สมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทยวอนรัฐฯ อย่าทอดทิ้ง ยื่นมือช่วย SMEs ส่งออก หลังกระทบหนักค่าแรง 300 บาท ควบวิกฤตหนี้ยุโรป เผยเอสเอ็มอีทยอยปิดตัวแล้วกว่า 100 ราย โต้รัฐฯ ขึ้นค่าแรงแบบไม่เป็นมวย ควรทำเป็นขั้นตอน คาดตัวเลขส่งออกสินค้าไลฟ์สไตล์ปีนี้จะอยู่ที่ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายสุพัฒน์ ศรีวรรณวิทย์ ประธานสมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทย เปิดเผยว่า สมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทยที่ประกอบด้วย 7 สมาคมพันธมิตร นอกจากได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน แล้ว ล่าสุดยอมรับว่าผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบจากวิกฤตยูโรโซนและเศรษฐกิจสหรัฐฯ อีกด้วย ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายต้องลดขนาดองค์กร และกำลังการผลิต รวมถึงมีการปิดกิจการแล้วกว่า 100 รายจาก 3,000 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคส่งออก
“การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป และเศรษฐกิจโลกทำให้มูลค่าของการส่งออกตลาดต่างประเทศหายไปถึงร้อยละ 50 โดยสมาพันธ์ฯ คาดว่าตัวเลขการส่งออกสินค้าไลฟ์สไตล์ปีนี้จะอยู่ที่ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา หรือเติบโตร้อยละ 2 จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 5” ประธานสมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทยกล่าว
ด้านนายจิรบูลย์ วิทยสิงห์ เลขาธิการสมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากวิกฤตยุโรปที่รุนแรงขึ้น ต้นทุนการผลิตในประเทศสูงขึ้น ทั้งจากค่าแรง 300 บาท วัตถุดิบและเครือข่ายปรับราคา ผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน การดัมป์ราคาสินค้าจากจีนในราคาถูก การบริโภคในประเทศไม่ขยายตัว และเงื่อนไขของช่องทางการจัดจำหน่ายมีจำกัด ทางสมาพันธ์ฯ เห็นว่าเป็นปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ไม่สามารถแบกรับภาระได้ จนบางรายต้องปิดตัว หรือบางรายต้องลดขนาดกิจการเพื่อความอยู่รอด
ดังนั้น ทางสมาพันธ์ฯ จึงขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ ประเด็นหลักคือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยลดหลักเกณฑ์เรื่องหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยเน้นการขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า ตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในวงเงิน 2,000 ล้านบาท และเร่งส่งเสริมการตลาดใหม่ๆ ทั้งเทคโนโลยี และตลาดส่งออก ซึ่งหากไม่ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ผู้ประกอบการคงต้องปิดกิจการเพิ่มจากปัจจุบันที่ทยอยปิดกิจการไปแล้วกว่า 100 ราย
ด้านนายนิพนธ์ ระตะนะอาพร นายกสมาคมการค้าเครื่องใช้ในครัวเรือนไทย กล่าวว่า สมาคมการค้าเครื่องใช้ในครัวเรือนไทยปีนี้ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกตกต่ำ และค่าแรง 300 บาท ซึ่งสหรัฐฯ นั้นถือว่าเป็นตลาดหลัก ส่งผลกระทบอย่างหนักทำให้ต้องปรับตัวเลขการเติบโต จากเดิมตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 0 จากตัวเลขการส่งออกปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2556 อัตราการเติบโตจะอยู่ที่ร้อยละ 3 ตัวเลขการส่งออกจะอยู่ที่ 720 ล้านดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากตลาดยังไม่ฟื้นตัว นอกจากนี้ยังประสบปัญหาวัตถุดิบบางประเภท โดยเฉพาะยางพาราทั้งราคาและปริมาณมีความผันผวน ทำให้การรับคำสั่งซื้อล่วงหน้าทำได้เฉพาะช่วงสั้นๆ ทำให้ลูกค้ารายใหญ่หันไปสั่งซื้อจากคู่แข่งแทน
“ผลกระทบจากค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทนั้นถือเป็นผลกระทบที่ผู้ประกอบการโดนกันถ้วนหน้า เพราะรัฐบาลไม่มีการปรับค่าแรงแบบเป็นขั้นเป็นตอน หรือปรับแบบไม่เป็นมวย ซึ่งต้องปรับจากแรงงานกึ่งฝีมือก่อนแล้วจึงไปสู่แรงงานไร้ฝีมือ หากรัฐบาลกระทำเช่นนี้ปัญหาดังกล่าวจะไม่รุนแรงถึงขนาดทำให้เอสเอ็มอีกว่า 100 รายต้องปิดกิจการลง” นายนิพนธ์กล่าว
ส่วนนางสาวอาริสา จัตฏะษา นายกสมาคมเครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงานไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการในสมาคมฯ ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากสินค้าจีนที่มีราคาถูกกว่า เนื่องจากผู้ประกอบการมีการหาตลาดใหม่ รวมถึงพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ด้วย เน้นนวัตกรรมล้ำสมัยอิงกระแสเทรนด์เครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงานโลก เช่น ดินสอที่ไม่ใช้ไม้, กระดาษโน้ตจากหินบด เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เอสเอ็มอีไทยสู้การแข่งขันจากจีนได้ นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญต่องานดีไซน์ที่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้ยั่งยืนสูงสุด