ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน “ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร” ที่เพิ่งศึกษาจบจากต่างประเทศ มีแนวคิดที่จะสร้างธุรกิจสักอย่างในไทย โจทย์แรกที่วางไว้คือ ต้องเป็นธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ ที่แตกต่างไปจากธุรกิจในรูปแบบเดิมๆ
จนมาลงตัวที่การทำทัวร์เชิงสร้างสรรค์ ทัวร์ชิมอาหาร ที่ยังไม่เคยมีมาก่อนในเมืองไทย ร่วมกับพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจอีก 2 คน ได้แก่ “กิติชัย ศิรประภานุรัตน์” และ “ดร.นระเกณฑ์ พุ่มชูศรี”
ดร.ชินาวุธได้ขยายความให้ฟังถึงแนวคิด และที่มาในการเปิดตลาดทัวร์ชิมอาหารในไทยว่า “เดิมทีผมอยู่ในแวดวงของนักวิชาการมาโดยตลอด เกี่ยวกับพวกการบริหารเทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ ส่วนพาร์ตเนอร์อีก 2 คน คนหนึ่งเรียนจบมาทางด้านไอที ส่วนอีกคนจบมาทางด้านวิศวะอุตสาหกรรม
แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเราเหมือนกันคือ ชอบการเดินทางท่องเที่ยว และพวกเราก็มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวด้วยกันค่อนข้างเยอะ หลังจากที่เที่ยวมาแล้วทั่วโลก ก็เริ่มมองเห็นโอกาสจากการทำธุรกิจทัวร์
ยิ่งการท่องเที่ยวในเมืองไทยด้วยแล้วยังมีโอกาสที่จะพัฒนาอะไรได้อีกเยอะ จะบอกว่านี่เป็นธุรกิจตัวเดียวที่เรามองก็คงไม่ใช่ เรามีแพลนไว้หลายตัวเหมือนกัน แต่ก็พยายามหาธุรกิจที่มันสร้างสรรค์และยังไม่มีในตลาดเมืองไทย และก็ต้องดูด้วยว่ามันมีความเป็นไปได้ไหมในการที่เราจะสร้างความแตกต่าง
จริงอยู่ที่ว่าธุรกิจท่องเที่ยวในไทยเป็นตลาดใหญ่ แต่ที่ผ่านมาโปรดักต์ในตลาดเมืองไทยมันยังไม่หลากหลายมาก ทุกบริษัททัวร์มีโปรแกรมคล้ายๆ กันหมด ซึ่งผมมองว่าโปรดักต์ที่เป็นจุดแข็งของไทยเราจริงๆ ก็คือเรื่องอาหาร แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครลงมาเล่นกับตัวโปรดักต์นี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราผันตัวเองเข้ามาสู่ธุรกิจทัวร์
ที่จริงแล้วเป้าหมายในการทำธุรกิจของเรา ก็คือการทำทัวร์ภายใต้แนวคิดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เน้นคิดโปรดักต์ทัวร์ใหม่ๆ ที่ในตลาดยังไม่มี ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร อีโคทัวริซึมที่เน้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เราก็มองเห็นโอกาสในตลาดนี้อยู่พอสมควร
แต่สิ่งที่เรามองต่อไปก็คือ ถ้าเราลงไปทำอีโคทัวริซึมจริงๆ สินค้าทางการเกษตรมันจะขายได้ไหม มันเป็นการช่วยเหลือชุมชน ช่วยเหลือชาวบ้านได้จริงไหม
ในขณะที่อาหาร มันเป็นโปรดักต์ที่มีการเติบโตอยู่ในตัวเอง อาหารไทยของเราเป็นที่รู้จักไปแล้วทั่วโลก แต่ฝรั่งที่มาเมืองไทยก็รู้จักอาหารไทยแค่ผัดไทย ต้มยำกุ้ง ส้มตำ โดยที่ไม่รู้ว่ารากเหง้า วัฒนธรรมการกินของไทยมันเป็นอย่างไร จึงสามารถนำ story ตรงนี้มาสร้างเป็นโปรดักต์ขึ้นมาได้
แต่เราก็ต้องมาตีโจทย์ก่อนว่า สิ่งที่ลูกค้าต้องการแสวงหาจากอาหารไทยคืออะไร หรือเขาต้องการรู้อะไร หนึ่ง-เขาต้องการรู้จักอาหารไทยที่มีความหลากหลาย เพราะได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมของประเทศอื่นมาเยอะ ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย หรือฝรั่งเองก็ตาม
นอกจากนี้อาหารไทยยังมีความหลากหลายในตัวเอง มีอาหารตามภูมิภาคต่างๆ นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้ชิมอาหารที่หลากหลายแล้ว อาหารแต่ละประเภทก็ยังดึงเรื่องราวที่เป็นจุดเด่นของชุมชนนั้นๆ ออกมา ในความที่เป็นชุมชนเก่าแก่ ก็จะมีวัฒนธรรมท้องถิ่น และมีสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่ให้ศึกษา เราก็เอาเรื่องพวกนี้มาประกอบเข้าด้วยกัน
เพราะถ้าบอกว่าเป็นทัวร์ชิมอาหารอย่างเดียวใครๆ ก็ไปชิมเองได้ แต่จะทำอย่างไรให้มันน่าสนใจ อันนี้ก็คือแนวคิดของเราเป็นการสร้างโปรดักต์ให้ลงตัว ทัวร์ชิมอาหารของเราไม่ใช่แค่ว่าไปชิมอาหาร แต่มันจะต้องสอดแทรกเรื่องของวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์ความเป็นมาเข้าไปด้วย”
สำหรับเส้นทางทัวร์ชิมอาหารนั้น จะทำภายใต้แบรนด์ บางกอก ฟู้ด ทัวร์ โดยขายทัวร์ผ่าน www.bangkokfoodtours.com มีเส้นทางให้เลือก 3 รูปแบบ
ประเภทแรก คือ ทัวร์เดิน ใช้เวลาครึ่งวัน มีให้เลือก 2 แบบ คือ บางรักในช่วงกลางวัน และเยาวราชในช่วงกลางคืน
ประเภทที่ 2 วัน เดย์ ทริป นำเที่ยวในเส้นทางตลาดน้ำท้องถิ่น ที่ไม่ใช่ตลาดน้ำท่องเที่ยวชื่อดัง
และประเภทสุดท้าย คือ มัลติเพิล เดย์ ทริป มีให้เลือกตั้งแต่ 3 วัน 2 คืน ไปจนถึง 9 วัน 8 คืน ในเขตจังหวัดภาคกลาง
“เส้นทางทัวร์ที่บางรัก คือตัวที่ทำให้เราได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (ไทยแลนด์ ทัวริซึม อวอร์ด) ประเภทรายการนำเที่ยวยอดเยี่ยมประจำปี 2556
บางรักก็เป็นเส้นทางแรกที่เราเลือกเปิดตัวบริษัท เพราะบางรักเป็นที่ตั้งของโรงแรมมากมาย มีนักท่องเที่ยวอยู่เต็มไปหมด แต่นักท่องเที่ยวเหล่านี้แทบไม่รู้จักบางรักเลย แค่มานอนพักเพื่อไปเที่ยวที่อื่นต่อ ทั้งๆ ที่บางรักเป็นแหล่งรวมของทั้งอาหาร วัฒนธรรม และประวัตศาสตร์อยู่ครบ เป็นชุมชนเก่าแก่ที่ถือกำเนิดมาแล้วกว่า 100 ปี ร้านอาหารแต่ละแห่งที่เลือกมาก็มีอายุเก่าแก่ไม่ต่ำกว่า 50 ปีทุกร้าน ซึ่งก็ต้องบอกว่าเราเดินมาถูกทาง เพราะทัวร์เราก็เป็นที่รู้จักค่อนข้างเร็ว
ช่วงที่ผ่านมาเราก็เน้นการทำตลาดแบบโลว์คอสต์มาร์เกตติ้ง โดยการใช้ช่องทางออนไลน์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์, เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ และเน้นการทำตลาดแบบปากต่อปากให้ลูกค้าที่เคยมาใช้บริการประทับใจ นำประสบการณ์กลับไปบอกต่อ เพื่อให้เพื่อนหรือคนรู้จักอยากมาใช้บริการ
รวมทั้งเปิดโอกาสให้บล็อกเกอร์ นักเขียนนิตยสารชื่อดังในต่างประเทศมาทดลองใช้บริการ เพื่อกลับไปเขียนแนะนำให้ชาวต่างชาติอยากมาใช้บริการกับเราเพิ่มขึ้น
แต่หลังจากนี้ไป เมื่อมีโปรดักต์ที่หลากหลายขึ้น ก็จะเพิ่มช่องทางทำตลาดไปโรดโชว์ เทรดโชว์ ในงานท่องเที่ยวสำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศ”
สำหรับกลุ่มเป้าหมาย จะเป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก อย่างอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย รองลงมาจะเป็นยุโรปแถบสแกนดิเนเวีย ตลาดเอเชียอาจจะมีฮ่องกง และสิงคโปร์อยู่บ้าง แต่ก็เป็นสัดส่วนที่น้อย
“ต้องเข้าใจเรื่องเทรนด์การท่องเที่ยวเสียก่อน ว่าตอนนี้มันมีอยู่ 2 แบบ อย่างแรกคือ แอตแทรกชันเบส ก็คือการท่องเที่ยวที่เน้นการชมสถานที่อย่างวัด วัง
แบบที่ 2 เรียกว่าเป็น แอ็กทิวิตีเบส คนที่เคยเดินทางไปเที่ยวประเทศนั้นแล้ว แต่ก็อยากจะไปซ้ำ เลยต้องการหาประสบการณ์ที่แปลกใหม่กว่าเดิม โดยพุ่งเป้าไปที่กิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้สัมผัสวิถีชีวิต วัฒนธรรมที่แท้จริงของพื้นที่นั้นๆ
เทรนด์การท่องเที่ยวมันเปลี่ยน แต่ถามว่าเปลี่ยนทุกตลาดไหม เปลี่ยนพร้อมกันไหม ก็ไม่พร้อม ตลาดท่องเที่ยวในตะวันตกมันเริ่มเปลี่ยนเยอะ เพราะเขาก็มีกำลังซื้อแล้วก็อยากทำอะไรที่มันแปลกใหม่มากขึ้น
ส่วนใหญ่พวกนี้ไม่ใช่นักท่องเที่ยวครั้งแรก แต่จะเคยมาเที่ยวเมืองไทยแล้ว 2-3 ครั้ง บางคนก็เคยมา 4-5 ครั้งเข้าไปแล้ว เขาก็มองหาอะไรที่มันแปลกใหม่
แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเป็นตลาดเอเชีย ถ้าอย่างตลาดจีนนี่โตมากๆ แต่ส่วนมากนักท่องเที่ยวจีนจะมาเมืองไทยครั้งแรก เขาก็อยากจะไปเที่ยวดูวัด ดูวัง ยังคงเป็นการท่องเที่ยวแบบแอตแทรกชันเบสอยู่ ไม่ใช่แอ็กทิวิตีเบส เพราะฉะนั้น แม้ว่าเทรนด์การท่องเที่ยวของโลกจะเปลี่ยน แต่ว่าตัวตลาดหลักที่เป็นแอตแทรกชันเบสมันก็ยังขายได้ เพราะยังมีนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งที่มาเที่ยวเมืองไทยครั้งแรก ดังนั้นตลาดท่องเที่ยวในบ้านเรามันก็ยังโตทั้ง 2 ทาง”
แต่สิ่งที่ทำให้ ดร.ชินาวุธ คาดไม่ถึงคือ เรื่องของคู่แข่ง ที่คาดไว้ว่าน่าจะเป็นบริษัททัวร์คนไทย แต่เอาเข้าจริงแล้วกลายเป็นว่าเกิดจากชาวต่างชาติทั้งสิ้น
“เชื่อไหมว่าแต่ก่อนเราไม่เคยให้สัมภาษณ์สื่อไทยเลย เพราะกลัวว่าจะโดนลอกเลียนแบบ แต่ตอนนี้เราอยากจะออกมาพูด เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้มองเห็นถึงปัญหาที่มันเกิดขึ้น
ปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือ การลอกเลียนแบบจากฝรั่ง ที่มีมาอยู่เรื่อยๆ ล่าสุดที่เพิ่งเจอมา ก็ก๊อบปี้เส้นทางทัวร์บางรักของเราไปเกือบทั้งหมด ทั้งในส่วนของร้านอาหาร หรือแม้แต่สถานที่ในการนัดพบ
นอกจากนั้น ปัญหาอีกเรื่อง อีกหน่อยผู้ประกอบการไทยในธุรกิจนี้อาจจะเจอปัญหาเดียวกัน คือ ไกด์หายาก เพราะไกด์หรือมัคคุเทศก์ ของเราทำถูกต้องตามกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ท่องเที่ยว 100% บริษัทจะต้องมีไลเซนส์ ส่วนไกด์ก็จะต้องมีบัตรไกด์ถึงจะสามารถทำงานได้
ดังนั้นไกด์แต่ละคนต้องใช้เวลาในการเทรนนาน บางคนก็ไม่ผ่าน เราต้องคัดออก อีกทั้งยังไม่มีผลตอบแทนจูงใจ ค่าคอมมิชชันจากการพานักท่องเที่ยวไปชอปปิ้งเหมือนกับทัวร์อื่นๆ ด้วย เราถึงต้องจ้างไกด์ในราคาที่สูงกว่าทัวร์อื่นๆ
ในขณะที่คู่แข่งที่เป็นฝรั่งพวกนี้ บางบริษัทก็ไม่มีไลเซนส์จดทะเบียน เพราะเดี๋ยวนี้มันสามารถทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตได้หมดแล้ว แถมยังใช้ไกด์ผี ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายของเราอ่อนมาก บังคับใช้แต่ผู้ประกอบการไทย พอเป็นต่างชาติก็ปล่อย
ในการทำธุรกิจผมก็เตรียมใจไว้แล้ว ในเรื่องของคู่แข่ง ในเรื่องของการถูกก๊อบปี้ แต่ที่รับไม่ได้ก็คือเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เสมอภาคกัน อยากให้เกิดการแข่งขันแบบยุติธรรม
ตอนนี้ก็กำลังดูๆ เจรจาอยู่กับคู่แข่ง ดูว่าเราจะสามารถรักษาสิทธิของตัวเองได้อย่างไรบ้าง รวมถึงการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแบบนี้ในอนาคตอีก
ถึงแม้ว่าจะประสบกับปัญหาทั้งในเรื่องคู่แข่งชาวต่างชาติ และไกด์ที่หายาก แต่ความแรงของตัวธุรกิจก็ยังคงฉุดไม่อยู่ ปี 2556 ที่ผ่านมาก็โตเพิ่มขึ้น 40% จากเมื่อปี 2555
ส่วนเป้าหมายต่อไปในการทำธุรกิจของ นวทรรศน์ คือการขยายตัวโปรดักต์ภายใต้แนวคิดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่ทัวร์ชิมอาหารเพียงอย่างเดียว เพราะเมืองไทยยังมีโปรดักต์อีกหลายตัว ที่สามารถจับขึ้นมาชูเป็นจุดขายได้
คาดว่าเร็วๆ นี้คงจะได้เห็นทัวร์สร้างสรรค์รูปแบบใหม่ๆ ที่มีความแตกต่าง และน่าสนใจไม่แพ้ทัวร์ชิมอาหาร ออกมาอีกแน่นอน
ก็ต้องบอกว่า “นวทรรศน์ ฮอสพิทัลลิตี้” คือตัวแบบในการมองหาช่องว่างทางการตลาดที่น่าสนใจ
@@@ ข้อมูลโดยนิตยสาร SMEs Plus @@@
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *