xs
xsm
sm
md
lg

เซ่นม็อบ! อุตฯ อัญมณี เครื่องประดับยอดขายวูบ เหตุต่างชาติงดเข้าไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางอรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเผยม็อบกระทบผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จำกัดแค่ กทม. ส่วนภูมิภาคเดินเครื่องปกติ ชี้ธุรกิจอัญมณี และเครื่องประดับได้รับผลกระทบหนักสุด รับหวั่นเอสเอ็มอีเมืองกรุงขาดสภาพคล่องทางการเงิน ประสานแบงก์พาณิชย์ดูแลใกล้ชิด

นางอรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยถึงผลกระทบทางการเมืองต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตว่า ตลอดระยะเวลาการชุมนุมประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมา ขณะนี้มีผู้ประกอบการภาคการผลิตในกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเพียงบางส่วน เนื่องจากส่วนใหญ่อยู่บริเวณโดยรอบ และจังหวัดตามปริมณฑล ดังนั้นจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยพบปัญหาในเรื่องยอดขายลดลง ลูกค้าเปลี่ยนคำสั่งซื้อชั่วคราวไปใช้ผู้ผลิตรายอื่นแทน ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตในต่างจังหวัดยังไม่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมมากนัก

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่ได้รับกระทบมากที่สุดคืออัญมณี และเครื่องประดับ ประมาณ 10% จากการยกเลิกเที่ยวบินการเดินทางมาประเทศไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ถือเป็นกลุ่มลูกค้าหลัก และคาดว่าจะส่งผลต่อไปอีกระยะหนึ่งหากสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่ยุติโดยเร็ว ซึ่งทางกรมฯ กำลังหารือเพื่อเตรียมการแก้ไขปัญหานี้ในเบื้องต้น รวมถึงหาแนวทางช่วยเหลือแบ่งเป็นรายธุรกิจต่อไป

“ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในขณะนี้คือ การขาดสภาพคล่อง จากยอดการสั่งซื้อที่ลดลง คู่ค้าเลี่ยงไปใช้ฐานการผลิตอื่นแทนชั่นคราว แต่ทางกรมฯ ได้ประสานงานกับธนาคารพาณิชย์ให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ในการดูแลลูกค้า โดยเฉพาะกับสถานการณ์เช่นนี้” นางอรรชกากล่าว

สำหรับการสำรวจผลกระทบรายอุตสาหกรรมจากตัวแทนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในช่วงที่ผ่านมา พบว่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มของใช้ ของที่ระลึก เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบในระดับปานกลาง ได้แก่ เกษตรแปรรูป สิ่งทอ ตัดเย็บเสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องหนัง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมประเภทชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องจักรกลการเกษตร ผลกระทบยังไม่ชัดเจน เนื่องจากแหล่งผลิตส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัด

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้แนะแนวทางปรับตัวแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันว่า ผู้ประกอบการควรลดต้นทุน ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ลดการสต๊อกสินค้า ใช้แรงงานที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เพิ่มช่องทางการขายสินค้า เช่น การค้าสินค้าผ่านทางออนไลน์ และควรใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงเครื่องจักร รวมถึงการดูแลรักษาไลน์ผลิตให้คงคุณภาพ

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น