สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม จัดใหญ่ “NFI OPPORTUNITY DAY AND FOOD LEADER PARTY 2014” โชว์ศักยภาพงานให้บริการของสถาบันอาหารตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหาร เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมอาหาร SMEs เข้าถึงงานบริการ พร้อมการแข่งขันบนเวทีโลก
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “โอกาสของอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี2558” ในงาน “NFI OPPORTUNITY DAY AND FOOD LEADER PARTY 2014” ว่า การพัฒนาของอุตสาหกรรมอาหารมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศเติบโตมาจากการเป็นประเทศเกษตรกรรม ประเทศไทยมีผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมอาหารประมาณ 110,000 ราย คิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของจำนวนสถานประกอบการทั้งหมด โดยแยกเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพียงร้อยละ 0.5 และ SMEs ร้อยละ 99.5 ก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 8 แสนคน หรือประมาณ 1 ใน 5 ของการจ้างงานจากทุกประเภทกิจการ ในจำนวนนี้เป็นแรงงานที่มีทักษะร้อยละ 54 โดยเฉลี่ยอุตสาหกรรมอาหารมีมูลค่าผลผลิตรวม 1.6 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนร้อยละ 18 ของมูลค่าผลผลิตจากภาคอุตสาหกรรมทั้งประเทศ โดยผลผลิตที่สำคัญ 5 อันดับแรกคือ กลุ่มข้าวและธัญพืช รองลงมาคือกลุ่มสินค้าประมง มีสัดส่วนใกล้เคียงกันประมาณร้อยละ 17.7 อันดับต่อมา คือกลุ่ม เครื่องดื่ม น้ำมันและไขมันพืช และ เนื้อสัตว์ ตามลำดับ
ทั้งนี้ปัจจุบันไทยยังคงพึ่งพิงการส่งออกสินค้าเกษตรและวัตถุดิบอาหาร ส่วนสินค้าอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานซึ่งเป็นสินค้ามูลค่าเพิ่มภาคเกษตร มีสัดส่วนส่งออกเพียง 45.3% แต่แนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 43.3% ในช่วงปี 2546-2550 สำหรับตลาดส่งออกอาหารที่สำคัญยังคงตลาดหลักหรือตลาดเดิม โดยมีตลาดอาเซียนเพิ่มความสำคัญมากขึ้น มีสัดส่วนเป็นร้อยละ 21.1 ของมูลค่าส่งออก รองลงมาคือ ตลาดญี่ปุ่น มีสัดส่วนร้อยละ 14.2 ตลาดสหภาพยุโรป ร้อยละ 11.7 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 11.3 ตลาดที่มีความสำคัญมากขึ้นอีกตลาดคือ จีน มีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 10.5 การส่งออกอาหารของไทยมีการกระจายตัวไปตลาดใหม่มากขึ้น ส่วนแบ่งตลาดอาหารไทยในตลาดโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามในปี 2558 ธนาคารโลก และ IMF ต่างมองว่าเศรษฐกิจของโลกจะมีทิศทางการเติบโตที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีนี้ โดยคาดว่าอัตราเติบโตของ GDP จะอยู่ที่ร้อยละ 4 เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.4 โดยมีแรงขับเคลื่อนที่สำคัญคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ที่คาดว่าจะมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3
ด้านนายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า อาเซียนนับเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก เนื่องจากข้อได้เปรียบพื้นฐานในด้านทรัพยากรธรรมชาติที่นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหาร และมีแรงงานจำนวนมากเพียงพอ และยังเป็นตลาดการบริโภคตลาดใหม่ที่มีความน่าสนใจ ในปี 2556 อาเซียนมีสัดส่วนมูลค่าการค้าอาหารในตลาดโลกอยู่ที่ร้อยละ 6.8 และคาดว่าในปี 2559 จะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.3 ของมูลค่าตลาดประมาณ 827 พันล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของตลาดโลกซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.7 และพบว่า อาเซียนมีบทบาทในการส่งออกอาหารสู่ตลาดโลกสูงถึงประมาณร้อยละ 9.6 ซึ่งเป็นลำดับ 3 รองจาก สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา
“จากแนวโน้มดังกล่าว จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ไทยจะขยายตลาดสินค้าอาหารเข้าสู่อาเซียนได้มากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 10 หรือในราว 200,000 ล้านบาท ของมูลค่านำเข้าอาหารทั้งหมดในอาเซียนที่มีอยู่ราว 2 ล้านล้านบาท หากมีเป้าหมายและแนวนโยบายในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารจากทุกภาคส่วน ซึ่งสถาบันอาหารมองว่าเป้าหมายการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดอาเซียนที่ร้อยละ 30 ภายใน 5 ปี เป็นเป้าหมายที่ท้าทาย โดยในปี 2020 จะมีรายได้จากการส่งออกอาหารไปอาเซียนสูงถึง 1 ล้านล้านบาท จากมูลค่าตลาดอาเซียนที่คาดว่าจะสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาท” ผอ.สถาบันอาหาร กล่าวทิ้งท้าย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *