กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ส.ค.) วางเป้าดันไทยเป็นผู้นำธุรกิจไลฟ์สไตล์ในภูมิภาคอาเซียน ตั้งเป้า BIG+BIH เป็นศูนย์กลางงานแสดงสินค้าไลฟ์สไตล์ของอาเซียน ด้านเลขาธิการสมาพันธ์ไลฟ์สไตล์ไทยชี้ผู้ส่งออกเจอศึกหนักที่ผ่านมาฉุดตัวเลขส่งออกติดลบ เชื่อปีนี้เศรษฐกิจอเมริกาตลาดหลักดีขึ้น ดึงยอดส่งออกเพิ่ม พร้อมเสนอแผน Creative Industry ภาครัฐสอดรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 11 Creative Economy
นางอัมพวัน พิชาสัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 ประเทศไทยได้มีการวางแนวทางเตรียมความพร้อมไว้หลายด้าน และหนึ่งในเป้าหมายคือ การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลาง และเป็นผู้นำในธุรกิจไลฟ์สไตล์ ดังนั้น ในส่วนของอุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์จึงต้องร่วมใจกันสร้างโอกาส พัฒนา และออกแบบสินค้าให้เป็นที่ยอมรับ และสามารถแข่งขันในตลาดที่กำลังเติบโตขึ้นทั้งในอาเซียน และในตลาดทั่วโลก
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ให้ได้ และหนึ่งในแนวทางของกรมฯ คือ การพาผู้ประกอบการไปเปิดตลาดให้เป็นที่รู้จักในประเทศต่างๆ และการจัดงานแสดงสินค้าของขวัญและของใช้ของตกแต่งบ้าน BIG+BIH April 2013 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-23 เมษายน 2556 ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ซึ่งครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 35 โดยมุ่งเป้าในการเป็นผู้นำจัดแสดงสินค้าของขวัญของแต่งบ้านของไทย ภายใต้หัวข้อ Asean Life + Style
สำหรับการจัดงานปีนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมออกบูทกว่า 600 บริษัท บนพื้นที่ 40,000 ตารางเมตร และในปีนี้ได้มีการแสดงสินค้า Small Order Zone รวบรวมสินค้าต่างๆ ที่ลูกค้าต้องการสั่งซื้อในจำนวนไม่มาก คาดว่าจะมีบริษัทเข้าร่วมกว่า 100 บริษัท ส่วนจำนวนผู้เข้าชมงานคาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานจากต่างประเทศจาก 60 ประเทศจำนวน 2,000 ราย โดยประเทศที่เข้าชมงานมากที่สุด คือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน มาเลเซีย และไต้หวัน ซึ่งรวมผู้ชมทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 70,000 ราย ตั้งเป้าว่าจะเกิดมูลค่าการค้าในงานกว่า 2,000 ล้านบาท
ด้าน นายจิรบูลย์ วิทยสิงห์ เลขาธิการสมาพันธ์สินค้าไลฟ์สไตล์ไทย กล่าวต่อว่า ในส่วนตลาดส่งออกที่สำคัญของสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ ที่ผ่านมาเป็นตลาดอเมริกา และยุโรป แต่จากสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยทำให้การสั่งซื้อจากประเทศเหล่านั้นลดลง ดังนั้น การเพิ่มช่องทางตลาดใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศนอกอาเซียน 6 ประเทศเป็นทางเลือกให้ผู้ส่งออก ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องศึกษา และออกแบบสินค้าให้ตรงความต้องการของตลาด ช่วยให้การขยายตัวด้านการส่งออกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าวมีสัดส่วนการส่งออกติดลบ สืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ปัญหาความผันผวนค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และต้นทุนที่สูงขึ้นจากนโยบายค่าแรงที่เพิ่มขึ้น แต่สำหรับในปีนี้เชื่อว่าการส่งออกสินค้าไลฟ์สไตล์จะกลับมาดีขึ้น เพราะอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของสินค้าในกลุ่มนี้น่าจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ประกอบกับแนวทางการทำงานของกลุ่มอุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ของเราสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 11 ของรัฐบาล ในการผลักดันการเพิ่มมูลค่าสินค้า Creative Economy ซึ่งหมดยุคการขายของถูก ในอนาคตถ้านึกถึงสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ไทย นึกถึงสินค้าคุณภาพดี มีดีไซน์ สมราคา และเพื่อให้การทำงานของภาครัฐและเอกชนสามารถเดินไปด้วยกัน ทางสมาพันธ์ฯ ได้มีแผนนำเสนอแนวคิด Creative Industry เชื่อว่าจะช่วยเสริมให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 11 ของหน่วยงานภาครัฐเดินไปสู่เป้าหมาย และในส่วนของภาคเอกชนเดินต่อไปได้
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *