สสว.จับมือ 13 หน่วยงานเอกชนด้านการเงิน ตลาด และไอที สร้างเครือข่ายการสนับสนุนเอสเอ็มอีไทยแบบครบวงจร ระบุเพิ่มศักยภาพทั้งด้านความรู้ การตลาด และสิทธิประโยชน์ด้านการสื่อสาร ด้านรองผู้อำนวยการ สสว.ระบุต้องการสร้างต้นแบบแชร์ฐานข้อมูลเพื่อสร้างเครือข่ายกระจายความช่วยเหลือให้ทั่วถึง
นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ระหว่างสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กับหน่วยงานเอกชน 13 หน่วยงานว่า ความร่วมมือดังกล่าว สสว.จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางสร้างเครือข่ายความช่วยเหลือไปสู่เอสเอ็มอีในทุกๆ ด้าน โดยเอสเอ็มอีเพียงแค่ติดต่อเข้ามาขอความช่วยเหลือหรือคำแนะนำจาก สสว.หรือหน่วยงานพันธมิตรรายใดก็ได้ จะได้รับความช่วยเหลือทั้งทางตรง และทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทั้งด้านการเงิน การตลาด เทคโนโลยี ความรู้เฉพาะทางแบบเจาะลึก ช่องทางประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ไปสู่ผู้ประกอบการ กิจกรรมจับคู่ธุรกิจ ตลอดจนได้รับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ
สำหรับ 13 หน่วยงานภาคเอกชน ประกอบด้วย ด้านสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งจะเน้นให้การสนับสนุนด้านเงินทุนสินเชื่อ และความรู้ด้านการเงิน
หน่วยงานด้านการดำเนินการค้า ได้แก่ บริษัท ล็อกซ์เล่ย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เน้นส่งเสริมด้านการตลาด จับคู่ธุรกิจ ตลอดจนการขยายตลาดทั้งใน และต่างประเทศ
หน่วยงานด้านการสื่อสาร สารสนเทศ ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เทเลอินโฟมีเดีย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไอโมบาย พลัส จำกัด บริษัท โกลบอล โปร บิซิเนสส์ โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ตลาด ดอท คอม จำกัด และบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เน้นให้ความรู้ด้านการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาธุรกิจทั้งด้านการตลาดและบริหารองค์กร ตลอดจนจัดหาสิทธิประโยชน์ต่างๆ ด้านการสื่อสารให้แก่เอสเอ็มอีที่เข้ามาร่วมโครงการ
ด้าน ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ สสว. อธิบายถึงรายละเอียดความร่วมมือระหว่าง สสว.กับ 13 หน่วยงานเอกชนว่า สสว.จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานความช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยจะอาศัยฐานข้อมูลเอสเอ็มอีของหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามาอยู่ร่วมกัน เพื่อสร้างเครือข่ายความช่วยเหลือให้ครอบคลุมครบถ้วนมากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานภาคเอกชนมักจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีตามแต่ความถนัดของตัวเอง และจะช่วยเหลือเฉพาะเอสเอ็มอีที่อยู่ในฐานข้อมูลของตัวเอง แต่ความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้สามารถนำฐานข้อมูลเอสเอ็มอีของภาคเอกชนแต่ละรายมาอยู่รวมกันเพื่อจะเกิดการแบ่งปันความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
นอกจากนั้น สามารถส่งต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีข้ามไปยังหน่วยงานพันธมิตรที่เชี่ยวชาญโดยตรงมากกว่า เช่น ทางเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพสามารถได้รับการส่งเสริมเข้าไปสู่ศูนย์กระจายสินค้าของบริษัท ล็อกซ์เล่ย์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เพื่อขยายตลาดในต่างประเทศ เป็นต้น
อีกทั้งจากที่ สสว.ได้เคยไปอบรมความรู้ให้แก่หน่วยงาน หรือสมาคมธุรกิจต่างๆ ทางผู้ประกอบการมีความต้องการให้มีการอบรมในเชิงลึกเฉพาะทาง ซึ่งจากโครงการนี้จะช่วยให้ สสว.สามารถประสานไปยังหน่วยงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางจริงๆ เพื่อส่งผู้เชี่ยวชาญไปให้ความรู้เชิงลึกโดยตรงสู่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
ดร.วิมลกานต์กล่าวต่อว่า แนวทางความร่วมมือครั้งนี้ สสว.ต้องการให้ต้นแบบของความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายการบริการที่ครอบคลุมทั่วถึง โดยแบ่งปันฐานข้อมูลเดียวกัน ซึ่งปัจจุบัน สสว.มีฐานข้อมูลเอสเอ็มอีที่เป็นสมาชิกอยู่ราว 40,000 ราย แต่จากความร่วมมือครั้งนี้เชื่อว่าจะทำให้ฐานข้อมูลเพิ่มมากยิ่งขึ้น และในอนาคตทาง สสว.จะขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานเอกชนอื่นๆ ต่อไป
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *