ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคปัจจุบันนิยมซื้อสินค้า หรือใช้บริการที่มีโปรโมชันสะสมคะแนน เพื่อเป็นส่วนลด พร้อมลุ้นรับของรางวัลต่างๆ ขณะเดียวกัน การเติบโตของสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก (www.facebook.com) ก็เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด มีผู้ใช้ทั่วโลกจำนวนมหาศาล จึงกลายเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการทำตลาดของธุรกิจสมัยใหม่
จากการเติบโตทั้งสองด้านดังกล่าว “บริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด” โดยหัวเรือสาวรุ่นใหม่ “ณัฐธิดา สงวนสิน” เห็นช่องทางตลาดด้วยการสร้างสรรค์โมบายล์แอปพลิเคชัน (Mobile Application) ชื่อว่า “บัซซี่บีส์” (Buzzebees) ซึ่งเป็นแอปฯ เชื่อมต่อกับการใช้เฟซบุ๊กอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งผู้เล่นเฟซบุ๊กไม่ว่าจะทำกิจกรรมใดๆ ทั้งโพสต์ข้อความ โพสต์รูป กดไลน์ แชร์ หรือชวนเพื่อน ฯลฯ จะได้คะแนนสะสม ซึ่งคะแนนดังกล่าวสามารถนำไปเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้า หรือใช้บริการ รวมถึงลุ้นรับของรางวัลได้ฟรีจากธุรกิจที่เข้าร่วม
ณัฐธิดาเผยว่า จุดที่เห็นโอกาสลงทุนธุรกิจนี้เนื่องจากพบข้อมูลว่าปัจจุบันคนไทยมีการลงทะเบียนใช้เฟซบุ๊กกว่า 20 ล้านรายชื่อ อีกทั้งเวลาในการออนไลน์มากกว่า 50% หมดไปกับการเล่นเฟซบุ๊ก อีกทั้งผู้บริโภคจะเชื่อถือข้อมูลจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์โดยตรง เพียงแค่ 47% แต่จะเชื่อข้อมูลของสินค้าหรือบริการจากการบอกเล่าของเพื่อนๆ มากกว่า 90% ดังนั้นจึงเห็นช่องทางที่จะเชื่อมระหว่างพฤติกรรมการใช้เฟซบุ๊กมาช่วยส่งเสริมการตลาดแก่ผู้ประกอบการที่เข้ามาร่วมในแอปฯ “บัซซี่บีส์”
ทั้งนี้ แอปฯ บัซซี่บีส์รองรับทุกระบบปฏิบัติการ ไม่ว่าจะเป็นระบบ iOS ของแอปเปิล, ระบบแอนดรอยด์ของกูเกิล หรือระบบวินโดวส์โมบายล์ของไมโครซอฟท์ สามารถเล่นได้บนอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ โดยผู้ใช้งานสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ฟรีผ่านเว็บไซต์ www.buzzebees.com หรือสมาร์ทโฟนดาวน์โหลดได้ที่ http://snipurl.com/26d9hz5
สำหรับคะแนนที่ผู้ใช้งานจะได้จากการเฟซบุ๊กนั้นจะแบ่งเป็นหลายระดับ เช่น กดไลน์ แสดงความคิดเห็น ฯลฯ ได้ครั้งละ 1 คะแนน ส่วนชวนเพื่อนได้ครั้งละ 50 คะแนน เป็นต้น โดยอายุคะแนนจะคงอยู่ 2 ปี ขณะที่รางวัลจากการเล่น มีทั้งนำไปเป็นส่วนลด ลุ้นจับฉลาก และนำคะแนนไปรับของรางวัลแจกฟรี ส่วนรางวัลก็มีหลากหลายตั้งแต่ชิ้นเล็กๆ ถึงชิ้นใหญ่ เช่น บัตรลดร้านอาหารที่เข้าร่วม ตั๋วชมภาพยนตร์ บัตรส่วนลดโรงแรมที่พัก และสมาร์ทโฟน ซัมซุง กาแล็กซี โน้ต 2 ฯลฯ
ผู้บุกเบิกแอปฯ บัซซี่บีส์อธิบายต่อว่า สำหรับร้านค้าหรือธุรกิจที่มาร่วมอยู่ในแอปฯ เปิดโอกาสกว้างตั้งแต่รายใหญ่จนถึงระดับเอสเอ็มอี โดยขั้นตอนเบื้องต้นต้องติดตามมายังบริษัทฯ หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจาคัดเลือกสินค้า โดยบริษัทให้ความสำคัญต่อขั้นตอนนี้มาก โดยสินค้าหรือบริการที่เข้ามาอยู่ในแอปฯ บัซซี่บีส์ต้องมีราคาถูกที่สุดเมื่อเทียบผู้ให้บริการร้านค้าออนไลน์อื่นๆ รวมถึงห้ามขายสินค้าชนิดหรือแบรนด์เดียวกัน ป้องกันการแย่งลูกค้ากันเอง
“เราเปรียบตัวเองเป็นตลาด ซึ่งสินค้าที่จะมาอยู่ในตลาดแห่งนี้หากเป็นสินค้าหรือบริการชนิดเดียวกันที่มีขายในตลาดอื่นๆ สินค้าในตลาดของเราต้องราคาถูกที่สุด ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญต่อการคัดเลือกผู้ที่จะมาร่วมธุรกิจ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทใหญ่ เพราะเป้าหมายที่แท้จริงเราต้องการร้านค้ากลุ่มเอสเอ็มอี ขอให้มีสินค้าที่น่าสนใจพร้อมเปิดโอกาสให้เสมอ” ผู้บริหารสาวกล่าว
สำหรับประโยชน์ของร้านค้าที่เข้าร่วมกับแอปฯ บัซซี่บีส์จะได้รับนั้น ณัฐธิดาฉายภาพให้เห็นว่า จะทำให้ผู้บริโภคเห็นสินค้าหรือบริการในวงกว้างจากผู้ใช้เฟซบุ๊กเฉพาะประเทศไทยกว่า 20 ล้านรายชื่อ นอกจากนั้นยังเป็นการทำตลาดแบบการันตียอดขาย พร้อมกิจกรรมการเพิ่มการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) สินค้าจะแสดงบน Market place จนกว่าสิ้นสุดแคมเปญการตลาดที่วางไว้ รวมถึงระบบยังสามารถแสดงให้ผู้ใช้งานทราบได้ว่าร้านค้าของผู้ประกอบการอยู่บริเวณใกล้เคียงกับที่ใช้งานอยู่
“การแนะนำสินค้าหรือบริการจากเพื่อนๆ ของเราเองจะได้รับความเชื่อถือ และน่าสนใจมากกว่าบริษัทจะไปโฆษณาด้วยตัวเอง เพราะการโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กเหมือนเป็นการบอกปากต่อปาก ตัวอย่างเช่น เราไปเจอสินค้าร้านไหนดี หรือร้านอาหารไหนอร่อย เราก็จะไปบอกต่อกับเพื่อนสนิทของเรา ซึ่งถือเป็นการทำตลาดที่ได้ผลที่สุด”
ทั้งนี้ ร้านค้าไม่ต้องจ่ายเงินล่วงหน้าจนกว่าสินค้าหรือบริการจะถูกลูกค้าใช้งานแลกซื้อ จากนั้นทางบริษัทฯ จึงจะได้ประโยชน์จากการได้ส่วนแบ่งรายได้ 10-15% (แล้วแต่กรณีๆ) หรือพูดกันแบบบ้านๆ คือหักค่านายหน้า 10-15% นั่นเอง นอกจากนั้น ทุกขั้นตอนเป็นระบบอัตโนมัติผ่านทาง Buzzebees Office Automation มีขั้นตอนง่ายๆ ในการนำสินค้าเข้าสู่ Market place
เจ้าของธุรกิจสาวเล่าต่อว่า บริษัทใช้เงินลงทุนธุรกิจเบื้องต้นกว่า 10 ล้านบาทพัฒนาแอปฯอยู่นานนับปี โดยเปิดตัวแอปฯ อย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือน ธ.ค.55 ยอดผู้ใช้แอปฯ ถึงสิ้นเดือน มี.ค. 56 มีกว่า 3 แสนราย ขณะที่กลุ่มร้านค้าที่เข้าร่วม 1,000 ราย ในจำนวนดังกล่าว เป็นร้านค้าของกลุ่มเอสเอ็มอีประมาณ 90% โดยแต่ละเดือนจะมีการหมุนเวียนร้านค้า และสินค้าใหม่ๆ มาแสดงประมาณ 200 รายเพื่อสร้างความหลากหลาย
“ผลตอบรับหลังจากเราเปิดตัวแอปฯ มาได้รับนิยมอย่างสูง รวมถึงพฤติกรรมการเล่นเฟซบุ๊กเพื่อสะสมแต้มก็เกินกว่าที่เราคาดไว้ โดยคนที่ได้คะแนนอันดับต้นๆ ในแต่ละเดือนมียอดสะสมถึงกว่า 2-3 หมื่นคะแนน รวมถึงกระแสก็ดีต่อเนื่อง จากแนวโน้มดังกล่าวบริษัท ตั้งเป้าภายในสิ้นปีนี้ (2556) จะมีลูกค้ามาใช้บริการมากกว่า 1 ล้านรายขึ้นไป และในอนาคตเตรียมขยายบริการแอปฯ ไปยังช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆ เช่น อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ เป็นต้น อีกทั้งจะขยายการให้บริการไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย” ณัฐธิดาเผย
สนใจอยากใช้บริการได้ที่ www.buzzebees.com หรือ 02-645-0014
@@@@@@@@@@@@@
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *