xs
xsm
sm
md
lg

สสว.ชี้ เอสเอ็มอีไทยพร้อมก้าวสู่ AECเพียง 18,000 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผอ.สสว.
รองผอ.สสว. เผยถึงผลกระทบการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC คาดมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สามารถแข่งขันได้เพียง 18,000 ราย จากเอสเอ็มอีทั้งหมดกว่า 3 ล้านราย สาเหตุมาจากเอสเอ็มอีไทยขาดทักษะความรู้หลายด้าน ทั้งด้านภาษา การตลาด และคนไทยยังขาดเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อปรับผลิตภัณฑ์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงโลก

ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลกระทบของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทย เมื่อมีการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวน 3 ล้านราย ที่มีการขึ้นทะเบียน เป็นผู้ประกอบการ และในจำนวนนี้ มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สามารถแข่งขันและประสบความสำเร็จ หรือไปรอดหลังเปิด AEC ในปี 2558 เพียง 18,000 ราย เท่านั้น

สาเหตุสืบเนื่องมาจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการส่งเสริมและมีความรู้ เรื่องการบริหารจัดการด้านการตลาดอย่างมืออาชีพ รวมไปถึงขาดการพัฒนาด้านทักษะภาษาอังกฤษ และภาษาประเทศเพื่อนบ้าน และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงไม่ปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้มีความเป็นสากล และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และเพื่อเตรียมความพร้อมดังกล่าว

ดร.วิมลกานต์ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ผู้ประกอบการยังขาดทักษะในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้มีคุณภาพมากขึ้น เนื่องจาก ต้องอาศัยเงินทุน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของไทยมีค่อนข้างสูง และกู้ยาก จึงส่งผลทำให้การส่งออกไปยังต่างประเทศก็ยากไปด้วย

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแต่ละประเภท จะต้องมีการรวมกลุ่มกันเพื่อช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพราะในอนาคตหากมีกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีต่างชาติเข้า อาจจะส่งผลกระทบก่อให้เกิดการแข่งขันด้านการตลาดมากขึ้น และสิ่งที่ตามมาคือ ธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยอาจจะไม่สามารถแข่งขันได้ และอาจจะต้องเลิกกิจการไป แต่ทั้งนี้ หากต่างชาติเข้ามา ซึ่งอาจจะมีข้อดี เพราะจะเป็นช่องทางสอนงานได้อีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการรวมกลุ่มอาเซียน ทุกประเทศในอาเซียนจะต้องช่วยกันพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีในอาเซียนให้สามารถแข่งขันในเวทีระดับโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการส่งออก การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การแก้ไขอัตราดอกเบี้ย หรือภาษี ให้ไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงการลดข้อบังคับบางอย่างที่เป็นการปิดกั้นการค้า
กำลังโหลดความคิดเห็น