ด้วยเงินทุนเพียง 300 บาทของเด็กจบใหม่จากรั้ว ม.ราชภัฏยะลา ไม่อยากเป็นลูกจ้างใครต้องการออกแบบสินค้าจากมันสมองและสองมือตัวเอง ตัดสินใจเย็บกระเป๋าผ้าขาย ได้เงินทุนมาหลักพันบาทใช้เงินต่อยอดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ไปเรื่อยๆ กลายเป็นเจ้าของธุรกิจกระเป๋าผ้าผสานความเป็นเอกลักษณ์วัสดุพื้นถิ่นสร้างความต่าง สู่แบรนด์ “BABA ICE”
ความรักในงานออกแบบ จึงมุ่งมั่นเรียนต่อทางด้านการออกแบบประยุกต์ศิลป์โดยตรงจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา แต่เป็นที่รู้ๆ กันว่างานสำหรับเด็กจบใหม่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้หาค่อนข้างหายาก หลายคนต้องทิ้งบ้านเกิดมาหางานทำในเมืองหลวง ผิดกับ “โนรีดา มะเร๊ะ” เจ้าของธุรกิจกระเป๋าผ้า BABA ICE เลือกใช้ชีวิตในถิ่นกำเนิด ดึงความสามารถที่มีอยู่ในตัวออกมาต่อยอดเป็นธุรกิจด้วยเงินในกระเป๋า ณ เวลานั้นเพียง 300 บาท!!!
เธอเริ่มสำรวจความชอบของตัวเองว่าสนใจในเรื่องใดเป็นพิเศษ ตกผลึกมาได้ 3 อย่าง คือ เสื้อผ้า รองเท้า และกระเป๋า แต่สองอันดับแรกค่อนข้างใช้เงินทุนสูง ส่วนกระเป๋าหากเลือกใช้ผ้าต้นทุนจะถูกกว่าหนังแท้มาก ดังนั้นเงินทุนแค่ 300 บาทน่าจะเหมาะต่อการซื้อผ้ามาตัดเย็บเป็นกระเป๋าที่สุด
ในฐานะที่เรียนมาทางด้านการออกแบบ ดังนั้นกระเป๋าของโนรีดาต้องแตกต่าง ใส่งานดีไซน์เข้าไปด้วย ผลงาน 10 ชิ้นแรกคือ กระเป๋าผ้า ขายใบละ 100 บาท ปรากฏว่าขายหมด ได้เพื่อนๆ, นักศึกษา และอาจารย์มาอุดหนุน ได้เงินกลับมา 1,000 บาท ใช้เป็นเงินทุนต่อยอด
“เงิน 300 บาทในตอนนั้นถือว่าสำคัญมาก เราพยายามคิดว่าจะใช้เงินก้อนนี้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่พอขายกระเป๋าผ้า 10 ใบได้เงินมา 1,000 บาท ดีใจมาก เพราะจะได้มีทุนไปซื้อวัตถุดิบทำกระเป๋าต่อไป แต่ก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้าจดจำกระเป๋าได้ จึงปรึกษากับว่าที่สามี “มิสเตอร์ดาเรน ฮิลล์” ในการหาชื่อแบรนด์ สุดท้ายมาลงตัวที่ BABA ICE ที่มาจากคำว่า บาบ๋า ย่าหยา หมายถึง คนสองสัญชาติมาแต่งงานกัน คือ ชาวจีน กับมลายู ซึ่งคล้ายกับคู่ของเราที่เป็นคนไทย จ.ยะลา ขณะที่สามีเป็นชาวอังกฤษ ส่วนคำว่า “ICE” มาจากที่เราเป็นคนชอบรับประทานน้ำแข็ง”
เมื่อมีแบรนด์เธอก็ทำกระเป๋าผ้าขายอีกครั้ง โดยเพิ่มความหลากหลายด้วยฟังก์ชันการใช้งาน เช่น กระเป๋ามือถือ, ใส่เหรียญ กระเป๋าสะพายทรงครึ่งวงกลม กระเป๋าสะพายแบบรูด และกระเป๋าเครื่องสำอาง เปิดขายสู่สาธารณชนที่ถนนคนเดิน จ.ยะลา เพียง 3 วันเธอได้เงินกว่า 10,000 บาท ถือว่าเกินคาดมาก และคิดว่าเดินมาถูกทาง แต่ยังไม่ถึง “ที่สุด” ที่เธอพอใจ
เนื่องจากสินค้ายังมีความเป็นแมสสูง (Mass) เธออยากให้มีความโดดเด่นมากกว่านี้ สื่อถึงความเป็นตัวของตัวเอง และที่สำคัญกระเป๋าแต่ละใบจะต้องมีใบเดียวในโลกเท่านั้น ดังนั้นเธอจะนำผ้าท้องถิ่นของภาคใต้มาทำเป็นกระเป๋า อย่าง ผ้าบาติก ผ้าชุมพร ผ้าทอปัตตานี ผ้าฝ้าย รวมถึงยังนำเศษวัสดุจากธรรมชาติมาประยุกต์ลงไปด้วย เน้นความเป็นธรรมชาติ และสีสันสะดุดตา เช่น ผ้าไม้ก๊อก (จุกก๊อก) นำมารีดอัดกาว แทนส่วนที่เป็นผ้า ซึ่งยังไม่มีใครนำมาทำเป็นกระเป๋า ขายในราคา 100-500 บาทเท่านั้น และล่าสุดได้รับรางวัลโอทอป 4 ดาว
“ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่เราเริ่มต้นทำกระเป๋า BABA ICE ขาย เรียกได้ว่าเป็นความภาคภูมิใจหนึ่งในชีวิต เพราะนอกจากจะออกแบบ ทำเอง ขายเองแล้ว ยังได้รับคำชมจากอาจารย์พร้อมสร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาเด็กราชภัฏยะลาน้อยมากที่จะออกมาผลิตสินค้าเอง ซึ่งครั้งนี้ทำให้คนภายนอกมองเด็กราชภัฏมีคุณภาพมากขึ้นเทียบเท่ามหาวิทยาลัยชั้นนำในภาคใต้ ที่สามารถสร้างเด็กให้มีศักยภาพเป็นเจ้าของธุรกิจเองได้”
ความสะดุดแก่ผู้พบเห็นกระเป๋า BABA ICE คือสีสันที่ฉูดฉาด ขณะเดียวกันก็มีสีเอิร์ทโทน เรียบง่าย ตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน จึงไม่แปลกที่มีผู้สนใจรับไปจำหน่ายต่อในจังหวัดภูเก็ต และคนไทยในประเทศมาเลเซีย บางคนซื้อเป็นของสะสมในแต่ละคอลเลกชัน เพราะมีใบเดียวในโลก ทำให้ขณะนี้จากเงิน 3 ร้อยบาทต่อยอดสู่ 3 ล้านบาทแล้ว
เมื่อค้นพบแล้วว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นจุดเริ่มต้นสู่สิ่งที่มีคุณค่าได้ รวมถึงไม่ต้องทิ้งบ้านเกิด ผลพลอยได้จากสิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งมีค่าแก่ชุมชน ดังนั้นเธอจึงจัดตั้งเวทีเล็กๆ ที่ TK Park จ.ยะลา พัฒนาความคิดเด็กๆ ให้ลองลงมือทำจริง เน้นไปที่งานฝีมือออกแบบตามความคิดสร้างสรรค์อย่างอิสระ เพราะเชื่อว่าจะเป็นต้นทุนชีวิตที่ดีต่อไปในอนาคต
***สนใจติดต่อบ้านบันนังสาเรง อ.เมือง จ.ยะลา โทร. 08-3653-7686 หรือที่ Facebook : Nurida Mareh***
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *