อุบลราชธานี - นักธุรกิจเมืองดอกบัวมั่นใจ หลังจ่ายเงินจำนำข้าว ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจมีเงินหมุนเวียนในตลาด สินค้าเกี่ยวเนื่องรับทรัพย์ ขณะที่วัสดุก่อสร้าง-จักรยานยนต์ยังซบเซา ต้องรอหลังเก็บเกี่ยวข้าวปลายปี
นายประชา กิจตรงศิริ กรรมการผู้จัดการบริษัท กิจตรง ยามาฮ่า อุบลราชธานี จำกัด กล่าวถึง คสช.ให้จ่ายเงินจำนำข้าวให้แก่ชาวนาอุบลราชธานีเกือบ 6 พันล้านบาทว่า เป็นผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัด เพราะยอดเงินดังกล่าวจะหมุนเวียนจากการใช้จ่ายไปเป็นวงรอบถึง 3 รอบ ทำให้มียอดการใช้จ่ายสูงเกือบ 2 หมื่นล้านบาท
ด้วยยอดเงินดังกล่าวกับขนาดเศรษฐกิจของจังหวัดถือเป็นเงินจำนวนมหาศาล จึงเป็นผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมานานกว่า 1 ปี เพราะชาวนาจะนำเงินที่ได้ไปใช้จ่ายเป็นค่าปุ๋ย ค่าอุปกรณ์การผลิตในฤดูกาลต่อไป และจ่ายหนี้ ธ.ก.ส. เมื่อจ่ายหนี้ให้ ธ.ก.ส. ชาวนาที่เป็นลูกค้าชั้นดีก็จะได้รับเงินกู้รอบใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาใช้จ่ายอีก
แต่ในจำนวนนี้จะมีเงินสูญเสียไปกับดอกเบี้ยนอกระบบที่เรียกเก็บอัตราสูง ซึ่งไม่สามารถคาดจำนวนดอกเบี้ยในส่วนนี้ได้ สำหรับการค้าในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือกลุ่มรถจักรยานยนต์ยังคงซบเซาต่อไป เพราะใกล้เข้าพรรษา เกษตรกรไม่นิยมก่อสร้างหรือซ่อมแซมที่พักอาศัย ต้องรอไปถึงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวในช่วงปลายปี
ส่วนการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือรถจักรยานยนต์ ชาวนามีความต้องการใช้ แต่ก็ไม่มีเงินมาซื้อ ทำให้ยอดการขายของสินค้าในกลุ่มนี้ตกต่ำ จึงมีการเร่งการขายโดยจัดโปรโมชัน ทั้งไม่ต้องวางเงินดาวน์หรืออัตราดอกเบี้ย 0%
สำหรับสิ่งที่ต้องการให้ คสช.เร่งทำในขณะนี้คือ การใช้จ่ายของภาครัฐ ทั้งโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่ได้มีการลงนามไว้แล้ว เพื่อใช้เป็นตัวกระตุ้นการใช้จ่ายในภาพรวม แต่ไม่ต้องการให้เน้นลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เพราะจะไม่เกิดการกระจายเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจระดับล่าง
“การกระตุ้นเศรษฐกิจฐานล่าง รัฐอาจมีโครงการเหมือนการจ่ายเช็คช่วยชาติ หรือโครงการจ้างทำงานแบบมิยาซาวา หรือจ้างคนตกงานให้ทำหน้าที่สำรวจโครงการต่างๆ เพราะเงินจะกระจายลงมาสู่การใช้จ่ายของคนระดับล่าง แล้วกระจายต่อไปยังกลุ่มเศรษฐกิจในจังหวัดจากการใช้จ่ายเงินดังกล่าว”
ด้านนางมะลิวัลย์ ไชยสงคราม รองประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี และผู้ประกอบการห้างค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่จังหวัด กล่าวว่า ประชาชนยังระมัดระวังการใช้จ่าย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาเป็นเวลานานจากความวุ่นวายทางการเมืองทำให้การค้าขายที่ผ่านมาไม่ดีเท่าที่ควร แต่คาดว่าหลัง คสช.เร่งจ่ายเงินค่าข้าวเปลือกให้ชาวนาที่ค้างจ่ายอยู่กว่า 5.6 พันล้านของจังหวัด จะทำให้ชาวนากลับมามีกำลังซื้อ แนวโน้มการค้าขายจะมีสภาพคล่องมากขึ้น สำหรับการค้าขายชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ลูกค้ายังสั่งซื้อสินค้าไปขายตามปกติ ไม่พบมีผลกระทบในขณะนี้