เผยเวที APEC SME กระตุ้นสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสตรี เพราะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ระบุเน้นหาเครื่องมือจูงหาแหล่งทุน และพัฒนาศักยภาพ อีกทั้งเตรียมใช้ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปก ในปี 2559 และริเริ่มความร่วมมือขจัดอุปสรรคทางกฎหมายให้ SMEs สร้างโอกาสการค้าระหว่างประเทศ
นายปิยะชนก ลิมปะพันธุ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการเข้าร่วมประชุม APEC SME Ministerial Meeting ครั้งที่ 20 การประชุม APEC Joint Ministerial Meeting on Small and Medium Enterprises and Women ครั้งที่ 1 เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุม ณ เมืองนูซา ดัว บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2556 ที่ผ่านมา การประชุมดังกล่าวนับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการกำหนดแนวทางการพัฒนา SME ของไทย และนานาประเทศ
โดยที่ประชุมได้มุ่งให้ความสำคัญต่อผู้ประกอบการ SMEs สตรีในภูมิภาคเอเปก รวมถึงการยกระดับความสามารถในการแข่งของ SMEs ในตลาดโลก โดยสร้างความร่วมมือเพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนาของเขตเศรษฐกิจสมาชิกอย่างเป็นระบบ ส่งเสริม SMEs ที่เน้นนวัตกรรม และสนับสนุนจรรยาบรรณทางธุรกิจเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ในตลาดโลก รวมถึงการพัฒนาการเป็นผู้ประกอบการ การขยายโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน การพัฒนาศักยภาพเพื่อเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ และการช่วยเหลือ SMEs ในการฟื้นคืนสภาพหลังประสบภัยพิบัติ
“ในการประชุมครั้งนี้ ทำให้รู้ว่านโยบายการสนับสนุน SMEs ของไทย สอดคล้องกับนานาประเทศในกลุ่มเอเปก ทั้งเรื่องการสร้าง และสนับสนุน SMEs ให้เข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียวด้วยการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มุ่งการส่งเสริมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเราได้นำเสนอในการประชุมครั้งนี้ และการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs สตรี ที่รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญด้วยการจัดตั้งกองทุนพัฒนาสตรีขึ้น เพื่อให้สตรีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสร้างเครือข่ายได้มากยิ่ง ซึ่งช่วยลดปัญหาที่ผู้ประกอบการ SMEs สตรี ประสบอยู่ในขณะนี้” นายปิยะชนก กล่าว
ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการ SMEs ในภูมิภาคเอเปก มีสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ของธุรกิจทั้งหมด ซึ่งมีบทบาททั้งในด้านการจ้างงาน การผลิต การพัฒนาท้องถิ่นและนวัตกรรม ขณะที่ประเทศไทยมีผู้ประกอบการสตรีเพิ่มมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วง 3 ปีหลัง ผู้ประกอบการสตรีมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าผู้ประกอบการบุรุษ ขณะที่มาเลเซียร้อยละ 19.7 ของธุรกิจ SME มีสตรีเป็นเจ้าของ ซึ่งแผนพัฒนาฉบับที่ 10 ของมาเลเซียมีโครงการสนับสนุนบทบาทสตรีที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และภาคเอกชนถึง 155 โครงการ ขณะที่ไชนีส ไทยเป มีโครงการเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการสตรี หรือ Phoenix Loan เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา ที่มีเงินกู้แบบพิเศษสำหรับสตรี ฯลฯ
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีความเห็นที่จะช่วยกันหาวิธีการให้ผู้ประกอบการสตรี สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Venture Capital หรือ Angel Capital ฯลฯ รวมถึงสนับสนุนความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการสตรีในเอเปก โดยการสร้างวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการเป็นผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ ไทยยังร่วมประชุมระดับทวิภาคีกับญี่ปุ่น และไชนีส ไทยเป โดยในส่วนของญี่ปุ่น ขอให้ไทย สนับสนุนการดำเนินกิจกรรม SME Overseas Business Support Platforms ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือของผู้ประกอบการญี่ปุ่นในต่างประเทศ และขอให้ไทยเป็นช่องทางการกระจายสินค้า และบริการของญี่ปุ่นสู่อาเซียนภายหลังการเข้าสู่ AEC รวมถึงการผ่อนปรนกฎระเบียบต่างๆ ด้านการค้าการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการญี่ปุ่นในไทย และพิจารณาลดบัญชีสินค้าอ่อนไหวในข้อตกลง Information Technology Agreement โดยขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการประสานหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว ขณะที่ไชนีส ไทยเป ซึ่งดำเนินโครงการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการและโครงการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการในการรับมือภัยพิบัติต่างๆ ที่จะเป็นแม่แบบในการกระจายไปสู่กลุ่มเอเปก จะสานต่อความร่วมมือในการดำเนินโครงการดังกล่าวกับประเทศไทยเป็นลำดับต้นๆ
ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในฐานะประธานคณะทำงาน APEC SME Working Group ครั้งที่ 37 เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยได้ริเริ่มนำการประเมินสุขภาพของ SMEs ในภูมิภาคเอเปก เข้ามาใช้เพื่อประเมินและติดตามความเป็นไปของ SMEs โดยใช้ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจต่างๆ (APEC SME Monitoring Index) ซึ่งการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการใช้ดัชนีชี้วัด ได้แก่ ร้อยละของ SMEs ต่อ GDP ร้อยละของ SMEs ต่อจำนวนธุรกิจทั้งหมด ร้อยละของ SMEs ต่อการจ้างงาน และร้อยละของ SMEs ต่อการส่งออก ซึ่งภายในปี 2559 คณะทำงานฯ จะร่วมกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก จัดทำดัชนีที่มีการใช้ตัวชี้วัดที่แม่นยำ มีประสิทธิภาพ และสามารถสะท้อนความสามารถของ SMEs ในการออกสู่สากล นอกจากนี้ ยังได้ริเริ่มความร่วมมือกับประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายเพื่อ SMEs เพื่อการส่งออกจาก Inter-Pacific Bars Association (IPBA) ในการขจัดอุปสรรคทางกฎหมายที่ SMEs อาจต้องเผชิญ เช่น ความช่วยเหลือในการจัดทำข้อมูลเครือข่ายนักกฎหมายสำหรับ SMEs
สำหรับการประชุมครั้งนี้ ผู้แทนฝ่ายไทย คือ ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานคณะ APEC SME Working Group (วาระ 2 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2557) ได้รับการชื่นชมอย่างมากจากผู้แทนของประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมประชุม ทั้งในด้านความรู้ความสามารถ การทุ่มเทต่อหน้าที่ และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำงานของคณะทำงานเอเปกเอสเอ็มอี ทั้งนี้ การประชุม APEC SME Ministerial Meeting ครั้งต่อไป ซึ่งเป็นครั้งที่ 21 จะจัดในเดือนกันยายน 2557 ณ กรุงหนานจิง ประเทศจีน และการประชุม APEC SME Working Group ครั้งที่ 38 จะจัดในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน 2557 ณ เมืองไทจง ไต้หวัน
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *