็มภาคภูมิว่านี่คือของดีประจำเกาะช้างอีกหนึ่งสิ่งที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด

โคมไฟติดเพดาน

ใยแมงมุมเชือก พร้อมแมงมุมทำจากกะลามะพร้าว ลูกค้าต่างชาติชื่นชอบ
ขั้นตอนการผลิต
***สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทรศัพท์ คุณน้ำค้าง กุศลจิต ประธานกลุ่มชุมชนวิสาหกิจบ้านรักกะลา 09-6807-2731, 09-8489-0906***

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น