สินค้าทางการเกษตรต่างๆ ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ในการส่งออกของประเทศไทยมายาวนาน แต่โลกการค้ายุคปัจจุบัน หากจะส่งพืชผลทางการเกษตร เฉพาะแค่เป็นวัตถุดิบย่อมได้มูลค่าไม่มากนัก รวมถึง ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลากหลาย เช่น อายุการเก็บรักษาสั้น ขนส่งลำบาก ภัยธรรมชาติ และการแข่งขันตัดราคา เป็นต้น ดังนั้น การเพิ่มค่าผลผลิตการเกษตรโดยเฉพาะกลุ่มอาหารในรูปแบบการแปรรูป จึงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญ และพยายามผลักดันอย่างเต็มที
หนึ่งในความพยายามเพิ่มมูลค่าอาหารด้วยการแปรรูปเป็นของบริษัท รอแยลแคนอินดัสทรีส์ จำกัด เอกชนผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะประเภทกระป๋อง โดยได้วิจัยและพัฒนา นำขนมไทยที่เรารู้จักกันดีอย่าง “ข้าวหลาม” มาผ่านกระบวนการแปรรูปแล้วบรรจุลงใน “กระป๋อง” เพื่อขยายตลาดส่งออกไปต่างประเทศ นอกจากนั้น ยังตามมาด้วยขนม “บ๊ะจ่าง” ที่บรรจุลงในกระป๋องเช่นเดียวกัน
สมโชค โปรยรุ่งโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท รอแยลแคนอินดัสทรีส์ จำกัด เล่าให้ฟังว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจหลักในการผลิตและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ต่างๆ มานานกว่า 30 ปี โดยเฉพาะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาบรรจุภัณฑ์กระป๋องสำหรับบรรจุอาหารให้แก่ผู้ผลิตอาหารแปรรูปเจ้าดังหลายราย ทั้งในและต่างประเทศ
จากการทำธุรกิจที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทฯ ต้องพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปอาหารต่างๆ เพื่อบรรจุลงกระป๋องให้แก่ลูกค้ารายต่างๆ ทำให้บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญและความพร้อมครบวงจร ทั้งด้านเครื่องจักร เทคโนโลยี ความรู้ และบุคลากร ทว่า ที่ผ่านมา ยังไม่เคยผลิตสินค้าอาหารแปรรูปภายใต้แบรนด์ของตัวเองเลย ดังนั้น ทางทีมผู้บริหารจึงได้หารือและลงมือทดลองที่จะแปรรูปอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง เพื่อบรรจุลงกระป๋อง เพื่อจะขยายไลน์ธุรกิจ ให้สอดคล้องกับการค้ายุคปัจจุบัน
“สาเหตุที่เราเลือกจะแปรรูปนำข้าวหลามมาบรรจุกระป๋อง เพราะเห็นว่า ยังไม่เคยมีมาก่อน และข้าวหลามที่วางขายในท้องตลาด ปัญหา คือ พกพาลำบาก กินยากเลอะมือ และอายุสั้น ไม่เกิน 1 เดือน จึงไม่เหมาะที่นักท่องเที่ยวจะซื้อกลับไปเป็นของฝาก เราจึงเริ่มวิจัยและพัฒนา แปรรูปเป็นข้าวหลามบรรจุกระป๋อง โดยมีเป้าหมายหลักต้องการเป็นสินค้าเพื่อการส่งออก สะดวกต่อการขนส่ง เหมาะเป็นสินค้าที่ระลึกของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวเอเชียที่นิยมข้าวหลามอยู่แล้ว” สมโชค กล่าว
รอง กก.ผจก. ระบุต่อว่า เทคโนโลยีด้านการแปรรูป ใช้วิธีเก็บในระบบสุญญากาศ เมื่อบรรจุข้าวหลามลงกระป๋องแล้ว ใช้วิธีดึงอากาศออกจากกระป๋อง ทำให้สามารถเก็บไว้ได้ในอุณหภูมิปกตินานถึง 3 ปี โดยแต่ละกระป๋องมีน้ำหนัก 75 กรัม ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะแก่การขนส่ง และพกพาได้สะดวก และขนาดเหมาะสำหรับหนึ่งคนที่จะพกติดตัวไปกินได้ทุกทีทุกเวลา
ส่วนด้านรสชาตินั้น ได้มีทีมวิจัยและพัฒนาของตัวเอง จนได้รสที่เชื่อว่าใกล้เคียงกับข้าวหลามต้นตำรับมากที่สุด โดยเน้นให้มีความหอมมันของกะทิ โดยมองตลาดเป้าหมายไว้ที่การส่งออกต่างประเทศ และขายเป็นสินค้าของฝากสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเมืองไทย
“สำหรับตลาดในประเทศ คนไทยสามารถหากินข้าวหลามได้ง่ายอยู่แล้ว ข้าวหลามบรรจุกระป๋องจึงอาจไม่ใช่สินค้าจำเป็น ดังนั้น เราจึงวางตลาดหลักไว้เพื่อการส่งออก ซึ่งแม้รสชาติอาจจะไม่เหมือนข้าวหลามจากกระบอกไม้ไผ่แท้ๆ แต่สำหรับคนที่อยู่ต่างประเทศ ก็สามารถทดแทนได้อย่างดี” สมโชค ระบุ
นอกจากข้าวหลามแล้ว ทางทีมงานวิจัยและพัฒนายังได้แปรรูปขนมอย่าง “บ๊ะจ่าง” ด้วย โดยรูปแบบ แนวคิด ตลอดจนวิธีการแปรรูปเหมือนกับการแปรรูปข้าวหลามบรรจุกระป๋อง โดยเบื้องต้นทั้งข้าวหลามและบ๊ะจ่างบรรจุกระป๋องได้เริ่มทดลองทำตลาด ในขนาดกระป๋องละ 75 กรัม ราคาขายกระป๋องละ 25 บาท
สมโชค อธิบายต่อว่า เบื้องต้นใช้วิธีแนะนำสินค้าผ่านการส่งเข้าประกวดตามงานนวัตกรรมต่างๆ โดยที่ผ่านได้รับรางวัล SME Thailand Inno Awards 2013 ในสาขาโดดเด่นด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ นอกจากนั้น อาศัยออกงานแสดงสินค้าต่างๆ เพื่อแนะนำสินค้า รวมถึง ดูกระแสการตอบรับจากลูกค้าโดยตรง เพื่อนำมาแก้ไขและปรับปรุง สำหรับจะผลิตเพื่อวางตลาดอย่างจริงจังในอนาคตต่อไป
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *