xs
xsm
sm
md
lg

‘KMM’ แฟรนไชส์โรงหนัง คืนความสุขให้รากหญ้า ค่าตั๋ว 30 บาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รูปแบบโรงหนังขนาดย่อม KMM
“KMM” หรือ “Kantana Movie Mall” คือนวัตกรรมธุรกิจบันเทิงรูปแบบใหม่ในประเทศไทย โดยผู้ผลิตสื่อบันเทิงชื่อดังรู้จักกันดีในชื่อ “กันตนา” เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาลงทุนแฟรนไชส์ทำโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กเพื่อบริการชุมชนพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมือง โดยมีบริการด้านเทคนิคภาพ เสียง และสิ่งอำนวยความสะดวกระดับเดียวกับมาตรฐานสากล แต่คิดค่าตั๋วเพียง 30 บาท

จุดแนวคิดปลุกชีพอุตสาหกรรมหนังไทย

ภรวรรณ โกมลารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย ซีนีม่า เน็ตเวิร์ค จำกัด ผู้บริหาร KMM หรือ Kantana Movie Mall เล่าที่มาของโครงการดังกล่าว เกิดจากวิสัยทัศน์ของคุณ “จาฤก กัลย์จาฤก” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งท่านเป็นผู้รักในภาพยนตร์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะภาพยนตร์ไทย หรือที่เรียกกันติดปากว่า “หนังไทย”
ภรวรรณ โกมลารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย ซีนีม่า เน็ตเวิร์ค จำกัด ผู้บริหาร KMM หรือ Kantana Movie Mall
แต่ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป การเข้าชมหนังในโรง ณ ปัจจุบันราคาตั๋วค่อนข้างสูง อีกทั้งโรงคุณภาพดีจะมีเปิดอยู่เฉพาะในเมืองหลวง หรือเฉพาะในศูนย์กลางจังหวัดใหญ่ๆ เท่านั้น ทำให้กลุ่มผู้ชมแทบทั้งหมดล้วนเป็นวัยรุ่นหรือคนวัยทำงานในเขตเมืองเท่านั้น ส่วนคนต่างจังหวัดพื้นที่ไกลๆ ยากจะมีโอกาสได้เข้าชม นอกจากนั้น ผู้ให้บริการโรงหนังมีเพียงไม่กี่ราย จะเน้นฉายเฉพาะหนังฟอร์มยักษ์ที่คาดว่าจะทำเงิน ส่วนใหญ่เป็นหนังต่างประเทศ ส่วนหนังไทย ถ้าไม่ใช่ของค่ายใหญ่โอกาสจะได้เข้าฉายน้อยมาก

จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันวงการหนังไทยค่อนข้างซบเซา ทั้งผู้ผลิตและเจ้าของโรงหนังขนาดเล็กในต่างจังหวัดนับวันจะลดจำนวนลงเรื่อยๆ ดังนั้น คุณจาฤกอยากให้อุตสาหกรรมนี้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ให้โรงหนังเป็นความบันเทิงพื้นฐานที่ทุกคน ทุกเพศทุกวัยของประเทศเข้าถึงได้ง่ายๆ เหมือนในอดีต เลยเป็นที่มาของการทำโครงการ KMM ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ดินเปล่าประโยชน์มาเป็นโรงหนังขนาดเล็กตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชน เก็บค่าตั๋วราคาถูก โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปิดข้อจำกัดที่ผ่านมา ถือเป็นนวัตกรรมธุรกิจที่ไม่เคยมีมาก่อนประเทศไทย

พัฒนาระบบ ทำโรงหนังเป็นเรื่องง่าย

ผู้บริหารสาวขยายความต่อว่า ในอดีตถ้าคิดจะทำโรงหนังสักแห่งต้องลงทุนสูง ใช้คนจำนวนมาก และติดปัญหาเรื่องการเดินทาง ไม่สามารถนำฟิล์มหนังไปส่งยังพื้นที่ไกลๆ ได้ แต่ด้วยระบบที่ KMM พัฒนาขึ้นช่วยให้การทำโรงหนังสักแห่งเป็นเรื่องง่าย โดยนวัตกรรมดังกล่าว ในส่วนการส่ง “หนัง” ไปตามโรงต่างๆ นั้นจะใช้วิธีส่งสัญญาณภาพดิจิตอลผ่าน “ดาวเทียม” ซึ่งครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยจะส่งสัญญาณไปยังอุปกรณ์เก็บข้อมูลในแต่ละโรงล่วงหน้าก่อนกำหนดหนังเข้าฉาย 1 สัปดาห์ ป้องกันเหตุสุดวิสัยจากสภาพอากาศ รวมถึงข้อมูลทั้งหมดจะต้องเข้ารหัสสัญญาณ ป้องกันปัญหาถูกลักลอบเกี่ยวสัญญาณ

ส่วนต่อมา ในเรื่องระบบบริหารจัดการต่างๆ ภายในโรงหนัง ไม่ว่าจะเป็นระบบขายตั๋ว จองตั๋ว จัดตารางเวลา ฉายหนัง เก็บเงิน ดูแลรายได้เข้าออก ฯลฯ เป็นระบบคอมพิวเตอร์อัตโนมัติ ซึ่งบริษัทพัฒนาขึ้นเอง ใช้ชื่อว่า “Kantana Intelligent One Touch” ทุกอย่างทำได้โดยกดปุ่มทำงานแค่ครั้งเดียว โดยใช้พนักงานดูแลทุกขั้นตอนแค่ 1 คน ส่วนเจ้าของกิจการสามารถตรวจสอบทุกอย่างได้ทางออนไลน์
ตัวอย่างรูปแบบการก่อสร้างโรงหนัง
ต่อมาในเรื่องของระบบทั้งภาพ และเสียง รวมถึงอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น เก้าอี้ จอภาพ อุปกรณ์ฉายภาพ ฯลฯ จะเป็นมาตรฐานเดียวกับโรงภาพยนตร์ชั้นดีทั่วไปในเมืองหลวง รองรับผู้เข้าชมต่อรอบได้ประมาณ 80-120 คน (แล้วแต่ขนาดพื้นที่) รวมถึงสามารถรองรับการฉายในระบบ 3D ได้ด้วย

เธอเผยว่า จากระบบต่างๆ ดังกล่าวช่วยประหยัดต้นทุนต่างๆ ในการทำโรงหนังไปได้มาก ดังนั้น อัตราค่าตั๋วที่กำหนดจะเก็บเพียงแค่ใบละ 30-45 บาทเท่านั้น (ขึ้นอยู่กับทำเล) ในขณะที่คุณภาพต่างๆ ยืนยันว่าระดับเทียบกับโรงหนังในเมือง

“จากที่วัฒนธรรมการดูหนังเริ่มหายไปจากวิถีชีวิตของคนไทยในต่างจังหวัด แต่ KMM เราอยากให้คนไทยได้ดูหนังมากขึ้น ง่ายขึ้น และราคาถูกลง ซึ่งจะช่วยให้คนต่างจังหวัดได้สัมผัสอรรถรสความบันเทิงมาตรฐานเดียวกับคนดูหนังในโรงที่กรุงเทพฯ อีกทั้งประโยชน์ที่ตามมาจะช่วยสร้างงานสร้างอาชีพและสร้างเศรษฐกิจในส่วนชุมชนด้วย” ผู้บริหารสาว ขยายความ

ในส่วนตัวสินค้า หรือ “หนัง” ที่จะนำเข้ามาฉายนั้น ภรวรรณระบุว่า จะเป็นเหมือนหนังที่ฉายตามโรงทั่วไปทุกประการ ภายใต้เงื่อนไขว่า หากเป็นหนังดังมากๆ จากค่ายใหญ่ จะเข้าฉายล่าช้ากว่าโรงในเมืองประมาณ 1-2 สัปดาห์ ด้วยเหตุผลค่ายหนังยังไม่อยากปล่อยให้ฉายโรง KMM ซึ่งคิดค่าเข้าชมถูกมาก เกรงจะกระทบรายได้ของหนัง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกลุ่มลูกค้าผู้เข้าชมเป็นคนละตลาดอยู่แล้ว การเข้าฉายช้าเล็กน้อยไม่ส่งผลกระทบต่อกิจการของ KMM ขณะเดียวกัน ยังเป็นโอกาสใหม่สำหรับหนังเล็กๆ ที่ไม่มีฉายในโรงใหญ่มากนักได้มาเปิดตัวใน KMM นอกจากนั้น ทางบริษัทจะการันตีว่า จะหาหนังใหม่ชนโรงมาเข้าฉายอย่างน้อยเดือนละ 1 เรื่อง และในแต่ละเดือนจะมีหนังใหม่เข้าฉายอย่างน้อย 2 เรื่อง

ทั้งนี้ โครงการ KMM ไม่ได้เป็นเพียงแค่การทำโรงหนังเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงคือการพัฒนาที่ดินในพื้นที่ต่างจังหวัดให้กลายศูนย์กลางเศรษฐกิจหรือแหล่งท่องเที่ยวใหม่ประจำชุมชน โดยอาศัยโรงหนังเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้คนเข้ามายังพื้นที่ดังกล่าว โดยภายใน KMM นอกจากโรงหนังแล้ว ยังเปิดเป็น “มอลล์” ให้ผู้ประกอบการขนาดย่อมๆ มาเช่าพื้นที่เปิดร้านขายสินค้าหรือบริการ รวมถึงมีลานจัดกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น

เปิดโมเดลลงทุนแฟรนไชส์โรงหนัง

สำหรับรูปแบบการลงทุนธุรกิจ KMM ภรวรรณอธิบายว่า แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. บริษัทลงทุนเปิดด้วยตัวเอง กับ 2. เปิดโอกาสให้ผู้สนใจทำโรงหนังมาซื้อแฟรนไชส์ อายุสัญญา 5 ปีและต่อทุกๆ 5 ปี ภายใต้เงื่อนไขผู้ลงทุนต้องมีที่ดินมานำเสนอ โดยเป็นที่ดินขนาดตั้งแต่ 100 ตารางวาขึ้นไป แต่ไม่เกิน 1 ไร่ โดยทำเลที่เหมาะสมต้องอยู่ในพื้นที่ชุมชนนอกตัวเมือง ครอบคลุมประมาณ 10 หมู่บ้าน มีจำนวนประชากรตั้งแต่ 40,000 คนขึ้นไป

สำหรับงบลงทุนซื้อแฟรนไชส์จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 4.5-10 ล้านบาท (ไม่รวมมูลค่าที่ดิน) โดยแบ่งเป็นค่าก่อสร้างต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงหนัง ร้านค้า ภูมิทัศน์ และระบบต่างๆ ทั้งหมดจะอยู่ภายใต้ระบบของ KMM ที่จะช่วยดูแลครบวงจร ตั้งแต่เป็นที่ปรึกษาธุรกิจ ก่อสร้าง วางระบบที่มีคู่มือธุรกิจกำกับ อบรมการทำธุรกิจ อบรมบุคลากร การส่งเสริมการตลาด ฯลฯ ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ในเวลา 90 วันหลังจากเซ็นสัญญาทำธุรกิจร่วมกัน

ทั้งนี้ ผลประโยชน์ที่ผู้ลงทุนแฟรนไชส์จะได้รับนั้นมาจากหลายส่วน เช่น ส่วนแบ่งรายได้จากค่าตั๋วเข้าชมหนัง ซึ่งแตกต่างกันไปตามรายละเอียดสัญญา รายได้จากอาหารและเครื่องดื่มที่บริการภายใน KMM รายได้จากการเก็บค่าเช่าพื้นที่เปิดร้าน และรายได้จากการให้เช่าพื้นที่จัดกิจการต่างๆ นอกจากนั้น จะมีรายได้จากส่วน Non-movie โดยอาศัยโรงหนังจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เหมาะสมกับแต่ละชุมชน เช่น ถ่ายทอดงานสัมมนา ถ่ายทอดคอนเสิร์ต ถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาต่างประเทศ หรือถ่ายทอดการสอนพิเศษทางไกล ฯลฯ เหล่านี้ ผู้ลงทุนมีอิสระในการบริหารเพื่อหารายได้ด้วยตัวเอง โดยมีบริษัทแม่เป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษา

“ในความเป็นจริง รายได้หลักของ KMM จะไม่ได้มาจากค่าตั๋วหนัง เนื่องจากเราคิดค่าตั๋วถูกมาก แต่เราต้องการให้โรงหนังเป็นตัวดึงดูดคนในชุมชนให้ออกมาทำกิจกรรมในพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งจะทำให้มีรายได้เสริมจากส่วนอื่นๆ เข้ามา จากแบบจำลองทางธุรกิจที่บริษัทได้ประเมินมา ภายใน KMM แต่ละแห่งจะมีสัดส่วนรายได้จากค่าตั๋วหนังประมาณ 30% และอื่นๆ 70% ถ้ามีลูกค้าเข้ามาใช้บริการทั้งการเข้าดูหนัง หรือมาทำกิจกรรมฯลฯ อย่างน้อยวันละ 200 คนขึ้นไป จะสามารถมีอัตราคืนเงินลงทุนอย่างช้าที่สุดภายในเวลาไม่เกิน 20 เดือน” ผู้บริหารสาวเผย
ตัวโรงหนังต้นแบบ
วางเป้าขยาย 300 สาขาในสิ้นปีนี้

เธอเผยด้วยว่า ขณะนี้มีผู้ลงทุนแฟรนไชส์ KMM แล้วกว่า 40 รายกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2558 นี้ และยังมีอีก 40 แห่งที่ทางบริษัทจะเปิดด้วยตัวเอง รวมถึงยังมีนักลงทุนต่างประเทศซื้อแฟรนไชส์ไปเปิดยังประเทศตัวเอง ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา และพม่า นอกจากนั้น ทางบริษัทยังเปิดหาผู้มีที่ดินเหมาะสมเพื่อจะไปขอเช่าพื้นที่ หรือร่วมลงทุนสำหรับพัฒนาเป็นโครงการ KMM ต่อไป

จากการลงทุนดังกล่าว ตามเป้าภายในสิ้นปีนี้ (2558) จะมี KMM เปิดทั่วประเทศกว่า 300 แห่ง และในอีก 5 ปีข้างหน้าถึง 1,000 แห่ง โดยเป็นการเปิดภายใต้บริษัท 30% และอีก 70% เปิดโดยผู้ลงทุนแฟรนไชส์
ร่วมมือกับ เอสเอ็มอีแบงก์ ช่วยเป็นแหล่งทุนสำหรับผู้สนใจลงทุนแฟรนไชส์ KMM
ทั้งนี้ คุณสมบัติของผู้สนใจจะลงทุนแฟรนไชส์ KMM นั้น ประกอบด้วย ต้องเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศไทย ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาทขึ้นไป มีที่ดินของตัวเอง มีความตั้งใจอยากทำโรงหนัง มีความพร้อมด้านการเงิน ทั้งลงทุนเองหรือกู้จากสถาบันการเงิน ซึ่งส่วนนี้บริษัทได้ร่วมมือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) พร้อมจะเป็นแหล่งทุนให้ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ซึ่งขณะนี้มีนำร่องแล้ว 2 รายในพื้นที่ จ.ขอนแก่น กับเพชรบูรณ์ ต่อมาต้องมีบุคลากรที่พร้อมเข้าอบรมกับส่วนกลางได้อย่างน้อย 1 คน และสุดท้าย ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานของบริษัทอย่างเคร่งครัด

ในส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อยากจะเปิดร้าน หรือนำสินค้าหรือบริการของตัวเองเข้าอยู่ในโครงการ KMM นั้น ผู้บริหารสาวให้ข้อมูลว่า แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ 1. มาติดต่อกับบริษัทแม่โดยตรง เพื่อจะได้รับคัดเลือกส่งไปเปิดหน้าร้านตามสาขาต่างๆ ของ KMM ซึ่งส่วนนี้ควรจะเป็นเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพในการผลิตค่อนข้างสูง และ 2. เป็นผู้ประกอบการในท้องถิ่น ติดต่อขอเช่าพื้นที่กับเจ้าของแฟรนไชส์แต่ละแห่งเอง โดยรายละเอียดต่างๆ เช่น ค่าเช่าพื้นที่ และการแบ่งผลประโยชน์ ให้อิสระตกลงกันเองระหว่างเจ้าของพื้นที่กับผู้จะไปประกอบการค้า

เมื่อถามถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จในการลงทุนทำแฟรนไชส์ KMM นั้น ภรวรรณแยกแยะให้ฟังว่า ข้อแรกต้องมีทำเลเหมาะสม ตามด้วยตัวผู้ลงทุนจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเลือกสรรสินค้าหรือบริการให้ตรงกับรสนิยมของคนในท้องถิ่น เช่น เลือกหนังที่คาดว่าคนในชุมชนจะชื่นชม และการหารายได้เสริมต่างๆ จากศักยภาพของพื้นที่ เป็นต้น

ส่วนปัจจัยเสี่ยงนั้น กังวงเรื่องภาวะของเศรษฐกิจโดยรวมซบเซา เพราะคนรากหญ้าที่ถือเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง และอยู่ในบรรยากาศหรืออารมณ์ที่ไม่อยากจับจ่าย แม้จะคิดค่าตั๋วหนังถูกมากแล้วก็ตาม อาจทำให้ยอดรายได้ไม่เป็นไปตามเป้า

โครงการ KMM นับเป็นนวัตกรรมธุรกิจรูปแบบใหม่ครั้งแรกในประเทศไทย หวังปลุกชีพให้อุตสาหกรรมหนังไทย และที่สำคัญ จะมีส่วนช่วยก่อให้เกิดการลงทุนใหม่ และสร้างเศรษฐกิจในระดับชุมชน
ตัวอย่างการก่อสร้าง
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น