xs
xsm
sm
md
lg

เลี้ยงไส้เดือนครบวงจร รวยยั่งยืนตำรับ “ฟาร์มลุงเครา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการออนไลน์-ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีผู้สนใจหันมาเลี้ยงไส้เดือนจำนวนมาก เนื่องจากใช้เงินทุนเริ่มต้นไม่สูงนัก กระบวนการเลี้ยงไม่ยุ่ง และตลาดมีความต้องการสูง อย่างไรก็ตาม ผู้เลี้ยงไส้เดือนจำนวนไม่น้อยต้องเลิกราไป เนื่องจากประสบปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะขาดความเชี่ยวชาญด้านการทำตลาด
ศศิธร จุ้ยนาม เจ้าของ “ฟาร์มลุงเครา”
แต่สำหรับ “ฟาร์มลุงเครา” ซึ่งเป็นฟาร์มผักครบวงจรที่อยู่ใน อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี ถือเป็นต้นแบบและศูนย์เรียนรู้ในการเลี้ยงไส้เดือนจนประสบความสำเร็จอย่างสูง ภายใต้แนวคิด “ครบวงจร” ตั้งแต่การเลี้ยงขยายพันธุ์จนถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ตั้งแต่ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพบรรจุขวด ขายอุปกรณ์เลี้ยง รวมถึง สร้างเครือข่ายทำรายได้ให้แก่ชุมชน กลายเป็นธุรกิจที่มั่นคงแข็งแรง ทำรายได้อย่างงดงาม

ศศิธร จุ้ยนาม เจ้าของ “ฟาร์มลุงเครา” และยังเป็นวิทยากรด้านการทำฟาร์มเลี้ยงไส้เดือน กล่าวในเบื้องต้นว่า สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะยึดอาชีพนี้ อันดับแรกต้องถามตัวเองก่อนว่า “ต้องการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อวัตถุประสงค์อะไร” ไม่ว่าจะเป็นเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพหลัก เลี้ยงเพื่อเป็นงานอดิเรกหารายได้เสริม หรือเลี้ยงเพื่อต่อยอดจากธุรกิจเดิม
ปุ๋ยอินทรีย์มูลไส้เดือนของฟาร์มลุงเครา
“ครอบครัวของดิฉันทำสวนผักมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่ อยู่ที่ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี จนเมื่อประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว ดิฉันเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว จึงมองถึงการหาวิธีลดต้นทุนการเพาะปลูกผักให้ต่ำที่สุด เลยใช้วิธีการเลี้ยงไส้เดือน ซึ่งการเลี้ยงไส้เดือนจะช่วยปรับสภาพดิน กำจัดขยะ และได้มูลไส้เดือนทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติคุณภาพดีมาใช้ในฟาร์มของตัวเอง ส่วนรายได้อื่นๆ ตามมาภายหลังเป็นผลพลอยได้จากการที่เราทำฟาร์มเลี้ยงไส้เดือนครบวงจร ดังนั้น สำหรับผู้ที่สนใจดิฉันอยากให้ถามตัวเองก่อนว่าวัตถุประสงค์ในการเลี้ยงจริงๆ คืออะไร เพื่อจะวางรูปแบบการเลี้ยงได้ถูกต้องเหมาะสม” ศศิธร กล่าวนำ

เธอ เผยด้วยว่า ไส้เดือนมีอยู่มากมายหลายพันธุ์ โดยที่ฟาร์มลุงเคราเลือกเลี้ยงพันธุ์ “แอฟริกันไนท์ครอเลอร์” (African night crawler) หรือที่เรียกกันติดปากว่า AF กับพันธุ์ “ไทเกอร์” (Eisenia foetida) เนื่องจากทั้งสองพันธุ์นี้ มีคุณสมบัติขยายพันธุ์รวดเร็ว และเหมาะเป็นปุ๋ยคุณภาพดี ส่วนวัสดุที่ใช้เลี้ยง ประยุกต์ได้หลากหลาย เช่น กะละมัง บ่อซีเมนต์ ลังไม้ ฯลฯ หรือชั้นกล่องพลาสติกลิ้นชัก ซึ่งเหมาะกับผู้มีพื้นที่น้อยในการเลี้ยง
การเลี้ยงไส้เดือนในกะละมัง
ทุนในการเริ่มต้นอาชีพนี้ เจ้าของ “ฟาร์มลุงเครา” ระบุว่า แค่ประมาณ 5,000-10,000 บาท ก็สามารถจะทำฟาร์มเลี้ยงไส้เดือนแบบเล็กๆ ได้แล้ว โดยวิธีการเลี้ยงเริ่มจากเตรียมทำปุ๋ยหมักเพื่อเป็นที่อยู่สำหรับไส้เดือน (Bedding) ใช้ส่วนผสม เช่น มูลวัว เศษเปลือกผักผลไม้ ฟาง ขี้เลื่อย ใบไม้ ขุยมะพร้าว นำมาคลุกแล้วหมักรวมกันประมาณ 1-2 เดือน ระหว่างนั้นให้รดน้ำพอชุ่มชื่น เมื่อได้แล้วใส่ปุ๋ยหมักลงในภาชนะที่จะเลี้ยงไม่ว่าจะเป็นกะละมัง บ่อซีเมนต์ และชั้นพลาสติก จากนั้น ปล่อยไส้เดือนลงไป แล้วคอยให้อาหารไส้เดือนสม่ำเสมอ
เลี้ยงไส้เดือนในชั้นกล่องพลาสติกลิ้นชัก หรือที่เรียกกันว่าเลี้ยงแบบคอนโดฯ
ศศิธร ชี้ถึงปัจจัยที่จะทำให้เลี้ยงไส้เดือนเจริญเติบโตดี ตัวโต ขยายพันธุ์รวดเร็ว รวมถึงได้มูลไส้เดือนที่จะไปทำปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดี คือ ต้องให้ไส้เดือนกินอาหารที่มีคุณประโยชน์สูง ซึ่งแต่ละฟาร์มจะมีสูตรอาหารของตัวเอง โดยที่ฟาร์มลุงเคราเน้นให้เศษผัก กับรำข้าว
ศศิธร อธิบายการจัดพื้นที่ทำโรงเรือนเลี้ยงไส้เดือน
สำหรับการเลี้ยงไส้เดือนจะให้ผลผลิตแบบทวีคูณ กล่าวคือ หลังจากเริ่มต้นเลี้ยงไส้เดือนในภาชนะ ประมาณ 1เดือน ก็จะเริ่มเกิดตัวอ่อนในภาชนะเลี้ยง โดยจะนำพ่อแม่พันธุ์ไส้เดือนย้ายไปลงภาชนะใหม่ที่เตรียมปุ๋ยหมักไว้ ส่วนลูกไส้เดือนใช้เวลาเลี้ยงต่อไป ก็จะได้ผลผลิตทั้งมูลไส้เดือนทำปุ๋ยอินทรีย์ ขณะที่ตัวอ่อนก็จะมีออกใหม่เรื่อยๆ ทุกสัปดาห์ โดยตัวที่โตก็จะแยกออกไปเป็นพ่อแม่พันธุ์เพื่อลงภาชนะใหม่ต่อๆ กันไป
ตัวอย่างแผนผังการจัดพื้นที่ทำโรงเรือนเลี้ยงไส้เดือน
ตัวอย่างการจัดวางกะละมังเลี้ยงไส้เดือน
หัวใจที่จะทำให้ธุรกิจเลี้ยงไส้เดือนประสบความสำเร็จนั้น ศศิธรขีดเส้นใต้เน้นที่คำว่า “ครบวงจร” โดยบอกว่า ต้องทำตลาดให้เกิดความหลากหลาย ทั้งขยายพันธุ์ขายไส้เดือนแบบเป็นตัว ซึ่งปัจจุบัน ราคาอยู่ที่ตัวละ 1-3 บาท รวมถึง ขายผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ทั้งปุ๋ยอินทรีย์จากมูลไส้เดือน น้ำหมักชีวภาพ ฯลฯ ส่วนกรณีของฟาร์มลุงเครา ยังเสริมความพิเศษด้วยการใช้เป็นปุ๋ยภายในฟาร์มปลูกผักของตัวเอง ช่วยลดต้นทุนในธุรกิจหลัก นอกจากนั้น ยังเปิดฟาร์มเป็นศูนย์การเรียนรู้ทำการเกษตรครบวงจร รวมถึงเปิดสอนอบรมการเลี้ยงไส้เดือนด้วย ซึ่งทุกด้านมีส่วนช่วยกันทำรายได้เข้าธุรกิจ
น้ำหมักชีวภาพบรรจุขวด  ผลผลิตต่อเนื่องจากการเลี้ยงไส้เดือน
“สำหรับผู้ที่คิดจะเลี้ยงไส้เดือนขาย ดิฉันอยากให้คิดถึงการสร้างสรรค์ในการทำตลาด ยกตัวอย่างเช่น คุณสามารถจะจัดเป็นชุดทำเกษตรเพื่อคนเมือง โดยภายในชุดประกอบด้วยต้นกล้า ภาชนะสำหรับปลูก และปุ๋ยมูลไส้เดือน เหมาะให้คนที่พักอาศัยตามคอนโดฯ ซื้อไปปลูกได้ง่ายๆ มันเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า และยังลดความเสี่ยงกว่าที่คุณจะขายแค่ไส้เดือนธรรมดาๆ” ศศิธร ให้ไอเดียสำหรับผู้สนใจยึดอาชีพนี้
ผักปลอดสารของฟาร์มลุงเครา
ในส่วนของธุรกิจ “ฟาร์มลุงเครา” นั้น เจ้าของธุรกิจเล่าว่า พื้นที่รวมมากกว่า 25 ไร่ ทำเป็นฟาร์มผักครบวงจร มีทั้งปลูกผักสด และผลไม้ปลอดสารพิษ รวมถึง ทำผลิตภัณฑ์แปรรูปต่อเนื่อง โดยเฉพาะปุ๋ยมูลไส้เดือน ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง มียอดผลิตกว่า 10 ตันต่อเดือน โดยแบ่งผลผลิตสำหรับใช้เองภายในฟาร์มประมาณ 4-5 ตัน ส่วนที่เหลือขายปลีก ในรูปแบบปุ๋ยบรรจุถุง ถุงละ 35 บาท โดยการผลิตปุ๋ยไส้เดือนนั้น นอกจากเลี้ยงเองในฟาร์มแล้ว ยังส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นมาทำอาชีพนี้ด้วย ปัจจุบัน มีเครือข่ายถึง 18 ราย ซึ่ง 3 ในนั้นเป็นโรงเรียน เพื่อสร้างรายได้และปลูกฝังอาชีพเกษตรยุคใหม่ให้แก่เด็กนักเรียน

ศศิธร กล่าวด้วยว่า อาชีพเกษตรกรยังมีความน่าสนใจอีกมาก เพราะตลาดยังต้องการอีกมหาศาล แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ เกษตรกรต้องรู้จักทำเกษตรแบบผสมผสาน พยายามทำให้ครบวงจรมากที่สุด ซึ่งจะช่วยทั้งลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และลดความเสี่ยงในการทำเกษตรด้วย

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

สนใจปรึกษาความรู้เรื่องการเลี้ยงไส้เดือน หรือสนใจเข้าชมฟาร์ม ติดต่อได้ที่ 0-2927-6714

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น