กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศขับเคลื่อน “ครัวไทยสู่โลก” เปิดแผนรุกตลาดเกษตรและอาหาร หวังปีนี้ขยายตัว 10% ชูภาพลักษณ์อาหารไทยรสชาติดี มีคุณภาพ และดีต่อสุขภาพ
นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) เปิดเผยถึงการผลักดันครัวไทยสู่โลก ภายใต้นโยบายรัฐบาลโดย นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ที่ต้องการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านการตลาดอย่างยั่งยืน ครอบคลุมการพัฒนาและการส่งเสริมสินค้าเกษตร อาหาร ธุรกิจอาหารและร้านอาหารไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศว่า รัฐบาลมีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยสูงขึ้น 10% สถานประกอบการด้านอาหารได้รับมาตรฐานเพิ่มขึ้น 5% และอาหารของประเทศไทยมีภาพลักษณ์เป็นอาหารรสชาติดี มีคุณภาพ และดีต่อสุขภาพ โดยสอดรับกับภาวะตลาดโลกที่ต้องการสินค้าบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัย รวมถึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับปี 2556 ไทยได้ตั้งเป้าหมายในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น 10% โดยกรมฯ มีแผนส่งเสริมและพัฒนาการส่งออกสินค้าอาหารหลายโครงการ อาทิ กิจกรรมพัฒนาสินค้าและผู้ประกอบการ 4 กิจกรรม เช่น โครงการเจาะตลาดอาหารสุขภาพเพื่อการส่งออก โครงการลู่ทางการค้าการส่งออกอาหารแช่แข็งไปตลาดยุโรปและอาเซียน เป็นต้น การจัดงานแสดงสินค้าไทยในต่างประเทศ 12 งาน คณะผู้แทนการค้าไปเจรจาการค้าในต่างประเทศ 5 คณะ เพื่อเดินทางไปเจรจาการค้าในประเทศอาเซียน จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังได้มีแผนที่จะจัดให้คำปรึกษาและช่วยเหลือนักธุรกิจไทยในการเข้าไปลงทุน หรือร่วมทุนทำธุรกิจอาหาร หรือเปิดร้านอาหารไทยในต่างประเทศใน 2 ภูมิภาค คือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เวียดนาม พม่า อินโดนีเซีย) และยุโรปตะวันออก (รัสเซีย โปแลนด์) เพื่อให้คำปรึกษาด้านการตลาด กฎหมาย และด้านเงินทุน คาดว่าจะเพิ่มการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร เปิดธุรกิจ และผลักดันให้สินค้าอาหารไทยเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นในต่างประเทศ
ทั้งนี้ จากการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับเอกชนในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคเป็นระยะๆ เพื่อร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ทั้งในด้านการขยายตลาดส่งออกเชิงรุก ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารที่มีมูลค่าเพิ่ม และควรมีความพร้อมในการปรับตัวให้ทันมาตรการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งในปัจจุบันสินค้าอาหารที่ผลิตจากประเทศไทยถือเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคให้การยอมรับในเรื่องคุณภาพ ทั้งยังถือเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังมีการพัฒนาตลาดและยกระดับการค้าสู่สากลในรูปแบบต่างๆ เช่น การแต่งตั้งตัวแทน การจัดตั้งสาขา การมีหุ้นส่วนหรือผู้ร่วมทุน การขยายแฟรนไชส์ของไทยเข้าไปในตลาดต่างประเทศ การสร้างตราสินค้าของตนเอง รวมทั้งการแสวงหาแหล่งวัตถุดิบราคาถูกในต่างประเทศ และการสร้างเครือข่ายนักธุรกิจ เพื่อเป็นการลดต้นทุน