กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเผยตัวเลขอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ยังสดใสแม้จะถูกทดแทนด้วยสื่ออิเลกทรอนิกส์ ชี้ อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ ต.ค.ขยายตัว 18% ผลสืบเนื่องมาจาก สินค้าในกลุ่มการ์ด ไดอารี ปฏิทินมีการเติบโตรับเทศกาลคริสต์มาส-ปีใหม่คึกคัก ประกอบกับไทยมีจุดแข็งด้านงานพิมพ์คุณภาพแบบครบวงจร เชื่อปัจจัยเออีซีช่วยหนุนปี 56 ส่งออกโตต่อเนื่อง แนะเอสเอ็มอีลงทุนเปิดตลาดต่างประเทศ
นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงสถานการณ์สินค้าอุตสาหกรรมกลุ่มสิ่งพิมพ์ กระดาษและบรรจุภัณฑ์ว่า การส่งออกในช่วงตุลาคม 2555 มีอัตราการขยายตัว 18% คิดเป็นมูลค่า 146 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้การส่งออกในช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) ของปี 2555 ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 8% หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1,389 ล้านเหรียญสหรัฐ(41,670 ล้านบาท) เนื่องจากมีการส่งออกปฏิทิน ไดอารี การ์ดอวยพร รองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่จำนวนเพิ่มขึ้นมาก คาดว่าปี 2556 จะเติบโตต่อเนื่อง
อุตสาหกรรมในกลุ่มสิ่งพิมพ์ดังกล่าวของไทยมีมูลค่ากว่า 109,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ตลาดในประเทศ 100,000 ล้านบาท คิดเป็น 91% ของมูลค่าตลาดอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ทั้งหมด (โดยตลาดหนังสือมูลค่าประมาณ 18,900 ล้านบาท) ตลาดส่งออก 2,000 ล้านบาท และสินค้านำเข้า 7,000 ล้านบาท ซึ่งประเทศไทยมีจุดแข็งในเรื่องการพิมพ์มีคุณภาพดี มีนักออกแบบกราฟิกฝีมือเยี่ยมเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เป็นอุตสาหกรรมที่มีครบวงจรทั้งซัปพลายเชนในประเทศ (ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ) และมีการรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ที่เข้มแข็ง มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ด้านความพร้อมของอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน ประกอบกับชื่อเสียงจากการประกวดงานพิมพ์ในระดับนานาชาติ
“ในโอกาสที่ไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ทำให้มีโอกาสเข้าทำตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ หนังสือที่มีการออกแบบกราฟิกจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า ส่วนหนังสือเอกสารด้านการศึกษาและวัฒนธรรมมีความต้องการสูงในตลาดโลก หากสามารถผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นภาษาอังกฤษจะช่วยให้การส่งออกเพิ่มขึ้น แม้ว่าการพัฒนาระบบสารสนทศและเทคโนโลยีสื่อดิจิตอลได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในวิถีการดำเนินชีวิตสมัยใหม่และส่งผลให้การบริโภคสื่อสิ่งพิมพ์ลดลง และเทคโนโลยีสารสนเทศก็เปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นการทำพิสูจน์อักษรในการตรวจสอบงานระยะไกล ทำให้สามารถรับงานจากต่างประเทศได้สะดวกขึ้น”
ทั้งนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิตอล และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคทำให้หนังสือเล่มมีแนวโน้มที่จะถูกทดแทนด้วยหนังสืออิเล็กทรอนิกส์และตลาดสื่อสิ่งพิมพ์มีแนวโน้มหดตัว อย่างไรก็ดี ในภาพรวมของประเทศกำลังพัฒนายังจะมีการเติบโตของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ในระยะสั้น ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ในภาวะถดถอย ผู้ประกอบการไทยพึ่งพิงตลาดในประเทศเป็นหลัก เมื่อตลาดต่างประเทศชะลอตัวลงจะส่งผลให้ตลาดในประเทศมีการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น พร้อมๆ กับการขาดแคลนแรงงาน ทั้งไร้ฝีมือ และช่างเทคนิค
นางศรีรัตน์กล่าวเพิ่มเติมถึงการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอีไปเปิดตลาดและลงทุนในต่างประเทศในอุตสาหกรรมนี้ว่า ประเทศเยอรมนีจะจัดงานแสดงสินค้า Paperworld 2013 ระหว่างวันที่ 26-29 มกราคม 2556 ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนี ซึ่งเป็นการจัดแสดงสินค้าประเภทสินค้ากระดาษ อุปกรณ์สำนักงาน สมุด เครื่องเขียน มีผู้เข้าแสดงสินค้ามากกว่า 2,500 ราย จากประเทศต่างๆ มากกว่า 50 ประเทศ ถือเป็นช่องทางการขยายตลาดที่น่าสนใจ
“การ เข้าร่วมงานแสดงสินค้าเป็นโอกาสที่จะได้พบผู้นำเข้า ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีกสินค้ากระดาษ อุปกรณ์สำนักงาน สมุด เครื่องเขียนจากทั่วโลกมากกว่า 70 ประเทศ โดยเฉพะอย่างยิ่งนักธุรกิจจากกลุ่มยุโรป ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส เบลเยียม อิตาลี และสเปน โอกาสที่ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกไทยจะได้รู้แนวโน้มความต้องการของลาด ทั้งวิธีการผลิต กระบวนการพัฒนาและใช้เทคนิคใหม่จากผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ และได้ข้อมูลคู่แข่งขันจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี เป็นต้น และทราบข้อคิดเห็นและความต้องการของลูกค้าและตลาด เพื่อนำกลับมาปรับปรุงรูปแบบและราคา” นางศรีรัตน์กล่าว