กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จัดงบประมาณจำนวน 450 ล้านบาทช่วยผู้ประกอบการรายย่อย และโอทอป ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั่วประเทศ ปี 2556 โดยการพักชำระหนี้เดิม และขอกู้ใหม่ฟื้นฟูกิจการ คิดอกเบี้ยขั้นต่ำร้อยละ 1 ต่อปี ส่วนผู้ประกอบการรายที่ไม่เคยกู้ให้วงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 1
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs/OTOP ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ รับงบประมาณจำนวน 450 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย วิสาหกิจชุมชน และโอทอป ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั่วประเทศในปี 2556 โดยออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ และวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ด้วยการพักชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้เดิม หรือหากต้องการจะขอกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อฟื้นฟูกิจการก็สามารถขอรับบริการเพิ่มเติมได้อีก โดยจะคิดอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำเพียงร้อยละ 1 ต่อปี ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการที่ไม่เคยขอใช้บริการและอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวก็สามารถยื่นคำขอรับเงินกู้ได้ในวงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท โดยจะคิดอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 ต่อปีเช่นกัน
ทั้งนี้ กสอ.ได้มอบหมายให้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยเร่งลงพื้นที่สำรวจความเสียหายแล้ว โดยเบื้องต้นได้รับรายงานตัวเลขผู้ประกอบการ และวิสาหกิจชุมชนที่เป็นลูกหนี้ของ กสอ.แล้วจำนวน 179 ราย ซึ่งกระจายอยู่ในพื้นที่หลายจังหวัดทั่วประเทศ เช่น จังหวัดพิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี นครราชสีมา อุบลราชธานี นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สระบุรี ระยอง ปราจีนบุรี และสระแก้ว
โดยส่วนใหญ่ผู้ประกอบการ และวิสาหกิจชุมชนประสบปัญหาในด้านเครื่องจักร อุปกรณ์ วัตถุดิบ และสินค้าไม่สามารถใช้การได้ อันเนื่องมาจากปริมาณน้ำที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่สามารถป้องกัน เคลื่อนย้าย หรือเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุที่จะเกิดขึ้นได้
นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบทำให้ผู้ประกอบการ และวิสาหกิจชุมชนขาดแคลนรายได้จากการที่ต้องหยุดกิจการ รวมถึงแรงงานต่างๆ ก็ต้องหยุดดำเนินการตามไปด้วย อย่างไรก็ดี ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคต่างๆ ได้เร่งจัดทีมงานเข้าช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นบางส่วนแล้ว โดยเข้าไปช่วยดำเนินการจัดทำ 5 ส ภายในโรงงาน ทำความสะอาดพื้นที่กระบวนการผลิต ตรวจสอบเครื่องจักรและซ่อมแซมอุปกรณ์ให้กลับมาใช้งานได้ในสภาพเดิม รวมถึงช่วยเหลือเรื่องระบบการจัดการให้สามารถเร่งกลับมาดำเนินการผลิตสินค้าได้โดยเร็วต่อไป
โทร. 0-2202-4409-10 หรือศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคต่างๆ ทั่วประเทศ
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *