xs
xsm
sm
md
lg

‘เนเชอรัล ณิช’ ปลุกชีวิตเศษผ้า เกิดใหม่กระเป๋าเก๋ขั้นพรีเมียม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระเป๋าและเครื่องใช้ในบ้าน ‘เนเชอรัล ณิช’ (Natural Niche) โดดเด่นเรื่องดีไซน์สุดเฉียบ ผลงานนักออกแบบรุ่นใหม่ แถมมีคุณค่าด้วยการเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ทำจากวัสดุเศษผ้าเกรดเอ ที่ปกติจะนำไปทำผ้าม่าน หรือผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ โดยผลิตแฮนด์เมดในจำนวนจำกัด เพื่อกลุ่มผู้ใช้อยากได้ผลิตภัณฑ์ที่สวยงามและยังได้ช่วยโลกด้วย

ที่สำคัญ เบื้องหลังของผลิตภัณฑ์ คือ การปรับตัวเชิงธุรกิจของผู้ประกอบการโรงงานทอผ้าระดับเอสเอ็มอี ที่เดิม รับจ้างผลิต แต่ด้วยปัญหาถูกตัดราคา และคู่แข่งสูง จึงนำวัสดุที่เหลือทิ้งในโรงงานมาพัฒนาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ภายใต้แบรนด์ตัวเอง
ณัฐวัชร นิธิทองสกุล  กรรมการผู้จัดการ บริษัท เนเชอรัล ณิช จำกัด
ณัฐวัชร นิธิทองสกุล หรือ คุณเล็ก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เนเชอรัล ณิช จำกัด เล่าว่า พื้นฐานทำธุรกิจโรงงานทอผ้าขนาดย่อม รับจ้างทอผ้าแบบ OEM ให้แก่ผู้ผลิตรายใหญ่นำไปทำผลิตภัณฑ์ Home Textile ต่างๆ เช่น ผ้าม่าน และผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งในกระบวนการทอผ้า จำเป็นต้องทอให้เกินคำสั่งซื้อของลูกค้า ประมาณ 10% เพื่อป้องกันความผิดพลาด ซึ่งเดิมเศษผ้าเหล่านี้ จะกลายกองผ้าค้างสต๊อกจำนวนมาก จนที่สุดต้องยอมขายขาดทุน แบบชั่งกิโลกรัมให้แก่ย่างสำเพ็ง ซึ่งได้ราคาที่ต่ำมาก

นอกจากนั้น เนื่องจากผลิตแบบ OEM มักโดนโรงงานขนาดใหญ่จากจีน อินเดีย และเกาหลี เข้ามาแย่งชิงลูกค้า โดยอาศัยจุดเด่นเรื่องราคาต้นทุนที่ต่ำกว่า ทำให้ต้องเริ่มปรับตัว โดยนำเศษวัสดุผ้าทอที่เหลือ ซึ่งเป็นผ้าเส้นใยเกรดเอบวก มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ภายใต้แนวคิดให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม แบรนด์ตัวเองว่า ‘เนเชอรัล ณิช’ (Natural Niche)

เจ้าของธุรกิจ อธิบายเสริมว่า ในการคิดนำเศษผ้ามาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ มี ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษา นอกจากนั้น ยังเปิดโอกาสให้นักออกแบบรุ่นใหม่ เข้ามาแสดงฝีมือ โดยจะให้ทุน พร้อมกับอิสระทั้งด้านความคิด และวัสดุเศษผ้าต่างๆ ตามความพอใจ เพื่อจะนักออกแบบรุ่นใหม่สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่แปลกใหม่เป็นตัวของตัวเอง

สาเหตุที่ผมไม่ใช้วิธี จ้างนักออกแบบมืออาชีพ เพราะผมอยากจะให้โอกาสเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับการแนะนำจาก อ.สิงห์ (อินทรชูโต) ได้มีเวทีแสดงฝีมือของเขาเอง ซึ่งผมเชื่อว่าจะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์มากกว่า โดยผมจะเปิดโรงงานให้เด็กๆ เข้ามาเลือกใช้เศษผ้าได้ตามความพอใจ หลังจากนั้น เขาก็จะมาเสนอไอเดีย ซึ่งเราจะมาพูดคุยปรึกษาหารือกัน ถ้าคิดว่าผลิตภัณฑ์น่าจะขายได้ในตลาด ผมก็จะให้ทุนเป็นค่าแรงและค่าผลิตตัวต้นแบบ ซึ่งในกระบวนการต่างๆ ผมจะพยายามเข้าไปคลุกคลีกับพวกเขาตลอด เพื่อให้เด็กๆ มีกำลังใจ” หนุ่มใหญ่ใจดี อธิบายเสริม

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ ‘เนเชอรัล ณิช’ ยึดแนวทางเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco Product) อยู่บนหลัก 4R ได้แก่ การลด (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และการซ่อมบำรุง (Repair) โดยผลิตภัณฑ์แบ่งเป็น 2 หมวดหลัก ได้แก่ กลุ่ม Home Products เช่น หมอนหนุน หมอนอิง เป็นต้น และกลุ่มกระเป๋า ทั้งสำหรับสุภาพสตรี และบุรุษ นับถึงปัจจุบันมีประมาณ 30 รายการ ราคาอยู่ที่ชิ้นละหลักร้อยถึงหลักพันบาท

ในการออกแบบ เจ้าของธุรกิจ บอกว่า ให้อิสระแก่น้องๆ ดีไซน์เนอร์พันธุ์ใหม่เต็มที่ โดยรูปแบบที่ออกแบบจะมีเอกลักษณ์ เน้นสไตล์เรียบเก๋ ดูเป็นธรรมชาติ เหมาะแก่การใช้งานในชีวิตประจำวัน ด้วยวัสดุที่เป็นผ้าเกรดเอ เช่น ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน เป็นต้น ที่มักนำไปทำผ้าม่าน และผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ เมื่อมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในบ้านหรือกระเป๋า จึงมีความแข็งแรงทนทานสูงมาก ขณะที่ด้านการผลิต จะใช้พนักงานภายในโรงงาน ซึ่งมีพื้นฐานความรู้อยู่แล้ว โดยผลิตและตัดเย็บในรูปแบบแฮนด์เมด

นอกจากนั้น ด้วยเจตนาหลักที่ต้องการใช้เศษผ้าเหลือทิ้งเท่านั้น ทำให้การผลิตจะทำในปริมาณจำกัด เท่าที่มีวัสดุผ้าเหลือเท่านั้น โดยแต่ละแบบจะมีเพียงหลักร้อยชิ้นเท่านั้น จึงนับเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อตลาดลูกค้าเฉพาะเจาะจงอย่างแท้จริง

สำหรับช่องทางตลาดในเบื้องต้น อาศัยขายผ่านการออกงานแสดงผลิตภัณฑ์ ที่ผ่านไปเร็วๆ นี้ คือ งาน BIG+BIH ประกอบกับรับออเดอร์จากลูกค้า และทำตลาดผ่านออนไลน์

คุณเล็ก บอกด้วยว่า การนำเศษผ้าเหลือทิ้งมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง หักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว ช่วยเพิ่มมูลค่ามากกว่านำไปขายชั่งกิโลกรัมประมาณ 20-30% อีกทั้ง ยังเกิดประโยชน์ช่วยแก้ปัญหาเศษผ้าค้างสต๊อก ทำให้ประหยัดต้นทุนบริหารจัดการไปได้ด้วย

และที่สำคัญที่สุดยังเป็นการเปิดประตูสู่ธุรกิจใหม่ ซึ่งในอนาคตอาจจะก้าวมาเป็นธุรกิจหลักแทนก็ได้

“ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันธุรกิจโรงงานทอผ้า มีการแข่งขันสูงมาก ทั้งจากการขายตัดราคา และมีคู่แข่งรายใหม่เพิ่มขึ้นตลอด สำหรับโรงงานรับจ้างทอผ้าขนาดเล็กอย่างเรา นับวันจะแข่งขันได้ยากขึ้นเรื่อยๆ การพัฒนาเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ของแต่งบ้านและกระเป๋าในแบรนด์ของตัวเอง ผมคิดว่ามันเป็นการปูทางปรับตัวทางธุรกิจ ซึ่งในอนาคตมีความเป็นไปได้กว่า 70% ที่จะพัฒนาจนก้าวเป็นธุรกิจหลักของเราแทนธุรกิจรับจ้างทอผ้า” ณัฐวัชร กล่าวในตอนท้าย

@@@@@@@@@@@@@@@@

โทร.0-2875-3784 หรือ www.naturalniche.co.th

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น