ประธานภาคกลางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ เผยถึงผลกระทบการขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ ทำให้แรงงานกรุงเทพฯ และปริมณฑลกลับไปทำงานบ้านเกิด ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องขึ้นค่าแรง 400 บาท เพื่อดึงแรงงานกลับเข้ามาทำงาน ส่วนปัญหาขาดทุนเอสเอ็มอีแบงก์อาจจะทำให้ธนาคารไม่ยอมปล่อยสินเชื่อ ด้านสภาอุตสาหกรรมอยุธยา เชื่อปัญหาค่าแรง 300 บาท และต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เอสเอ็มอีแบงก์เกิดเอ็นพีแอลมากขึ้น
นายสิงห์ ตั้งเจริญชัยชนะ ประธานภาคกลางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน SMEs ไทยกำลังประสบปัญหาต้นทุนจากนโยบายค่าจ้าง 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ เนื่องจากแรงงานจำนวนหนึ่งต้องย้ายกลับไปอยู่ต่างจังหวัด ส่งผลให้โรงงานในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำเป็นต้องมีการขึ้นค่าจ้างวันละ 400 บาท เพื่อดึงแรงงานกลับ
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเริ่มแสดงความกังวลอย่างมากกับกรณีหนี้เสีย และปัญหาขาดทุนของ SME Bank ด้วยเกรงว่าในอนาคตธนาคารอาจเข้มงวดเพิ่มขึ้น อีกทั้ง SMEs จำนวนมากกำลังประสบปัญหาขาดทุนจากค่าแรงและอัตราแลกเปลี่ยน จนอาจส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ไม่ยอมปล่อยสินเชื่อแก่ SMEs ที่ไม่ได้กำไร
ด้านนายพากร วังศิราบัตร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวต่อว่า เวลานี้ SMEs หลายรายเริ่มประสบปัญหาการชำระหนี้กับสถาบันการเงิน หลังจาก มีต้นทุนในการทำธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทแบบก้าวกระโดดของรัฐบาล กอปรกับราคาวัตถุดิบที่สูงและความผันผวนของค่าเงินบาท จนทำให้ขีดความสามารถการแข่งขันของเอกชนต่ำลง จนเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ มีปัญหาหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) อยู่ในระดับที่สูง
ทั้งนี้ อยากให้รัฐบาลเร่งหามาตรการเข้ามาช่วยเหลือ SMEs ให้ถูกจุดมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของค่าแรงรวมถึงการดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งทางการค้าของไทยมากนักไม่เช่นนั้นจะทำให้การแข่งขันลำบากมากยิ่งขึ้น เพราะหากว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 3% จะส่งผลกระทบต่อกำไร 3% หรือกรณีค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ได้ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น 4-5% ก็จะส่งผลกระทบต่อกำไร 4-5% เช่นกัน