xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิวัติ “เปลือกหอยแครง” ผลิตปูนธรรมชาติปลุกรายได้ชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รศ.สรชา ไววรกิจ
ความที่เป็นอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เห็นเปลือกหอยแครงถูกทิ้งเป็นขยะในชุมชน ต.คลองโคน จ.สมุทรสงคราม เกิดไอเดียนำมาแปรรูปเป็นปูนซีเมนต์จากธรรมชาติ ปลอดสารพิษ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ชาวบ้านต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใกล้ตัวจำหน่ายสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง
ตัวอย่างแผ่นพื้นทางเดินทางปูนธรรมชาติ
ความช่างสังเกตของ “ผศ.สรชา ไววรกิจ” อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ที่เห็นกองขยะเปลือกหอยแครงไร้ค่า นับวันจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ของชุมชน ต.คลองโคน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ถูกนำมาแปรรูปเป็น 'ปูนซีเมนต์ธรรมชาติ' ที่สามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใกล้ตัวได้หลากหลาย และล่าสุดกลายเป็นแผ่นพื้นทางเดิน และผลงานสร้างสรรค์ต่างๆ เช่น วัสดุตกแต่งผนัง กรอบนาฬิกา และกรอบโคมไฟ
แผ่นพื้นทางเดินนี้ มีจุดนวดเท้าที่ทำจากเปลือกหอย
'ปูนซีเมนต์ธรรมชาติ' เป็นผลงานวิจัยของ ผศ.สรชา โดยได้รับรางวัลเหรียญเงิน (KIWIE 2014 Silver Prize) จาก KIWIE 2014 ประเทศเกาหลีใต้ ด้วยการแปรรูปขยะเหลือบริโภคเป็นวัตถุดิบผสม ซึ่งที่มาไอเดียผลงานวิจัยชิ้นนี้มาจากปัญหาสภาพแวดล้อมของขยะเปลือกหอยที่เกิดจากการตายตามธรรมชาติ คิดเป็นปริมาณขยะสุทธิ 10,000 ตัน/ปี จึงคิดนำมาแปรรูปให้เกิดประโยชน์
วัสดุตกแต่งผนัง
“หลังจากที่เราได้ไปเห็นปัญหากองเปลือกหอยแครงในชุมชนคลองโคน ขณะที่บางส่วนก็ถูกเหยียบย่ำตามทางเดิน รวมถึงกลิ่นที่คละคลุ้งไปทั่ว ก็รู้สึกอยากเข้ามาช่วยเหลือแก้ไขปัญหานี้ให้แก่ชาวบ้าน ซึ่งหลังจากสอบถามชาวบ้านพบว่าเปลือกหอยเหล่านี้เกิดจากการเลี้ยงหอยแครงที่จะตายเองตามธรรมชาติ โดยเมื่อเลี้ยงไปประมาณ 3 เดือนหอยจะตายไป 40% และอีก 2-3 เดือนจะตายอีกกว่า 60% ของที่เหลือทั้งหมด และนั่นก็กลายเป็นที่มาของกองขยะเปลือกหอยนับหลายล้านตัว ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่จะคุ้นชินกับปัญหาเหล่านี้ เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากอาชีพที่ทำมาหากินมายาวนาน”
ชุด D.I.Y.ของตกแต่งบ้าน กำลังอยู่ในช่วงปรับปรุงบรรจุภัณฑ์
ดังนั้น ด้วยความที่ ผศ.สรชาเป็นสถาปนิก จึงคิดนำเปลือกหอยแครงมาแปรรูปเป็นปูนซีเมนต์ธรรมชาติ จากคุณสมบัติเฉพาะตัวของเปลือกหอยที่มีปริมาณแคลเซียมสูงถึง 99.98%

การแปรรูป เริ่มจากการนำเปลือกหอยแครงมาเผาในอุณหภูมิที่พอเหมาะ นำมาตำเป็นผง จากนั้นนำผงดิน ขุยมะพร้าว ซึ่งเป็นวัตถุดิบผสมในปูนซีเมนต์ธรรมชาติ ขณะที่ผงเปลือกหอยที่ผ่านมาเผาตั้งแต่ 5 นาทีขึ้นไปจะมีผลต่อการยึดเกาะระหว่างอนุภาค ส่วนผงดินช่วยในการขึ้นรูปทรง และช่วยในการยึดเกาะ และผงขุยมะพร้าวช่วยลดน้ำหนักภายในวัตถุ โดยสัดส่วนการผสม 2 ต่อ 1 ต่อ 1 ต่อ 0.5 เป็นสัดส่วนที่เหมาะสมในผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ธรรมชาติที่ตอบสนองการใช้งานตกแต่งด้านความแข็งแรง และความทนทาน รวมทั้งมีน้ำหนักเบา

จากนั้น ผศ.สรชาจึงถ่ายทอดกรรมวิธีนำเปลือกหอยแครงมาแปรรูปเป็นปูนซีเมนต์ธรรมชาติให้แก่ชาวบ้านชุมชนคลองโคนเพื่อนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เช่น แผ่นพื้นทางเดิน วัสดุตกแต่งผนัง กรอบนาฬิกา กรอบโคมไฟ ซึ่งมีผลเชิงพาณิชย์ในแง่การคืนประโยชน์ 460 บาท หรือประหยัด 280 บาท เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายปูนซีเมนต์มาตรฐาน ดังนั้นจึงกลายเป็นทางเลือกผลิตภัณฑ์ในชุมชนที่สามารถผลิตและใช้ทดแทนผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ได้ รวมถึงยังปลอดภัยสำหรับสมาชิกในครอบครัว คนในชุมชน นักท่องเที่ยวที่เข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตผู้คนในชุมชนคลองโคนอีกด้วย
ตัวอย่างหอยชนิดต่างๆ ที่นำมาทำเป็นปูนซีเมนต์ธรรมชาติ
ล่าสุด ผศ.สรชาได้ทำตัวอย่างชุด DIY ลักษณะเป็นของตกแต่งบ้านในกล่องเล็กๆ ประกอบด้วย แม่พิมพ์ซิลิโคน ลายดอกไม้ต่างๆ ผงปูนซีเมนต์ธรรมชาติ และสี สำหรับให้ผู้สนใจลองนำไปทำเอง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ และมอบเป็นไอเดียให้ชาวบ้านนำไปสร้างแบรนด์ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ต่อไป

***สนใจติดต่อ 08-1582-1886***
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น