“บสย.” วางยุทธศาสตร์ตรวจสุขภาพธุรกิจให้เอสเอ็มอี การันตีคุณภาพให้แบงก์จูงเข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้น ตั้งเป้าค้ำสินเชื่อใหม่ 8 หมื่นล้าน พร้อมหาช่องว่าง พ.ร.บ.ค้ำประกัน ช่วยเอสเอ็มอีกู้เงินได้สะดวกขึ้น
นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของปี 2557 หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ คาดกันว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ไม่ได้เร็วอย่างหวัง เพราะปัญหาสะสมมายาวนาน สะท้อนให้เห็นจากสินเชื่อใหม่ของเอสเอ็มอีที่มีมูลค่าแค่ 300,000 ล้านบาท และGDP ประเทศที่เติบโตเพียง 1-1.5% เ ท่านั้น
ในส่วนของ บสย.เอง มียอดค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี ประมาณ 61,000 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าที่วางไว้เมื่อต้นปีที่ 100,000 ล้านบาท ทว่า ในจำนวน 61,000 ล้านบาทดังกล่าว เป็นการค้ำประกันให้แก่สินเชื่อเอสเอ็มอีใหม่ถึง 30% ในขณะที่ปีที่ผ่านๆ มา อัตราการเข้าไปค้ำประกันสินเชื่อใหม่ของ บสย. จะอยู่ที่ประมาณ 20% บ่งบอกให้เห็นว่า บสย.เป็นเครื่องมือของภาครัฐที่ช่วยให้เกิดการอนุมัติสินเชื่อเอสเอ็มอีได้มากขึ้นในยามสถานการณ์ไม่ปกติ
สำหรับคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ในปีหน้า (2558) เชื่อว่า เวลานี้เอสเอ็มอีได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และกำลังเข้าสู่ภาวะดีขึ้น จากการใช้จ่ายภาครัฐ ขณะที่ บสย.จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมา เพื่อรองรับการฟื้นตัวของเอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็นโครงการต่อเนื่อง อย่าง PGS5 , ไมโครโอทอป และ Start up ซึ่งในตัวนี้ จะมีการปรับเงื่อนไข จากเดิมมูลค่าที่ บสย.ค้ำประกันทางสถาบันการเงินต้องมีส่วนค้ำด้วย 20% ตัวอย่างเช่น หากเกิดเป็นหนี้เสีย ทาง บสย.จะจ่ายให้สถาบันการเงิน 80% แต่เงื่อนไขใหม่ บสย.จะรับผิดชอบ 100% เพื่อให้สถาบันการเงินเพื่อความเชื่อมั่นในการอนุมัติสินเชื่อแก่กลุ่ม Start up มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ เป้าค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีของ บสย. ตั้งไว้ที่ 80,000 ล้านบาท หรือเพิ่ม 20% โดยวิธีการที่ผ่านมา เดิม บสย.จะเข้าไปหาเอสเอ็มอีเพื่อนำเสนอและเชิญชวนให้มาใช้บริการ บสย. แต่แนวทางใหม่ เราจะให้เอสเอ็มอีที่ต้องการเงินกู้ให้เข้ามาหา บสย. เพื่อตรวจสุขภาพธุรกิจของตัวเอง โดยจะมีระบบให้กรอกข้อมูลธุรกิจทางออนไลน์ จากนั้น จะเข้าสู่กระบวนพิจารณาว่า รายใดมีศักยภาพส่งให้แก่สถาบันการเงินได้บ้าง ซึ่ง บสย.จะทำหน้าที่เสมือนตัวกลางเชื่อมระหว่างเอสเอ็มอีที่ต้องการสินเชื่อไปสู่สถาบันการเงิน
สำหรับรายที่มีคุณสมบัติพร้อมจะส่งไปให้สถาบันการเงินที่เหมาะสม ส่วนในรายที่คุณสมบัติยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ ทาง บสย.จะส่งให้หน่วยงานพันธมิตร เพื่อบ่มเพาะธุรกิจเพิ่มศักยภาพ แล้วกลับมาสู่โปรแกรมตรวจสุขภาพธุรกิจอีกครั้ง เพื่อจะส่งไปสู่สถาบันการเงินต่อไป
“จากวิธีการนี้ เชื่อว่าจะทำให้เอสเอ็มอีที่ต้องการเงินกู้ เกิดแรงดึงดูดอยากจะมาเข้าโปรแกรมตรวจสุขภาพธุรกิจ เพื่อจะเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น และกรณีที่ไม่ผ่าน ก็ยังได้รับการบ่มเพาะจนสามารถกู้เงินได้ วิธีนี้เสมือนการคัดกรอกลูกค้าให้แก่สถาบันการเงิน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการอนุมัติได้ง่ายขึ้น คาดว่าจะเริ่มได้ภายในไตรมาสสอง เชื่อว่า ตลอดทั้งปี จะมีเอสเอ็มอีมาเข้าโปรแกรมนี้ประมาณ 30,000 ราย” นายวัลลภ กล่าว
นอกจากนั้น ในการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. เราให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนนโยบายภาครัฐ ได้แก่ 1.ส่งเสริมเอสเอ็มอีลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง 5 เขต ด้วยการร่วมกับธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่ออัตราพิเศษ MLR-1% และได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปีแรก กำหนดปล่อยกู้ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อราย โดยมีวงเงินรวมในโครงการ 5,000 ล้านบาท เริ่มต้นภายในช่วงไตรมาสแรกของปี
2.สนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับดิจิทัล อีโคโนมี วงเงินในโครงการ 2,000 ล้านบาท ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า ซึ่งมีผู้ประกอบการที่ได้รับการบ่มเพาะประมาณ 5,000 ราย ล้วนแต่เป็นผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรม โดยทาง บสย.จะเข้าไปช่วยค้ำประกันเงินกู้ให้ พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมใน 2 ปีแรกเช่นกัน
นายวัลลภ กล่าวต่อว่า สำหรับปัจจัยเสี่ยงในปี 2558 กังวลเกี่ยวกับ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ว่าด้วยการลดภาระของผู้ค้ำประกัน ซึ่งเกรงจะทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อแก่เอสเอ็มอีมากยิ่งขึ้น รวมถึง คาดว่า หากเกิดกรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระ ทางสถาบันการเงินจะเลือกฟ้องร้องแทนเจรจาประนอมหนี้ ส่งตัวเลขฟ้องร้องเพิ่มสูงขึ้น
ทว่า ด้วยบทบาทของบสย. ที่ต้องการช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้น โดยการไปค้ำประกันเอสเอ็มอี ให้สามารถกู้เงินในระบบกับทางธนาคารได้ เพื่อให้สามารถดำเนินภารกิจต่อไปได้ บสย.จึงได้ให้ฝ่ายกฎหมายลงไปศึกษา เงื่อนไขหลักเกณฑ์ ภายใต้กฎหมายใหม่ ว่าสามารถที่จะยกเว้นหรือปรับเปลี่ยนเงื่อนไขต่างๆ ให้ง่ายขึ้นกับทางธนาคารได้หรือไม่ เพื่อให้มาใช้บสย.เป็นหลักประกันในการให้สินเชื่อกับเอสเอ็มอีได้มากขึ้น
“ในฐานะผู้ค้ำประกัน บสย.ก็เหมือนผู้ค้ำประกันรายอื่น ที่เราจะได้ประโยชน์จากตัวกฎหมายใหม่ แต่ถามว่า เราอยากได้หรือไม่ เราไม่อยาก เพราะนี่จะเป็นอุปสรรคในการที่แบงก์จะต้องใช้ บสย.ค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอี ฉะนั้นจึงจะไปพิจารณาดูว่า ในเงื่อนไขภายใต้กฎหมายใหม่ จะสามารถลด หรือปรับเปลี่ยนให้เงื่อนไขต่างๆ ง่ายขึ้นได้หรือไม่ ในการที่สถาบันการเงินจะมาใช้บสย.เพื่อเป็นหลักประกันแทนหลักประกันอื่นๆ เช่น บุคคลค้ำประกัน ได้มากขึ้น”
อย่างไรก็ดี จากล่าสุดที่รัฐบาลได้ประกาศเลื่อนการใช้กฎหมายนี้จากวันที่ 11 ก.พ.2558 ออกไปก่อน มองว่าเป็นเรื่องดีที่เพื่อจะได้ปรับแก้จุดอ่อนที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงแหล่งทุนของเอสเอ็มอี
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *