xs
xsm
sm
md
lg

“เอสเอ็มอีแบงก์” แก้มปริ Q1 ฟันกำไร 359 ล้าน เปิดโต๊ะเจรจา ส.ธนาคารไทย วอนชะลอฟ้องลูกหนี้ติดบัญชีดำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ และ นายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์  ร่วมกันแถลงข่าว ผลการดำเนินงานไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ปี 2558 ของเอสเอ็มอีแบงก์
“เอสเอ็มอีแบงก์” แถลงผลการดำเนินงานไตรมาสแรกทะลุเป้า ฟันกำไร 359 ล้านบาท ลดหนี้เน่าเหลือ 28,623 ล้านบาท ส่วนยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ 8,379 ล้านบาท เชื่อถึงสิ้นปีได้ 80,000 ล้านบาทตามเป้า แจงหารือสมาคมธนาคารไทยชะลอฟ้องร้องลูกหนี้ติดเครดิตบูโร อุ้มเข้าถึงสินเชื่อพิเศษ วงเงิน 15,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 4%

นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ แถลงข่าวผลการดำเนินงานของเอสเอ็มอีแบงก์ ประจำไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค. 2558) มีกำไรสุทธิ 359 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 300 ล้านบาท เป็นผลจากกำไรสุทธิของธนาคารเดือนมีนาคม จำนวน 115 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายของธนาคารที่ตั้งไว้

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เดือนมีนาคมลดลง 2,277 ล้านบาท ทั้งนี้ เป็นผลมาจากธนาคารได้มีการขายทรัพย์กองกรุงเทพฯ และปริมณฑล และสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องจักร รวมเป็นเงินประมาณ 1,300 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ธนาคารมีการประนอมหนี้กับลูกค้าได้ส่วนหนึ่ง ทำให้ ณ สิ้นไตรมาสแรก ปี 2558 ยอด NPLs ของธนาคารลดเหลือ 28,623 ล้านบาท (คิดเป็น 33.63% ของยอดเงินให้สินเชื่อรวม) ซึ่งดีกว่าเป้า NPLs ตามแผนฟื้นฟูฯ ที่กำหนดไว้ 29,881 ล้านบาท

ด้านสินเชื่อ เดือนมีนาคม 2558 สามารถเบิกจ่ายทำสถิติได้สูงมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า โดยสามารถทำได้สูงถึง 3,907 ล้านบาท ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการปรับปรุงระบบงานเริ่มปฏิบัติได้จริง และมีแนวโน้มทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ยอดเบิกจ่ายรวม ณ ไตรมาสแรกปี 2558 เท่ากับ 8,379 ล้านบาท ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยคิดเป็นจำนวนลูกค้าใหม่ประมาณ 4,012 ราย และทั้งหมดเป็นสินเชื่อรายย่อยวงเงินต่ำกว่า 15 ล้านบาท มียอดสินเชื่อคงค้าง 85,101 ล้านบาท และธนาคารมั่นใจว่าจะสามารถปล่อยเงินกู้ใหม่ได้ถึงเป้า 40,000 ล้านบาท ที่ตั้งไว้ปี 2558

ด้านธรรมาภิบาล ธนาคารมีเรื่องสอบสวนทั้งสิ้น 19 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 10 เรื่อง โดยในเดือนมีนาคมได้มีข้อยุติ 1 เรื่อง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำผิดวินัยร้ายแรงของพนักงานในระดับผู้อำนวยการ 1 คน และผู้จัดการส่วน 1 คน ทำให้ธนาคารต้องจ่ายเงินมากเกินสมควร ซึ่งคณะกรรมการวินัยพิจารณาโทษต่อไป อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ธนาคารยังคงเน้นเรื่องธรรมาภิบาล โดยมีการสอบสวนเพิ่มอีก 4 เรื่อง ทำให้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 รวมเรื่องที่สอบสวน 23 เรื่อง นอกจากนั้น ธนาคารชนะคดีที่ฟ้องร้องกับบุคคลภายนอกกรณีพิพาทเรื่อง Core Banking ซึ่งธนาคารจะได้เงินคืนจากคู่กรณีเป็นจำนวนเงิน 46 ล้านบาท และชนะคดีแรงงานที่พบการทุจริตของพนักงาน 1 คดี ซึ่งศาลสั่งให้มีการชำระเงินให้ธนาคาร 19 ล้านบาท

ด้านนายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์ เผยถึงส่วนความคืบหน้าในเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Loan Policy) ซึ่งเป็นโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ มีวงเงินรวม 15,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 7% โดยกระทรวงการคลังจะแบ่งรับภาระดอกเบี้ยให้ 3% ส่วนผู้กู้จ่ายเอง 4% แบ่งกลุ่มเอสเอ็มอีเป้าหมายที่จะได้รับสิทธิ์เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และการเมือง สัดส่วน 65% 2. เอสเอ็มอีที่มีนวัตกรรม 15% 3. เอสเอ็มอีขยายตลาดไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และ 4. เอสเอ็มอีกลุ่มเริ่มต้นธุรกิจใหม่ โดย 2 กลุ่มหลังสัดส่วนเฉลี่ยกลุ่มละ 10%

ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมากแล้ว โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการเตรียมนำเสนอเข้า ครม. และสำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยที่มีประวัติค้างชำระและติดเครดิตบูโรนั้น เอสเอ็มอีแบงก์ได้เป็นตัวกลางเจรจากับทางสมาคมธนาคารไทยขอให้ช่วยชะลอการฟ้องร้องกับลูกหนี้กลุ่มเหล่านี้ เพื่อให้โอกาสแก่ลูกหนี้สามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ โดยเอสเอ็มอีแบงก์พร้อมสนับสนุนสินเชื่อให้ลูกหนี้กลุ่มเหล่านี้มีทุนต่อเพิ่มเพื่อทำธุรกิจ และมีเงินทุนหมุนเวียน และเมื่อกิจการเดินหน้าต่อไปได้ก็จะสามารถมีเงินกลับมาปรับโครงสร้างหนี้ และชำระเงินคืนเจ้าหนี้เดิมต่อไป

ทั้งนี้ การผ่อนปรนเอสเอ็มอีติดเครดิตบูโรใช้สิทธิ์สินเชื่อนี้ได้นั้น เขาระบุว่า กำหนดชัดเจนจะให้สิทธิ์ “เฉพาะรายติดเครดิตบูโร โดยไม่เจตนา หรือเกิดจากเหตุสุดวิสัยจริงๆ” เช่น เคยไปค้ำประกันเงินกู้ให้แก่ผู้อื่นนานมาแล้วจนตัวเองหลงลืม แต่ยังมีข้อมูลค้างอยู่ในเครดิตบูโร หรือมีปัญหาทางธุรกิจในอดีต แต่ยังตั้งใจทำมาหากินเสมอมา และปัจจุบันธุรกิจกลับมาดีแล้ว

สำหรับการพิจารณาอนุมัตินั้น จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ปกติของธนาคาร โดยดูจากทั้งผลประกอบการในปัจจุบัน และย้อนหลังอย่างน้อย 1 ปี ประกอบกับตรวจประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมา และแนวโน้มกิจการ ส่วนการป้องกันไม่ให้กลุ่มติดแบล็กลิสต์อ้างมาใช้สิทธิ์จะดูจากบริบทต่างๆ ประกอบด้วย อีกทั้งส่งเจ้าหน้าที่ลงภาคสนามดูพฤติกรรมจริงของผู้ต้องการกู้ และขอข้อมูลจากองค์กรส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีความใกล้ชิดมาประกอบการพิจารณา

ส่วนการเจรจากับทางสมาคมธนาคารไทย ขอให้ช่วยชะลอการฟ้องร้องกับลูกหนี้กลุ่มเหล่านี้ เนื่องจากมีเจ้าหนี้หลากหลายสถาบันการเงิน อีกทั้งเกิดติดเครดิตบูโรจากหลายสาเหตุ ดังนั้น การเข้าไปเจรจากับเจ้าหนี้แต่ละรายต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป ตามความเหมาะสม

ด้านนางสาลินีให้ข้อมูลเสริมว่า เอสเอ็มอีแบงก์ได้เริ่มหารือกับสมาคมธนาคารไทยไปแล้ว ในประเด็นที่จะเข้าไปช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับลูกค้าที่ค้างชำระหนี้กับธนาคารพาณิชย์แห่งนั้นๆ เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันระหว่างธนาคารพาณิชย์ที่เป็นเจ้าหนี้กับเอสเอ็มอีแบงก์ในฐานะผู้ที่ให้สินเชื่อเสริมสภาพคล่อง เช่น การให้ธนาคารพาณิชย์ยอมประนอมหนี้ หรือให้หยุดการชำระคืนเงินต้น แต่ชำระคืนเฉพาะดอกเบี้ย เพื่อให้ลูกหนี้เหล่านั้นเมื่อได้สภาพคล่องใหม่จากเอสเอ็มอีแบงก์สามารถฟื้นตัวได้ อย่างไรก็ตามธนาคารพาณิชย์เจ้าหนี้ยังกังวลเรื่องการขาดอายุความ หากไม่มีการฟ้องร้องต่อลูกหนี้ที่ค้างชำระ

อย่างไรก็ตาม เพื่อลดปัญหาในเรื่องอายุความ เอสเอ็มอีแบงก์จึงได้ตั้งเกณฑ์ที่จะช่วยลูกหนี้ค้างชำระและลูกหนี้ติดเครดิตบูโร โดยจะต้องเป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน 12 เดือน นอกจากนี้จะต้องเป็นลูกหนี้ที่มีการทำธุรกิจจริงและเป็นกิจการเดิมที่เคยขอกู้จากธนาคาร โดยธนาคารจะปล่อยกู้เสริมสภาพคล่องต่อราย 1 ล้านบาท สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น