xs
xsm
sm
md
lg

ชี้เอสเอ็มอีไทยติดหล่มแค่ผลิต แนะทางรอดยกระดับสู่ภาคบริการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานสัมมนา “SMEs พบห้างค้าปลีกและค้าส่ง ผลิตอย่างไรให้ตรงใจจัดซื้อ”
นักวิชาการชี้ปมเอสเอ็มอีไทยไปไม่ถึงไหน เพราะติดหล่มทำได้แค่ภาคผลิต นับวันกำไรยิ่งหด คู่แข่งยิ่งเพิ่ม แนะทางรอดต้องพัฒนาและยกระดับสู่ธุรกิจภาคบริการให้ได้ แจงมูลค่าตลอดมหาศาล

นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวในการเปิดงานสัมมนา “SMEs พบห้างค้าปลีกและค้าส่ง ผลิตอย่างไรให้ตรงใจจัดซื้อ” กล่าวว่า จากที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ทำการสำรวจความคิดเห็น SME Index เกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย โดยปัญหาส่วนใหญ่คือขาดสภาพคล่อง การบริหารต้นทุน ปัญหาในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้มีความแตกต่างและสร้างจุดเด่นของสินค้า รวมถึง ขาดศักยภาพเรื่องการพัฒนาบุคลากรในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านนวัตกรรม ด้านทักษะฝีมือแรงงาน ตลอดจนไม่เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ดังนั้น การยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถแข่งขันกับนานาชาติได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน และปิดช่องว่างของปัญหาได้นั้น จำเป็นต้องมีการส่งเสริมด้านการพัฒนาศักยภาพ ดังนั้น ทางหอการค้าไทย ได้ร่วมธุรกิจค้าปลีกค้าส่งต่างๆ จัดโครงการสัมมนา “SMEs พบห้างค้าปลีกและค้าส่ง ผลิตอย่างไรให้ตรงใจจัดซื้อ” เพื่อเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีได้มีความรู้ความเข้าใจที่จะผลิตสินค้าหรือบริการได้ตรงกับความต้องการของตลาดหรือผู้ซื้ออย่างแท้จริง

ด้าน รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า การพัฒนาและเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศนั้น แบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ขั้นแรก Collection economy คือ การขายวัตถุดิบ และทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งประเทศไทยผ่านมาแล้ว ขั้นสอง Production economy คือ การนำวัตถุดิบมารับจ้างผลิตเป็นสินค้า ซึ่งปัจจุบันธุรกิจไทยอยู่ในขั้นนี้จำนวนมาก ขั้นสาม Service Based economy คือ ธุรกิจจากพื้นฐานภาคบริการ และขั้นสี่ Speculation economy คือการหากำไรจากการเงิน ส่วนใหญ่จะเป็นชาติมหาอำนาจเข้าหาผลตอบแทนในตลาดเงินตลาดทุน เช่น สหรัฐฯ และชาติยุโรป

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศไทย เติบโตมาจากการขายวัตถุดิบ จนปัจจุบันเข้ามาสู่การนำทรัพยากรมาผลิตเป็นสินค้า ซึ่งเอสเอ็มอีไทยปัจจุบันกลุ่มใหญ่กว่า 33% ติดอยู่ในขั้นนี้มายาวนานยากจะขยับ และนับวันความได้เปรียบจะน้อย กำไรที่ได้ก็น้อยลง ขณะที่คู่แข่งประเทศเพื่อนบ้านขยับขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม พม่า โดยอาศัยเรื่องค่าแรงที่ถูกกว่า

รศ.ดร.สมภพ กล่าวต่อว่า ทางรอดของเอสเอ็มอีไทยในปัจจุบัน จึงอยู่ที่ต้องยกระดับจากภาคการผลิตสู่ภาคการบริการให้ได้ เพราะจุดเด่นของธุรกิจภาคบริการ คือ กำไรสูงมาก และไม่มีการจำกัดขอบเขต อีกทั้ง ยังเป็นธุรกิจที่เหมาะกับเอสเอ็มอีที่มีความหลากหลาย และสามารถต่อยอดจากการท่องเที่ยวที่ประเทศไทยมีจุดเด่นอยู่แล้ว โดยธุรกิจบริการที่มีแนวโน้มสดใส เช่น ธุรกิจเพื่อสุขภาพ โรงพยาบาล กีฬา บันเทิง ค้าส่งค้าปลีก และพักผ่อนต่างๆ เป็นต้น

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น