xs
xsm
sm
md
lg

จ่ายเงินชาวนาออกผล กระตุ้นดัชนีเชื่อมั่นเอสเอ็มอีฟื้นตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สสว.เผยดัชนีเชื่อมั่นเอสเอ็มอีเดือน ก.ค.เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 47.4 ระบุผลจากการจ่ายเงินจำนำข้าวให้เกษตรกร ภาคค้าส่งสินค้าเกษตรคึกคักกระตุ้นการจับจ่าย ส่วนภาคท่องเที่ยวลดลงเพราะเข้าสู่ low season ส่วนคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ 54.7 เชื่อจากที่ คสช.ให้ความสำคัญต่อเอสเอ็มอีจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอีในอนาคต

รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2557 พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 47.4 จากระดับ 46.1 (เพิ่มขึ้น 1.3) โดยภาคค้าส่ง และภาคค้าปลีก ค่าดัชนีอยู่ที่ 48.7 และ 49.1 จากระดับ 46.7 และ 46.5 (เพิ่มขึ้น 2.0 และ 2.6) ตามลำดับ ขณะที่ภาคบริการค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 44.7 จากระดับ 45.3 (ลดลง 0.6) ส่วนความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตน ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 53.0 และ 49.3 จากระดับ 44.7 และ 45.8 (เพิ่มขึ้น 8.3 และ 3.5) ตามลำดับ โดยมีปัจจัยบวกสำคัญมาจาก ระดับราคาขายปลีกน้ำมันทรงตัว ค่าครองชีพปรับตัวดีขึ้น ผลจากราคาอาหารและพืชผักปรับตัวลดลง และการบริโภคในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน

เมื่อพิจารณาแต่ละประเภทกิจการพบว่า ภาคค้าส่ง กิจการค้าส่งสินค้าเกษตร ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 52.5 จากระดับ 47.5 (เพิ่มขึ้น 5.0) ผลจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรภาพรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง เนื่องจากความต้องการสินค้าเกษตรของไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้น เช่นเดียวกับปริมาณผลผลิตภาคการเกษตรในเดือนกรกฎาคมปรับตัวเพิ่มขึ้น เห็นได้จากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.90 โดยอยู่ที่ระดับ 130.32

ภาคค้าปลีก กิจการค้าปลีกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นในระดับสูงอยู่ที่ 52.3 จากระดับ 44.3 (เพิ่มขึ้น 8.0) เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านต่างๆ ภายใต้การบริหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งการเร่งการจ่ายเงินรับจำนำข้าวให้เกษตรกร การเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2557 ฯลฯ ส่งผลให้สถานการณ์ด้านการจำหน่ายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 และยอดจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.65 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา กอปรกับระดับราคาน้ำมันอยู่ในระดับทรงตัว

ส่วนภาคบริการ ซึ่งมีค่าดัชนีลดลง พบว่า กิจการด้านการท่องเที่ยวมีค่าดัชนีลดลงในระดับสูงอยู่ที่ 39.8 จากระดับ 44.2 (ลดลง 4.4) ผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ลดลงร้อยละ 10.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเป็นช่วงฤดูฝนซึ่งถือเป็นช่วง low season ของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวชะลอตัว แต่เชื่อว่าจะกลับมาคึกคักในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้

ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 54.7 จากระดับ 56.3 (ลดลง 1.6) โดยกิจการภาคค้าปลีกและภาคบริการค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 54.4 และ 54.2 จากระดับ 58.2 และ 55.4 (ลดลง 3.8 และ 1.2) ตามลำดับ ขณะที่ภาคค้าส่ง ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 56.8 จาก 53.6 (เพิ่มขึ้น 3.2)

ส่วนความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตน ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 66.8 และ 63.1 จากระดับ 74.2 และ 68.4 (ลดลง 7.4 และ 5.3) ตามลำดับ อย่างไรก็ดี แม้ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าจะมีค่าความเชื่อมั่นลดลง แต่ยังอยู่ในระดับที่เกินกว่าค่าฐานคือ 50 ทั้งในส่วนภาพรวมและรายภาคธุรกิจ สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการ SMEs ยังมีความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจในช่วง 3 เดือนข้างหน้าในระดับที่ดี

ขณะที่ผลการสำรวจดัชนีรายภูมิภาคในเดือนกรกฎาคม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2557 พบว่าค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค โดยภูมิภาคที่มีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคเหนือ ซึ่งค่าดัชนีอยู่ที่ 48.7 และ 51.5 จากระดับ 47.0 และ 49.8 (เพิ่มขึ้น 1.7) รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ 47.0 จากระดับ 45.5 (เพิ่มขึ้น 1.5) ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ค่าดัชนีอยู่ที่ 49.5 จากระดับ 48.5 (เพิ่มขึ้น 1.0) และภาคใต้ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 41.9 จากระดับ 41.2 (เพิ่มขึ้น 0.7) ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า เกือบทุกภูมิภาคมีค่าดัชนีลดลง มีเพียงภาคใต้ที่ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 50.5 จากระดับ 48.4

อย่างไรก็ดี จากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริม SMEs โดยยกให้เป็นวาระแห่งชาติ และในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ซึ่งให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ระยะเร่งด่วน ปี 2558 ที่ สสว.นำเสนอ จำนวน 4 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย การบูรณาการบริหารจัดการภาครัฐเพื่อส่งเสริม SMEs ให้มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมและพัฒนา SMES โดยมุ่งเน้นการพัฒนาตามวงจรธุรกิจ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ และการเชื่อมโยงเครือข่ายภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศเพื่อส่งเสริมและพัฒนา SMEs ภายใต้วงเงินงบประมาณ 726 ล้านบาท จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพ และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการ SMEs ต่อไป

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น