ลืมภาพผ้าทอโบราณแค่เป็น “ผืน” ไปได้เลย เมื่อเห็นผลงานของห้างหุ้นส่วนจำกัด บัวผัดแฟคทอรี่ แบรนด์ “บัวผัด” (BUABHAT) เอสเอ็มอี จ.เชียงใหม่ ที่พัฒนาสินค้าก้าวตามทันกระแสโลก และไลฟ์สไตล์ของลูกค้า โดยนำภูมิปัญญาล้านนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้และเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์จำลองธรรมชาติ ถือเป็นคำตอบช่วยให้ผู้ผลิตผ้าทอรายนี้ไม่ถูกกลืนหายไปตามยุคสมัย
วิไล ไพจิตรกาญจนกุล หัวเรือใหญ่ทำธุรกิจนี้มากว่า 25 ปี จากจุดเริ่มต้นพ่อเป็นครูสอนทอผ้าใน จ.เชียงใหม่ ทำให้คลุกคลีงานผ้าทอพื้นบ้านมาโดยตลอด กระทั่งเลือกมาทำธุรกิจเปิดโรงงานผลิตผ้าทอของตัวเองเมื่อปี 2530 และได้ต่อยอดสร้างสรรค์สินค้าผ้าทอที่แปลกใหม่ หลากหลายไม่ซ้ำใครอย่างต่อเนื่อง จนสามารถก้าวไปสู่ตลาดส่งออก
“รูปแบบการใช้ชีวิตของคนเปลี่ยนไป สินค้าของเราก็ต้องปรับตามด้วย โดยพัฒนามาเรื่อยๆ จากงานผ้าทอก็ปรับเป็นหมอน พรม ของแต่งบ้านต่างๆ เป็นต้น โดยจุดเด่นคือ ยังคงยึดใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเหมือนเดิม ซึ่งคนเชียงใหม่มีฝีมือทอพื้นและหัวศิลปะติดตัวอยู่แล้ว แต่เรามาเสริมดีไซน์ที่เน้นความเป็นธรรมชาติใกล้ตัวเข้าไป สะท้อนถึงท้องถิ่นภาคเหนือ ทำให้สินค้าสะดุดตาลูกค้า”
เจ้าของธุรกิจเสริมอีกว่า ส่วนใหญ่จะออกแบบเอง โดยใช้เทคนิคทอผ้าหรือปักผ้าที่คนภาคเหนือคุ้นเคยดีอยู่แล้ว อย่างงานผ้าปักที่ทั่วไปอาจจะเห็นนำไปทำเป็นพรมเช็ดเท้า แต่ “บัวผัด” นำมาใส่ดีไซน์จำลองเป็นธรรมชาติใกล้ตัว เช่น ทำลักษณะเป็น “ต้นเกว๋น” ต้นไม้ประจำภาคเหนือ สร้างสรรค์เป็นชุดเก้าอี้ หรือนำผ้าปักมาทำลักษณะคล้ายก้อนหิน หรือตอไม้ ใช้งานเป็นพรม หรือวอลล์อาร์ต เป็นต้น ทั้งหมดช่วยเพิ่มความโดดเด่นและมูลค่าให้แก่สินค้า
ด้วยดีไซน์มีเอกลักษณ์ดังกล่าว ผลงานของ “บัวผัด” เคยคว้ารางวัลด้านดีไซน์มาแล้วมากมายทั้งใน และต่างประเทศ นอกจากนั้นยังตอบโจทย์ลูกค้าหลักที่เป็นตลาดต่างประเทศ ด้วยการให้ความสำคัญเรื่องสินค้าเพื่อโลก โดยสีย้อมผ้าใช้สีที่ไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง และมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ส่วนแรงงานผลิตเป็นกลุ่มแม่บ้านในท้องถิ่นประจำ 30 คน กับเครือข่ายเกือบร้อยที่จะคอยป้อนงานให้เสมอ ด้านวิธีทำตลาด เน้นการออกงานแสดงสินค้าทั้งใน และต่างประเทศ ลูกค้าหลักกว่า 70% จะส่งออกไปยังประเทศแถบยุโรป และออสเตรเลีย ส่วนลูกค้าในประเทศส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มโรงแรม และรีสอร์ต รวมถึงนักท่องเที่ยวที่มาซื้อสินค้าหน้าร้านที่ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่
วิไลยอมรับว่า การแข่งขันของเอสเอ็มอีไทยบนเวทีส่งออกในปัจจุบันคงไม่สามารถชูจุดเด่นเรื่องราคาถูกได้อีกต่อไป ดังนั้น สิ่งสำคัญผู้ประกอบการแต่ละรายต้องพยายามสร้างสรรค์สินค้าที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ยากต่อการลอกเลียนแบบ ควบคู่กับการสร้างแบรนด์เพื่อจะขายสินค้าเป็นรายชิ้นได้ในราคาสูง ซึ่งความเป็นจริงแล้วนับเป็นเรื่องยากที่จะทำได้ แต่ก็จำเป็นต้องทำ
“การจะเพิ่มมูลค่า นอกจากสินค้าของเราจะต้องมีคุณภาพดีที่สุดแล้ว ต้องทำให้ลูกค้าเข้าใจและประทับใจ ดังนั้น การนำเสนอสินค้าก็เป็นสิ่งสำคัญ อย่างโรงงานของเราที่เชียงใหม่ลูกค้าจะได้ชมกระบวนการทอผ้า ปักผ้า และประวัติความเป็นมา ทำให้เห็นคุณค่าของสินค้าแต่ละตัว”
วิไลตบท้ายถึงหลักคิดส่วนตัวในการทำธุรกิจ ต้องหมั่นเติมความรู้เพื่อสร้างสรรค์ผลงานใหม่เสมอ เปรียบตัวเองเป็นแก้วน้ำ ความรู้คือน้ำแข็ง เมื่อเติมน้ำแข็งใส่แก้ว สักพักไอน้ำจะมาจับตัวรอบแก้วเกิดเป็นหยดน้ำ นั่นคือ “ผลงาน” ที่ออกมา หากหมั่นเติมน้ำแข็งเสมอก็จะมีหยดน้ำไหลมาเรื่อยๆ เช่นกัน
โทร. 0-5344-6291 หรือ www.buabhat.com
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *