เมดิฟูดส์ต่อยอดพัฒนาพื้นที่เกษตร ส่งเสริมปลูกข้าวหอมอินทรีย์บนพื้นที่นำร่อง 1 หมื่นไร่ จังหวัดชัยภูมิ เปิดโครงการ “ด้วยเกล้า ด้วยข้าว Rice for the King” ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องข้าวอินทรีย์ให้เกษตรกรไทย
นายวรวัฒน์ บุญหลาย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมดิฟูดส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ ค่อนข้างประสบความสำเร็จในการส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศ ทั้งออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ประเทศในยุโรป และประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก ภายใต้ตราสินค้า เช่น Red ant, Uncle Boon, Oriental Harvest, ตรา 333, ตรา 888 และตรา King Dynasty โดยมีปริมาณการส่งออกไม่ต่ำกว่า 100,000 ตัน/ปี ถือว่าจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของบริษัทผู้ส่งออกข้าวไทย
การที่เราเป็นผู้ผลิตและส่งออกเอง ตลอดจนลงพื้นที่ใกล้ชิดชาวนา ทำให้ซึมซับวิถีชีวิตชาวนา จึงต้องการที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องข้าวให้สังคมไทยผ่านโครงการ “ด้วยเกล้า ด้วยข้าว Rice for the king” ด้วยการนำข้าวสารหอมมะลิอินทรีย์ 100% คัดพิเศษ บรรจุถุงตรา “เรดแอนต์ Red Ant” ผลิตจากข้าวหอมมะลิพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ที่ปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์บนผืนนานับหมื่นไร่ในจังหวัดชัยภูมิ
ทั้งนี้ วางจำหน่ายภายใต้ชื่อโครงการ “ด้วยเกล้า ด้วยข้าว Rice for the King” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษา จำหน่ายในขนาด 1 กิโลกรัม ราคาถุงละ 149 บาท เพียง 2 แสนชุดเท่านั้น โดยนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยเสด็จพระราชกุศล สมทบทุนมูลนิธิชัยพัฒนา และมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
ข้าวตรา “เรดแอนต์ Red Ant” เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคและผู้ประกอบการค้าข้าวระดับสากลมากว่า 8 ปี และได้รับความเชื่อมั่นมากขึ้นตามลำดับ ประกอบกับได้รับรางวัลเกียรติยศระดับโลกจากการประกวดข้าวในเวทีสัมมนาข้าวที่สมาคมผู้ค้าข้าวนานาชาติ (The Rice Trader) ถึงสามปีซ้อน คือ รางวัลเกียรติยศ “World's Best Rice Award” ประจำปี 2010 ในงาน World Rice Conference 2010 รางวัลประเภท “World’s Most Remarkable Quality Award” ประจำปี 2011 ในงาน World Rice Conference 2011 รางวัล “Thailand Signature Hom Mali Rice Award 2012” ในงาน World Rice Conference 2012 ณ บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย และ รางวัล “World’s Most Honorable Producer of Thai Premium Quality Award 2012” ในงาน World Rice Conference 2012
นายวรวัฒน์กล่าวว่า เพื่อตอกย้ำถึงความสำเร็จด้านการทำธุรกิจข้าวบนพื้นฐานการทำธุรกิจด้วยธรรม น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรอินทรีย์มาจัดสร้างความยั่งยืนให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ด้วยการส่งเสริมและให้องค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ที่ถูกต้องแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยเลือกจังหวัดชัยภูมิเป็นโมเดลปฐมบท เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกข้าวมากที่สุดติดอันดับ 11 ของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวเจ้าหอมมะลิจำนวน 800,000 ไร่ และพื้นที่ปลูกข้าวเหนียวจำนวน 740,000 ไร่ เพื่อผลิตข้าวหอมอินทรีย์ภายใต้ตรา “เรดแอนต์ Red Ant” โดยบริษัทได้ส่งเสริมเกษตรกรที่มีแปลงนาปลูกข้าวบริเวณใกล้เคียงกับโรงงานจำนวน 2,500 ไร่ ทั้งนี้ต้องการชี้ให้เกษตรกรหรือประชาชนหันมามีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยไม่ได้มองที่เศรษฐศาสตร์อย่างเดียว แต่เราจะทำการตลาดควบคู่ไปกับความยั่งยืนเป็นเครื่องผูกมัดใจกัน ด้วยเหตุนี้ทำให้เกษตรกรภายในพื้นที่ต่างให้ความสนใจกันมากขึ้น จากการขยายพื้นที่ปลูกข้าวระบบอินทรีย์เพิ่มมากขึ้นเป็น 6,000 ไร่ในปัจจุบัน จากเดิมมีเพียง 2,500 ไร่ ถือเป็นพื้นที่ส่งเสริมการปลูกข้าวอินทรีย์สูงสุดในประเทศอีกพื้นที่หนึ่ง
ด้านนายพรศักดิ์ เจียรณัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า จังหวัดชัยภูมิปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกข้าวเป็นลำดับที่ 12 ของประเทศ และเป็นอันดับ 11 ของภาคอีสาน ผลผลิตข้าวเจ้า 1,196,754 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยว 924,452 ไร่ ผลผลิตรวม 5 แสนตัน พื้นที่ปลูกข้าวเหนียวทั้งหมด 740,280 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยว 687,640 ไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 3 แสนตัน เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกข้าวสารขาวมะลิ คิดเป็นพื้นที่ 831,233 ไร่ โดยได้วางกรอบนโยบายในการพัฒนาข้าวหอมมะลิคือส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ดีในการเพาะปลูก
สำหรับบริษัท เมดิฟูดส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นภาคเอกชน ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในจังหวัดชัยภูมิ ได้สร้างนวัตกรรมด้านอาหารจากธรรมชาติที่มีส่วนสำคัญในการช่วยให้ผู้บริโภคกลับสู่สมดุลทางธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยได้ร่วมและสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยด้านข้าวและอาหารกับสถาบันวิจัยที่มีชื่อเสียงต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีรวมถึงกระบวนการปลูกข้าวปลอดสารพิษที่มีประสิทธิภาพและให้ผลผลิตดี ช่วยกันสร้างความเติบโตที่ยังยืนในระดับชุมชน และสร้างชื่อเสียงในระดับสากลให้แก่ข้าวหอมมะลิไทยซึ่งเป็นสินค้าเอกลักษณ์ที่สำคัญของประเทศ นับว่าสอดคล้องกับแนวการดำเนินงานของจังหวัดชัยภูมิที่มุ่งหวังยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสร้างเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อส่งต่อภูมิปัญญาให้พัฒนาไปอย่างยั่งยืน ตลอดจนสร้างผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัยสู่ผู้บริโภคทั้งในประเทศ และระดับสากล