สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ร่วมกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ โชว์ผลสำเร็จอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม หลังประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เพื่อรองรับฉลากฟุตพรินต์สิ่งแวดล้อม (Environmental Footprint) หวังสร้างไทยเป็นศูนย์กลางการค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอาเซียน
นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยพลังงานมหาศาล โดยใช้พลังงานในการผลิตประมาณ 1,074 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ใช้ถ่านหินประมาณ 132 ล้านเมตริกตันต่อปี และมีการใช้น้ำ 6-9 ล้านล้านลิตร ขณะที่มีร้อยละ 25 ของการผลิตสารเคมีทั่วโลกถูกใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ
ทั้งนี้ จากการใช้พลังงานและทรัพยากรจำนวนมากทำให้กลุ่มผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหภาพยุโรปจึงให้ความสำคัญในการพัฒนาและบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตลอดสายโซ่อุปทาน (Supply Chains) โดยใช้มาตรฐานและแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากผลิตภัณฑ์นำเข้า ผ่านการพิจารณาวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Approach) เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงได้กำหนดฉลากฟุตพรินต์สิ่งแวดล้อม (Environmental Footprint) เพื่อให้ผู้ผลิตต้องแสดงข้อมูลสิ่งแวดล้อมบนผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ นั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านใดบ้าง ซึ่งฉลากฟุตพรินต์สิ่งแวดล้อมเป็นฉลากกลุ่มใหม่ที่ได้มีการนำร่องจัดทำในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เริ่มโดยประเทศฝรั่งเศส ดำเนินการตั้งแต่ปี 2556-2559
จากความสำคัญดังกล่าว สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จึงได้มอบหมายให้ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อนำร่องผลักดันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยที่มีความหลากหลายตั้งแต่ผ้าผืน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และเคหะสิ่งทอ ให้มีความรู้ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้หลักการฟุตพรินต์สิ่งแวดล้อม และสามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ ตามทิศทางการค้าในตลาดสหภาพยุโรปและตลาดโลก ที่ประกาศ Single Market for Green Products หรือตลาดสินค้ามาตรฐานเดียวเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยอุตสาหกรรมสิ่งทอนับเป็นอุตสาหกรรมสาขาแรกของประเทศไทยและของอาเซียนที่มีการศึกษาประเมินฟุตพรินต์สิ่งแวดล้อม
โดยในการดำเนินโครงการดังกล่าวมีผู้ประกอบการเข้าร่วม 8 โรงงาน เป้าหมายคือ วิเคราะห์และประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ 14 ผลกระทบ ตามแนวทางมาตรฐานของสหภาพยุโรป เช่น สภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน การลดลงของชั้นโอโซน ภาวะพืชน้ำเติบโตผิดปกติ การใช้น้ำและการใช้ที่ดิน เป็นต้น โดยผลการประเมินสามารถทำให้ผู้ประกอบการนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคตได้
อย่างไรก็ตาม ไทยส่งออกอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไปสหภาพยุโรป ช่วงเดือนมกราคม-กันยายน มูลค่า 842.08 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นการส่งออกสิ่งทอ 322.36 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.52 และเครื่องนุ่งห่ม 519.72 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.03 ในขณะที่ไทยนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจากสหภาพยุโรป 243.92 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นสิ่งทอ 180.58 ล้านเหรียญสหรัฐ และเครื่องนุ่งห่ม 63.34 ล้านเหรียญสหรัฐ หากอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอเพื่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างครบวงจร ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย และสร้างโอกาสในการส่งออกและการแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *