xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ยางพาราไทยด้อยพัฒนา กสอ.ชู 4 กลยุทธ์ปลุกแปรรูปเพิ่มค่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กสอ.ชี้อุตสาหกรรมยางพาราไทย 90% ยังทำในลักษณะต้นน้ำ เน้นผลิตแค่ยางแผ่นทำให้ขายได้มูลค่าต่ำ ส่วนผลิตแบบกลางน้ำและปลายน้ำแค่ 10% เท่านั้น แจงเร่งกระตุ้น 4 กลยุทธ์เพิ่มค่าปั้นสินค้าแปรรูปจากยางพารา ชี้เป็นกุญแจสำคัญสร้างมูลค่าสู้ศึก AEC
นายโสภณ ผลประสิทธิ์อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรม (กสอ.)
นายโสภณ ผลประสิทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมยางในประเทศไทยกว่า 90% เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ คือ ทำยางแผง ส่วนอีก 10% เป็นอุตสาหกรรมกลางน้ำและอุตสาหกรรมปลายน้ำ โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้ ได้แก่ สงขลา พัทลุง ตรัง สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ขณะที่ กสอ.มีหน้าที่หลักในการส่งเสริมอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยในปี 2556 กสอ.นำ 4 กลยุทธ์มาใช้ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพาราไทยเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศไทยสามารถพัฒนาศักยภาพเพื่อการแข่งขันได้ในตลาดโลก และสามารถส่งเสริมผู้ประกอบการรวมกว่า 130 ราย โดยรายละเอียด 4 กลยุทธ์ ประกอบไปด้วย

1. การส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางเป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่ม มีนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยางเข้าสู่ตลาดมากขึ้น เช่น ส่งเสริมให้มีการพัฒนาเฟอร์นิเจอร์จากไม้ยาง การออกแบบผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ เป็นต้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางของไทยในกลุ่มประเทศอาเซียน

2. การจัดการรวมกลุ่มเครือข่ายอุตสาหกรรมยางเพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งหมดได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ เพื่อนำมาพัฒนาอุตสาหกรรมของตนเองทั้งในด้านการบริหารจัดการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงกระบวนการผลิตที่แต่ละอุตสาหกรรมใช้ด้วย

3. การพัฒนาความเชื่อมโยงของระบบ ERP และ IT ในอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง โดยระบบ ERP เป็นระบบการจัดการข้อมูลสารสนเทศที่มีความเชื่อมโยงกันในองค์กร เช่น ฝ่ายการผลิต ฝ่ายการตลาด ฝ่ายขาย ฝ่ายการเงิน และฝ่ายลอจิสติกส์ เป็นต้น เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ละฝ่ายสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยตรง ซึ่งระบบดังกล่าวจะเน้นใช้ในอุตสาหกรรม SMEs ทั้งนี้ กสอ.ได้มีการพัฒนาระบบให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของผู้ประกอบการแต่ละราย และเข้าไปดำเนินงานติดตั้งระบบรวมถึงการอบรมการใช้งานระบบให้แก่ผู้ปฏิบัติงานด้วย

4. การพัฒนาสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง โดย กสอ.ได้ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ถูกต้องตามมาตรฐาน ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม ป้องกันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งเป็นการลดต้นทุนการผลิตด้วย อาทิ การพัฒนาบ่อพักน้ำยางไม่ให้ทำลายสภาพแวดล้อมทั้งภายในโรงงานและภายนอกโรงงานที่อาจมีผลต่อชุมชนด้วย

นายโสภณกล่าวถึงข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยางในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ว่า ปัจจุบันประเทศมาเลเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางมีอัตราการเติบโตสูงมาก และมีมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย ซึ่งเป็นคู่แข่งที่สำคัญของประเทศไทย โดยอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศมาเลเซียส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมกลางน้ำและอุตสาหกรรมปลายน้ำ ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียมีนโยบายชัดเจนที่จะส่งเสริมเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง ดังนั้น กสอ.จึงได้มีการเร่งพัฒนาแผนพัฒนาอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางผ่านนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำมากขึ้น เช่น การผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ยาง ยางรถยนต์ และถุงมือยาง ฯลฯ

นอกจากนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ กสอ.กำหนดจัดงาน “มหกรรมแสดงสินค้ายางพารา” (Rubber Products Expo) ครั้งที่ 3 เพื่อยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับอาเซียน และระดับโลก

สำหรับอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมาก นำรายได้เข้าสู่ประเทศมีมูลค่ากว่า 529,973.61 ล้านบาทแล้ว และยังเป็นอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศกว่า 6 ล้านคน

ทั้งนี้ ในปี 2554 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกต้นยาง 18,461,231 ไร่ โดยแบ่งเป็น ภาคเหนือ 867,402 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3,477,303 ไร่ ภาคกลางและภาคตะวันออกรวม 2,209,644 ไร่ และภาคใต้ 11,906,882 ไร่ และนับตั้งแต่ปี 2534 ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางธรรมชาติอันดับ 1 ของโลก โดยในปี 2555 ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตและส่งออกยางธรรมชาติกว่า 1 ใน 3 ของปริมาณการส่งออกยางทั้งหมดทั่วโลก หรือ 2,998.89 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 270,153.85 ล้านบาท

สำหรับยางธรรมชาติที่มีการผลิตและส่งออกของไทยแบ่งเป็น 5 ชนิด ได้แก่ น้ำยาง ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และยางธรรมชาติอื่นๆ โดยผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากยางพาราได้แก่ ยางรถยนต์ ยางรถจักรยานยนต์ ยางรถจักรยาน ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ยางรัดของ และท่อยางต่างๆ เป็นต้น เพื่อส่งออกไปยังตลาดยางธรรมชาติหลักของไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐฯ มาเลเซีย เกาหลีใต้ และยุโรป เป็นต้น

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น