กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เตรียม 6 มาตรการรับมือผลกระทบพม่าซ่อมท่อก๊าซ หลังพบภาคอุตสาหกรรมใช้ไฟฟ้ามาสุด ภาคธุรกิจตามมา งัดโครงการการจัดการพลังงานแบบสมบูรณ์เพื่อยกระดับประสิทธิภาพปัดฝุ่น หลังกว่า 700 กิจการปรับใช้ได้ผลดี
นายสามัคคี โพธิ์เจริญ ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาการใช้พลังงานและสิ่งแวดล้อม สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากกรณีที่พม่าจะหยุดส่งก๊าซธรรมชาติมายังประเทศไทย ในช่วงวันที่ 5-14 เมษายนนี้ เนื่องจากพม่าซ่อมท่อส่งก๊าซ ซึ่งอยู่ในช่วงเดียวกับวันที่มีอัตราการใช้พลังงานสูงสุดในรอบปีพอดี ส่งผลให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองของประเทศไทยลดลงเหลือเพียง 750 เมกะวัตต์ ทำให้มีโอกาสสูงที่ไฟฟ้าจะไม่พอใช้ และเกิดปัญหาไฟดับบางพื้นที่ได้
โดยสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าเมื่อแยกตามสาขาพบว่าภาคอุตสาหกรรมมีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุดถึง 43% ของกำลังการผลิตทั้งประเทศ รองลงมาเป็นสาขาธุรกิจ รวมถึงการใช้ของภาครัฐและองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร 34%, บ้านที่อยู่อาศัย 22.1%, สาขาเกษตรกรรม 0.2%, สาขาอื่นๆ ที่มีการใช้ฟ้าชั่วคราว 0.6% และสาขาขนส่งอย่างรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ 0.1% ซึ่งเมื่อพม่าหยุดจ่ายก๊าซฯ แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรม สำหรับอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง 6 อันดับ ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ 2. อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ 3. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก 4. อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ 5. อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และ 6. อุตสาหกรรมเครื่องเรือนและเครื่องตกแต่งในอาคาร
โดยปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมกว่า 70,000 แห่ง คิดเป็นปริมาณการใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมรวม 12,000 เมกะวัตต์ ซึ่ง กสอ.ได้หาแนวทางในการรับมือ จึงได้จัดทำโครงการการจัดการพลังงานแบบสมบูรณ์ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานสำหรับอุตสาหกรรม (Total Energy Management : TEM ) ขึ้น ซึ่งเป็นโครงการที่ได้ดำเนินการมากว่า 10 ปี โดยเล็งเห็นถึงประโยชน์ของภาคอุตสาหกรรมในการลดการใช้พลังงาน จึงมีการจัดทำโครงการและกำหนดมาตรการในการใช้พลังงานขึ้น เพื่อผลประโยชน์ทั้งของผู้ประกอบการเองและของประเทศชาติด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีภาคอุตสาหกรรมหลายสาขาได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวกับ กสอ.มาแล้วกว่า 700 กิจการ ส่งผลให้ทุกกิจการสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้จนนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
สำหรับโครงการการจัดการพลังงานแบบสมบูรณ์เพื่อยกระดับประสิทธิภาพ การใช้พลังงานสำหรับอุตสาหกรรม คือ โครงการที่มุ่งเน้นงานด้านพลังงานโดยตรง เพื่อให้วิสาหกิจสามารถลดต้นทุน ด้านปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกส่วนในองค์กร ทั้งพนักงาน ฝ่ายสำนักงาน ฝ่ายผลิต ฝ่ายออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบกระบวนการผลิต ซึ่งทุกส่วนงานจะต้องมีจิตสำนึกร่วมกันในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ในภาวะที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรงในตลาดโลก ทำให้บริษัททุกแห่ง ต้องลดต้นทุนการผลิตทุกทาง เพื่อให้มีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด และเพิ่มคุณค่าในตัวสินค้าให้มากที่สุด
ฉะนั้นความร่วมมือจากทุกฝ่ายจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยการผสมผสานแนวคิดทางการบริหารจัดการ เช่น Total Quality Control Engineering และ Value Engineering และสรุปเป็นแนวทางที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกับกิจกรรมอื่นๆ ในโรงงานได้โดยง่าย ซึ่งที่ผ่านมามีภาคอุตสาหกรรมได้เข้าร่วมโครงการกับ กสอ.เป็นจำนวนมากและสามารถเรียนรู้วิธีการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตพลังงานได้เป็นอย่างดีพร้อมมีแนวทางในการประหยัดพลังงานแบบสมบูรณ์