xs
xsm
sm
md
lg

ไม้อัดจาก “หญ้าแฝก” ไอเดียเจิดเปลี่ยนพืชเป็นเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวปรินดา แตรวิจิตรศิลป์  กรรมการผู้จัดการ บริษัทโกลเด้น อุตสาหกรรมไม้อัดหญ้าแฝก จำกัด
ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เห็นคุณประโยชน์ของ “หญ้าแฝก” ที่เป็นได้มากกว่าวัชพืชไร้ค่า กลับนำมาปลูกเป็นแนวกำแพงป้องกันหน้าดินพังทลาย มาวันนี้วัชพืชไร้ค่ากลับสร้างความอัศจรรย์ใจได้อีกครั้งกับวัสดุทดแทนไม้ นำมาบดอัดผสมกาว คุณภาพเทียบเท่าไม้จริง

“ไม่ว่าจะเป็นเศษต้นหญ้า พืช ผัก หรือแม้กระทั่งเปลือกผลไม้ สามารถนำมาทำเป็นไม้ได้หมด” เป็นคำกล่าวของ “นางสาวปรินดา แตรวิจิตรศิลป์” กรรมการผู้จัดการ บริษัทโกลเด้น อุตสาหกรรมไม้อัดหญ้าแฝก จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์วัสดุแทนไม้ เล่าว่า เธอเป็นดีไซเนอร์ ทำงานตามฝันที่เรียนมาก ขณะที่โดยส่วนตัวชอบนำเศษวัสดุเหลือใช้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ หวังเพิ่มมูลค่า และลดปริมาณขยะ กระทั่งเห็นการเปิดอบรมผลิตไม้อัดจากใบหญ้าแฝกของกรมป่าไม้ จึงตัดสินใจไปร่วมอบรม พร้อมหาความรู้เพิ่มเติมตั้งแต่ปี 2545

กระทั่งสามารถนำความรู้ด้านการออกแบบ และการทำไม้อัดจากหญ้าแฝก ต่อยอดเป็นข้าวของเครื่องใช้ และเฟอร์นิเจอร์เป็นผลสำเร็จ พร้อมก่อตั้งบริษัท โกลเด้น อุตสาหกรรมไม้อัดหญ้าแฝก จำกัด ขึ้น ตามความเชื่อที่ว่า “หญ้าแฝกสามารถแปรเปลี่ยนเป็นทองได้”

“แนวคิดของหลักสูตรที่เราได้ไปอบรมกับกรมป่าไม้นั้นถือว่าตรงกับความคิดของเราที่ต้องการนำเศษวัสดุเหลือใช้มาเพิ่มมูลค่า และกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง ซึ่งหญ้าแฝกเป็นหนึ่งในเศษวัชพืชที่ไม่คิดว่าจะนำมาแปรรูปเป็นไม้อัดได้ แต่เมื่อได้ไปอบรมกลับรู้สึกสนุก ไอเดียบรรเจิด คิดนำมารังสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากคุณสมบัติน้ำมันในหญ้าแฝกที่ปลวกไม่ชอบ รวมถึงกาวที่นำมาผสมลงในหญ้าแฝกสับละเอียดก็ปลอดภัยไม่ทำลายระบบทางเดินหายใจของมนุษย์”

เป็นเวลากว่า 6 ปีที่บริษัทฯ สามารถนำความรู้จากการฝึกอบรมมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้เป็นผลสำเร็จ แต่เธอไม่ได้หยุดที่หญ้าแฝกเพียงอย่างเดียว แต่ลองนำเศษวัสดุจากพืชมาทำเป็นไม้อัดด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นตะไคร้ เปลือกทุเรียน เปลือกมังคุด เปลือกส้ม กระเจี๊ยบ ฟางข้าว แกลบ ส่งผลให้บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการเอกชนรายแรกที่ผลิตแผ่นไม้อัดหญ้าแฝกและเศษวัสดุทางการเกษตรอื่นๆ ในเชิงพาณิชย์จำหน่ายทั่วประเทศ และส่งออกไปทั่วโลก

“ในช่วงแรกถือเป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากสำหรับการทำตลาด เพื่อทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักและยอมรับในกลุ่มลูกค้า แต่เมื่อได้มีการแนะนำ ชี้ให้เห็นถึงคุณสมบัติพิเศษที่เหนือกว่าไม้จริงบางประการยอดขายก็พุ่งพรวด จากการออกแบบเป็น กรอบรูป กล่องนามบัตร โคมไฟ กล่องใส่ของ ที่เสียบนามบัตร ถาดใส่ของ ที่เสียบปากกา พวงกุญแจ ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ เช่น เก้าอี้ เก้าอี้โยก โซฟา โต๊ะกาแฟ เป็นต้น”

การที่เธอนำเศษวัสดุทั้งจากพืช และผลไม้ มาทำเป็นไม้อัดเพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อไปนั้น ลวดลายสินค้าแต่ละชิ้นก็แตกต่างกันไปด้วย ขึ้นอยู่กับสีสันของพืช และผลไม้ที่ธรรมชาติมอบให้ ส่งผลให้สินค้าแต่ละชิ้นมีโทนสีและลวดลายแตกต่างกันไป

สำหรับในอนาคตวางแผนที่จะพัฒนารูปแบบและผลิตภัณฑ์ด้วยการใส่สีสันเพื่อเพิ่มความน่าสนใจ รวมถึงพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยเชื่อว่าในอนาคตแนวโน้มวัสดุทดแทนไม้น่าจะเป็นที่สนใจและนิยมในกลุ่มลูกค้าที่ต้องการความแปลกใหม่ และรักษาธรรมชาติมากขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการเองก็จำเป็นที่ต้องการพัฒนารูปแบบและการออกแบบให้มีความทันสมัย และตรงกับความต้องการของลูกค้า เพราะจากการออกร้านจำหน่ายสินค้าที่ผ่านมา พบว่าลูกค้าในแต่ละกลุ่มจะมีความสนใจสินค้าในรูปแบบและดีไซน์ที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ยังต้องการให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ให้ประชาชนได้เป็นที่รู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับวัสดุทดแทนไม้ธรรมชาติที่สามารถนำมาผลิตเป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่มีคุณภาพไม่ด้อยไปกว่าผลิตภัณฑ์จากไม้ธรรมชาติเช่นกัน



***สนใจติดต่อ 0-2894-3707, 08-6610-5089 หรือที่ www.golden-board.com***
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น