ความร่วมมือของสถาบันการศึกษากับชาวบ้านถือเป็นส่วนผสมที่ลงตัว จากฝ่ายหนึ่งมีองค์ความรู้ อีกฝ่ายมีประสบการณ์และภูมิปัญญาที่สั่งสมมานาน ก่อเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า เฉกเช่น ขี้เลื่อยด้อยค่า แปลงโฉมเป็นขี้ไต้ ถ่านอัดแท่ง ทำขาย-ใช้ในชุมชน
ซากตอไม้ที่ถูกน้ำท่วมจมมิดนอนนิ่งสนิทอยู่ใต้เขื่อนสิรินธร อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ถูกชาวบ้านดำน้ำลงไปตัด และนำไม้เหล่านั้นมาต่อยอดเป็นเฟอร์นิเจอร์ขายในชุมชนและละแวกใกล้เคียง สร้างรายได้ไม่น้อย โดยไม้เหล่านี้ชาวบ้านไม่ต้องซื้อหา อาศัยเพียงต้นทุนในการต่อแพแบบง่าย อุปกรณ์ดำน้ำที่หาซื้อได้ทั่วไป อย่างสายยาง และแรงกายที่ต้องลงไปดำน้ำลึกกว่า 30 เมตรเพื่อตัดและชักลากตอไม้ขึ้นจากน้ำ ซึ่งมาจากการสร้างเขื่อนบนผืนป่าตั้งแต่ปี 2510 ที่ผ่านมา
อาชีพนี้เป็นบทพิสูจน์ความไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาของชาวบ้านที่จำใจย้ายออกจากถิ่นฐานเดิม เพราะที่อยู่อาศัยตั้งอยู่ในแนวสันเขื่อนต้องอพยพออกมาอยู่ในผืนดินที่รัฐบาลจัดสรรให้ ไม่เพียงแค่ “บ้าน” จะหายไปเท่านั้น แต่แหล่งทำกินก็สูญหายไปพร้อมกับผืนป่า ชาวบ้านต้องดิ้นรนหาอาชีพใหม่ สุดท้ายมาลงตัวที่ “การผลิตเฟอร์นิเจอร์ซากไม้ และทำขนมหวานไทย” เป็นอาชีพหลัก ต่อมาก็พัฒนาไปอีก 10 อาชีพ ที่ล้วนอาศัยทรัพยากรในท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่า
แต่การทำธุรกิจเหล่านี้ก็มีปัญหาเกิดขึ้น คือปริมาณขี้เลื่อยจำนวนมาก กับเศษกะลามะพร้าวจากการทำขนมหวาน ชาวบ้านนำมาทำเป็นปุ๋ยบ้าง ถมที่นาบ้าง หรือขายในราคาถูก ทั้งๆ ที่สามารถนำมาเพิ่มมูลค่าได้มากกว่านั้น
ประจวบเหมาะกับกระดาษทรายของนักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่มีการนำทรายจากลำน้ำมูลมาทำเป็นกระดาษทราย โดยพบว่าเหมาะต่องานไม้มากกว่างานเหล็ก จึงต้องการทดสอบผลิตภัณฑ์ด้วยการหาแหล่งงานไม้ของชาวบ้านเพื่อทำการทดสอบ ซึ่งหมู่บ้านเรียงแถวใต้ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี เป็นหมู่บ้านเป้าหมาย แต่เมื่อได้ลงพื้นที่จริงทั้งอาจารย์และนักศึกษากลับเจอปัญหาและความต้องการของชาวบ้านที่มากกว่านั้น
ปัญหาเศษวัสดุที่ได้จากการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ และกะลาที่เหลือจากการทำขนมหวาน กลับกลายเป็นความกังวลของชาวบ้านที่นับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ซากไม้ ที่มีเศษขี้เลื่อยจากขั้นตอนการขัดเงาถึง 30 ตัน/เดือน ส่วนกะลามะพร้าวที่เหลือจากกระบวนการผลิตขนมหวานมีประมาณ 100 ชิ้น/วัน และมีปริมาณเพิ่มเป็นเท่าตัวในช่วงประเพณีวันสำคัญต่างๆ เฉลี่ย 10 ตัน/เดือน
ดังนั้น “ดร.จริยาภรณ์ อุ่นวงษ์” หัวหน้าโครงการ และทีมวิจัยชุมชนหมู่บ้านเรียงแถวใต้ ในโครงการ “รูปแบบการสร้างมูลค่าเพิ่มวัสดุเหลือใช้จากผลิตภัณฑ์ชุมชน หมู่บ้านเรียงแถวใต้ ตำบลนิคมลำโดมน้อย อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี” จึงได้ลงพื้นที่ศึกษากระบวนการสร้างมูลค่าพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ในชุมชน คือ เศษไม้ กะลา และขี้เลื่อย แปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็น “เชื้อไฟสมุนไพรปลอดสารพิษ” (ขี้ไต้) และ “ถ่านอัดแท่ง” ด้วยรูปแบบการวิจัยพัฒนาเชิงพื้นที่ เน้นทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยกับชุมชน สามารถสร้างเศรษฐกิจและอาชีพ พร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนได้อย่างแท้จริง
“การทำวิจัยในพื้นที่ที่เราร่วมกับชาวบ้านนั้นถือเป็นผลงานที่ช่วยแก้ปัญหาของชาวบ้านได้ตรงตามความต้องการ เพราะการนำขี้เลื่อย และเศษกะลามะพร้าวมาทำเป็นขี้ไต้และถ่านอัดแท่ง ตรงกับวิถีชาวบ้านที่หุงหาอาหารด้วยเตาถ่าน โดยที่ผ่านมาใช้ยางในรถจักรยานยนต์เป็นเชื้อเพลิงก่อให้เกิดมลพิษและควันฟุ้งกระจายเป็นบริเวณกว้าง ดังนั้น เมื่อนำขี้เลื่อยมาแปรรูปเป็นขี้ไต้ ชาวบ้านก็นำเศษกระดาษเหลือใช้มาห่อคล้ายกาละแมเพื่อสะดวกต่อการใช้งาน ส่วนกะลามะพร้าวก็นำมาทำเป็นถ่านอัดแท่ง ผสมกับขี้เถ้าที่เหลือจากการหุงต้ม เป็นการนำเศษวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่โดยไม่ต้องตัดต้นไม้เพื่อนำมาเผาถ่าน เป็นต้น”
ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นกับการร่วมมือกันระหว่างนักวิชาการกับชาวบ้านที่นำเอาความต้องการและปัญหาของชาวบ้านเป็นที่ตั้ง กลายเป็นที่มาของการแก้ปัญหาชุมชน ฟื้นชีวิตความเป็นที่อยู่ที่ดีขึ้นแก่ชาวบ้านได้อย่างยั่งยืน
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *