xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ Q1 สถานการณ์ SMEs ยังน่าห่วง ระบุแนวโน้มเริ่มฟื้นช้าๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ธนวรรธน์ พลวิชัย
ศูนย์พยากรณ์ฯ ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีเอสเอ็มอี ประจำ Q1/58 ระบุสุขภาพธุรกิจโดยรวมยังไม่ดีนัก แต่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวอย่างช้าๆ แนะใช้ธนาคารรัฐเป็นกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการปล่อยกู้ดอกต่ำ ขณะที่ความสามารถทางการแข่งขันของเอสเอ็มอีอยู่ในระดับลดลง คาดจีดีพีเอสเอ็มอีปีนี้โตแค่ 2.8%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลง “ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอี” ประจำไตรมาสที่ 1/2558 ว่า โดยภาพรวมแล้วเอสเอ็มอีไทยยังคงมีปัญหาสุขภาพธุรกิจไม่ดีนัก อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ เอสเอ็มอีเริ่มรับรู้ได้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป และเริ่มเด่นขึ้น จากการรับรู้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ทั้งปี 2558 คาดจะโตที่ 3.2% และมีโอกาสโตถึง 4% ได้หากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวตามคาดการณ์ และการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐเดินหน้าเต็มที่

ทั้งนี้ รัฐบาลควรใช้ธนาคารของรัฐเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการนำร่องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ซึ่งจะช่วยให้นโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ต้องการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำช่วยฟื้นเศรษฐกิจทำได้เร็ว และเอสเอ็มอีเกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น โดยหากทุกธนาคารปรับลดดอกเบี้ยลงก็จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยโตเพิ่มขึ้นได้อีก 0.2-0.3%

ด้านนายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ แถลงดัชนีความสามารถในการแข่งขันธุรกิจของเอสเอ็มอีไตรมาสแรกว่า ดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 50 ลดลงไตรมาสก่อน 0.5 และคาดว่าไตรมาสถัดไปจะดีขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 50.7 โดยเอสเอ็มอีในพื้นที่กรุงเทพฯ มีแนวโน้มความสามารถการแข่งขันดีกว่าภาคอื่นๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจบริการดีกว่าภาคอื่น ส่วนภาคการผลิตมีแนวโน้มแย่ลงทั้งด้านสุขภาพ ความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนความยั่งยืนในการทำธุรกิจ ส่วนเอสเอ็มอีในภาคอื่นๆ ยังคงได้รับผลกระทบจากราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ เช่น ภาคใต้จากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เป็นต้น

ทว่า โดยภาพรวมแล้วจะพบว่าเอสเอ็มอีเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจบ้างแล้ว และสัญญาณชัดเจนไตรมาสที่ 4 แต่สถานการณ์โดยภาพรวมพบว่าเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ 68% ระบุว่าธุรกิจได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา ขณะที่ 32% ระบุว่าไม่ได้รับผลกระทบ และเอสเอ็มอี 25.7% คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 2 ปีนี้ ขณะที่ 23.1% คาดว่าธุรกิจจะฟื้นในช่วงครึ่งปีแรกปี 2559

ด้านยอดขาย/รายได้มีแนวโน้มต่ำลง และคิดว่ายอดขายตลอดทั้งปี 2558 ส่วนใหญ่ 53.8% คาดว่าจะเติบโตประมาณ 0-5% และมีค่าเฉลี่ยที่ 3.2% ขณะที่ปัญหาขาดสภาพคล่องมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมาเอสเอ็มอีส่วนใหญ่มากถึง 79.7% ระบุว่าไม่เคยขาดส่งเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่เจ้าหนี้ ส่วนที่ตอบว่าเคยมีสัดส่วน 20.3% ด้านภาระหนี้สินส่วนใหญ่ 47.8% ระบุว่าคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง

สำหรับคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจของเอสเอ็มอีในปี 2558 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโต 3.2% ส่วนจีดีพีของเอสเอ็มอีคาดว่าจะโต 2.8% หรือมูลค่ารวม 4.5 ล้านล้านบาท จากที่จีดีพีของเศรษฐกิจไทยมีขนาดรวม 13 ล้านล้านบาท

ด้านปัจจัยบวกเศรษฐกิจของเอสเอ็มอีในปี 2558 คือ ผลดีจากการที่รัฐบาลประกาศให้เอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศมีเสถียรภาพ นโยบายดอกเบี้ยระดับต่ำใกล้เคียง 1.50% การค้าชายแดนและการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปลายปีนี้

ส่วนปัจจัยลบ ต้นทุนการผลิตอื่นๆ ยกเว้นเรื่องพลังงาน ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น ความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ภาวะหนี้ครัวเรือนสูง ค่าครองชีพมีแนวโน้มปรับตัวสูงต่อเนื่อง และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่ากว่าประเทศอื่นๆ

สำหรับ 5 ธุรกิจ ดาวเด่น/ดาวร่วง ในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 มีดังนี้ ดาวเด่น ได้แก่ ธุรกิจบริการความงามและสุขภาพ ธุรกิจร้านอาหาร/เครื่องดื่ม, ธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ/อาหารเสริม, ธุรกิจด้านการศึกษา/โรงเรียนกวดวิชา และธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนดาวร่วง ได้แก่ ธุรกิจสินค้าทางการเกษตร, ธุรกิจวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลทางการเกษตร, ธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง, ธุรกิจปั๊ม LPG และธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์/จักรยานยนต์

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น