ปัญหาการเมืองในฮ่องกงส่งผลดีต่องาน BIG+BIH 2014 แจงผู้ซื้อต่างชาติเลือกหลบภัย ขอขยายเวลาซื้อสินค้าในเมืองไทยนานขึ้น คาดยอดขายปีนี้กว่า 1,200 ล้านบาท “จิรบูลย์” เผยส่งออกกิฟต์ 7 เดือนแรกเสมอตัว คาดทั้งปีโต 2% ยอดทะลุแสนล้าน ส่วนปีหน้ารักษาระดับเติบโตเท่าเดิม
นายจิรบูลย์ วิทยสิงห์ เลขาธิการสมาพันธ์ไลฟ์สไตล์ เปิดเผยว่า การจัดงานแสดงสินค้าของขวัญและงานแสดงสินค้าของใช้ในบ้าน (Bangkok International Gift Fair 2014 and Bangkok International Houseware Fair 2014) หรืองาน “BIG+BIH 2014” ณ ไบเทค บางนา ระหว่างวันที่ 19-23 ต.ค. 2557 นี้ ได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่ประเทศฮ่องกงเวลานี้ เนื่องจากโดยปกติ ผู้ซื้อจากต่างชาติโดยเฉพาะจากสหรัฐฯ และยุโรป จะเดินสายมาเลือกซื้อสินค้าของขวัญของชำร่วยในแถบเอเชีย เพื่อไปขายต่อในช่วงเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่
ทั้งนี้ ผู้ซื้อจะเริ่มต้นการเดินทางด้วยการเลือกเข้าชมงานแฟร์ใดแฟร์หนึ่งที่จัดพร้อมๆ กันในอาเซียน คือ ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งส่วนใหญ่ยังเลือกมาประเทศไทยเพราะเชื่อมั่นในเรื่องคุณภาพมากที่สุด จากนั้นจะเดินทางต่อไปยังงานแฟร์สินค้ากิฟต์ที่ฮ่องกง และปิดท้ายด้วยการไปงานกว่างโจว แฟร์ ประเทศจีน
อย่างไรก็ตาม จากปัญหาการเมืองในฮ่องกงเวลานี้ ผู้ซื้อจำนวนไม่น้อยตัดสินใจไม่ไปงานแฟร์ที่ฮ่องกง แต่เลือกจะมางาน BIG+BIH แล้วต่อไปยังงานที่เมืองจีนเลย ทำให้ผู้ซื้อต่างชาติจะมีเวลาในการคัดเลือกสินค้าในงาน BIG+BIH นานขึ้น จากปกติจะชมงานซื้อสินค้าแค่ 1-2 วัน ก็เพิ่มเป็นอย่างต่ำ 2 วันขึ้นไป ทำให้เป็นโอกาสในการขายสินค้าของผู้ประกอบการไทยมากขึ้นด้วย
นายจิรบูลย์เผยด้วยว่า จากการลงทะเบียนผู้ซื้อต่างชาติที่จะเข้าชมงาน BIG+BIH ปีนี้มีจำนวนประมาณ 2,500 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่ทรงตัวจากปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคุณภาพมีกำลังซื้อสูง ส่วนใหญ่มาจากสหรัฐฯ เอเชีย และยุโรป ตามลำดับ โดยคาดว่าจะเกิดการซื้อขายภายในงานกว่า 1,200 ล้านบาท
เขากล่าวด้วยว่า สำหรับการส่งออกสินค้ากลุ่มของขวัญและของใช้ในบ้าน ช่วง 7 เดือนแรกอยู่ในภาวะเสมอตัว มูลค่าประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 96,000 ล้านบาท สินค้าส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มกิฟต์ชอป เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ ฯลฯ ยอดส่งออกยังเติบโตได้เล็กน้อย มีเพียงกลุ่มของใช้ในบ้านที่ยอดส่งออกลดลง ปัจจัยมาจากมีผู้ผลิตรายใหญ่รายหนึ่งย้ายฐานผลิตออกไป กลายเป็นตัวดึงให้ยอดส่งออกสินค้ากลุ่มกิฟต์ในช่วง 7 เดือนแรกแค่เสมอตัว
ส่วนช่วงที่เหลือในปีนี้ เชื่อว่ายอดส่งออกจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากบรรยากาศการใช้จ่ายของผู้บริโภคเริ่มกลับมาฟื้นตัว รวมถึงมีปัจจัยเสริมจากค่าเงินบาทอ่อนตัวและเศรษฐกิจในทวีปยุโรปเริ่มกลับมาฟื้นตัวเช่นกัน คาดว่าสุดท้ายยอดส่งออกสินค้ากิฟต์ในปีนี้จะขยายตัวประมาณ 2% หรือมีมูลค่าเกิน 100,000 ล้านบาทแน่นอน
ขณะที่การคาดการณ์ส่งออกสินค้ากลุ่มกิฟต์ปีหน้า (2558) เชื่อว่าอัตราการเติบโตยังอยู่ในระดับเดิมคือประมาณ 2% มีปัจจัยหนุนจากแพกเกจกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ใส่มาในระบบทำให้การใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สินค้ากิฟต์ชอปของผู้ประกอบการไทยมียอดขายดีขึ้น หลังจากนั้น ในรายที่แข็งแรงแล้วจะเริ่มมองถึงการขยายตลาดส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน ช่วยดึงยอดส่งออกให้สูงขึ้น
ทั้งนี้ ตลาดส่งออกที่สำคัญยังเป็นสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนสูงที่สุดถึง 22% ดังนั้น ควรเป็นตลาดหลักที่ต้องรักษาไว้ ควบคู่กับให้ความสำคัญต่อตลาดรอง โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น ซึ่งตอบรับสินค้าไทยดีขึ้นเรื่อยๆ และตามด้วยตลาดจีน ซึ่งขณะนี้คนจีนยุคใหม่มีรายได้สูง นิยมใช้สินค้าคุณภาพ ทำให้เป็นโอกาสของสินค้าไทยเช่นกัน ส่วนปัจจัยเสี่ยงนั้น ปัจจุบันผู้ประกอบการของเวียดนามและอินโดนีเซียมีศักยภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ และรัฐบาลของทั้งสองชาติให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีเต็มที่ จึงถือเป็นคู่แข่งที่จะมาแย่งลูกค้าไปจากเอสเอ็มอีไทย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *