ASTVผู้จัดการออนไลน์-ขวดพลาสติก แกลลอนนม กระติบข้าวเหนียว ที่ลวกก๋วยเตี๋ยว โซ่รถจักรยานยนต์ กล่องนม ฯลฯ วัสดุใกล้ตัวต่างๆ เหล่านี้ ถูกนำมาแปลงโฉมใส่ไอเดียเอาไป กลายเป็นผลิตภัณฑ์สร้างความแปลกใจให้แก่ผู้พบเห็น โดยเฉพาะผลงานชิ้นพระเอก คือ ลำโพงเสียบสมาร์ทโฟนทำจากแกลลอนนม และขวดพลาสติก ซึ่งปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวภายใต้แบรนด์ ‘RE+PAIR’ ก้าวไกลไปสู่ตลาดส่งออก
ทั้งหมดเกิดจากสมองและสองมือของสาวน้อยร่างเล็กอย่าง “ฉัตรพร นิลธรรมชาติ” หรือ “แพร” ที่เล่าให้ฟังว่า ชอบการประดิษฐ์มาตั้งแต่เด็ก มักหยิบสิ่งของเหลือทิ้งในบ้านมาดัดแปลงเป็นของใช้ประจำตัว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับ หรือเครื่องใช้ต่างๆ
ส่วนจุดเริ่มจากแค่งานอดิเรกพัฒนาสู่อาชีพจริงจังได้นั้น สาวแพร ย้อนว่า เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนเรียนระดับปริญญาตรี คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนจบนักศึกษาทุกคนต้องทำงาน Thesis ส่งอาจารย์
“ตอนที่ต้องทำงาน Thesis แพรตัดสินใจเลือกที่จะทำสินค้าประเภทรีไซเคิล เพราะเป็นความชอบส่วนตัวอยู่แล้ว โดยหยิบของเหลือทิ้งใกล้ตัวมาทำเป็นผลิตภัณฑ์แปลกใหม่ โดยทำเป็นนาฬิกาข้อมือที่มีสายทำจากวัสดุต่างๆ เช่น โซ่จักรยานยนต์ กล่องนม หลังจากส่งงานให้อาจารย์แล้ว แพรก็ส่งผลงานเข้าโครงการของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ซึ่งได้รับคัดเลือกให้โชว์ในงาน “ปล่อยแสง” และยังได้รับคัดเลือกให้เข้าโครงการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อออกสู่ตลาดอย่างจริงจัง” สาวแพร เล่าจุดเริ่มต้น พร้อมเล่าต่อ
จากที่เข้าโครงการกับ TCDC ทำให้มุมมองในการคิดและทำผลิตภัณฑ์ของเธอเปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่ทำจากความชอบหรือความสนุกอีกเท่านั้น แต่จำเป็นต้องคำนวณถึงด้านต้นทุน ระยะเวลา การผลิต การตลาด และการเข้าถึงตัวผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภคด้วย
“อาจารย์ที่ TCDC ถามแพรว่า ใช้เวลาทำนาฬิกาต่อเรือนนานเท่าไร แพรก็ตอบว่า ประมาณ 1 สัปดาห์ สรุปแล้วทั้งเดือนเราทำได้แค่ 4 เรือน ขายเรือนละ 1,200 บาท มันไม่มีทางจะเป็นอาชีพหลักที่จะเลี้ยงดูตัวเองได้ มันทำให้แพรได้แนวคิดว่า สิ่งที่เราจะทำแค่สวยอย่างเดียวไม่พอ มันต้องง่ายในการผลิต และขายในตลาดได้จริง”
“พอเราได้แนวคิดดังกล่าวแล้ว เวลาแพรจะทำมาผลิตภัณฑ์ใดๆ จะตั้งคำถามกับตัวเองตลอดเวลาว่า ถ้าเราเจอสินค้าแบบนี้ และราคานี้ในท้องตลาด เราจะซื้อไหม เพราะถ้าตัวเราเองยังไม่ซื้อ คนอื่นก็ไม่มีทางซื้อแน่นอน” ฉัตรพร ระบุ
หลังทดลองทำเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด เช่น โคมไฟตั้งโต๊ะ สายห้อยโทรศัพท์ สอยคล้องโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ จากวัสดุต่างๆ เช่น ถุงพลาสติก ตะกร้อลวกก๋วยเตี๋ยว โซ่รถจักรยานยนต์ กล่องนม ฯลฯ ส่วนใหญ่จะได้รับคำชื่นชมถึงความสวยงามกับความคิดสร้างสรรค์อย่างล้นหลาม แต่เรื่องยอดขายสวนทาง จนมาถึงผลงานที่ช่วยให้แจ้งเกิดเป็นธุรกิจอย่างจริงจัง นั่นคือ อุปกรณ์ลำโพงเสียบอุปกรณ์ดิจิตอล ทำจากแกลลอนนม และขวดพลาสติก
“ชุดลำโพงนี้เกิดจากที่แพรชอบหยิบของใกล้ตัวมาทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่นกัน ตอนนั้นที่บ้านมีแกลลอนใส่นมเหลือทิ้ง แพรเห็นว่ารูปทรงมันสวยดี พอดีแพรกำลังอยากได้ลำโพงเสียบสมาร์ทโฟนที่ไม่ต้องใส่ถ่าน ซึ่งแพรไม่มีความรู้เรื่องเครื่องเสียงมาก่อนเลย ก็อาศัยไปซื้อแถวบ้านหม้อ แล้วก็ถามคนขาย เลือกแบบที่คิดว่าพอใช้ได้ จากนั้นก็ลองใช้มีดคัตเตอร์ตัดเป็นช่องแล้วใส่ลำโพงเข้าไป มันก็ใช้งานได้จริง เลยเอาไปวางขาย ปรากฏว่า ลูกค้าตอบรับดีมาก รวมถึง มีการแชร์รูปต่อกันในออนไลน์ ทำให้ได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ” สาวน้อย เผย
เธอ เสริมต่อว่า ส่วนหนึ่งที่ผลงานชิ้นนี้ได้รับความนิยม เกิดจากตัวสินค้าตอบรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ได้อย่างดี สามารถพกติดตัวได้ง่าย โดยหลังจากใช้แกลลอนนมแล้ว ยังนำวัสดุอื่นๆ มาทำลำโพงด้วย ได้แก่ ขวดพลาสติก และกระติบข้าวเหนียว
ชื่อแบรนด์ว่า ‘RE+PAIR’ บ่งบอกจุดยืนของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ประกอบด้วยคำว่า “RE” มาจาก Recycle , Reused , Rethink ต้องการสื่อความหมายว่า เป็นการนำวัสดุต่างๆ มาคิดใหม่ สร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ๆ เมื่อมารวมกับคำว่า “PAIR” (แพร) ซึ่งเป็นชื่อเล่นของเธอเองแล้ว หมายถึงสร้างสรรค์โดยไอเดียของตัวเธอเอง
จากล้มๆ ลุกๆ ได้แต่กล่องไม่ค่อยได้เงินในช่วงแรก ปัจจุบัน แบรนด์ ‘RE+PAIR’ เริ่มปักหลักเป็นธุรกิจอย่างจริง มีช่องทางตลาดผ่านทางร้าน Loft , TCDC Shop , ECO Shop และผ่านออนไลน์ที่ www.repairbypair.com และเฟซบุ๊ก : repairproduct นอกจากนั้น ยังออกงานแฟร์ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึง รับผลิตตามออเดอร์ และเร็วๆ นี้กำลังเปิดหน้าร้านเป็นของตัวเอง
ผลิตภัณฑ์ ‘RE+PAIR’ มีหลากหลาย ทั้งหมดยังอยู่ภายใต้แนวคิดหลักที่นำวัสดุใกล้ตัวมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่แปลกและแตกต่างจากที่เคยเป็นมา เช่น โคมไฟกระติบ สมุดโน้ต D.I.Y ตะกร้าติดรถจักรยานทำจากกระติบ ฯลฯ ราคาส่วนใหญ่อยู่ที่หลักร้อยบาท เช่น ลำโพงแกลลอนนม 450 บาท เป็นต้น
ด้านการผลิต เดิมจะใช้เฉพาะวัสดุเหลือทิ้ง เมื่อมียอดขายสูงขึ้น เปลี่ยนมาใช้วิธีการสั่งวัสดุต่างๆ เพื่อควบคุมรูปแบบและมาตรฐานตามต้องการ ส่วนแรงงานมีทีมของตัวเอง ทำในรูปแบบกึ่งแฮนด์เมด โดยเฉลี่ยผลิตประมาณ 3,000 ชิ้นต่อเดือน ส่วนกลุ่มลูกค้าหลัก คือวัยรุ่น และชาวต่างชาติ
“ทุกวันนี้ แพรยังคงมองวัสดุรอบๆ ตัวตลอดเวลา เพื่อนำมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และไม่ลืมที่จะตั้งคำถามกับตัวเอง เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่ทำออกมาตรงกับความต้องการของลูกค้า อีกทั้ง พอเสร็จเป็นสินค้าต้นแบบแล้ว ก็จะนำไปออกงานแสดงสินค้าต่างๆ ก่อน เพื่อดูเสียงสะท้อน หากได้ผลตอบรับดี ค่อยผลิตออกสู่ตลาดอย่างจริงจัง เหล่านี้ เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่แพรได้จากความผิดพลาดที่ผ่านๆ มา” สาวน้อยคนเก่ง กล่าว
@@@@@@@@@@@@
ติดต่อ www.repairbypair.com และเฟซบุ๊ก : repairproduct
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *