กกร.เสนอมาตรการช่วยเอกชนหลังปรับขึ้นค่าแรง พร้อมชงรัฐบาลสนับสนุนปล่อยเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย 50,000 ล้านบาทภายใน 3 ปี
นายสมเกียรติ อนุราช รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการประชุมคณะทำงานเรื่องค่าแรงของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันว่า ในที่ประชุมได้สรุปมาตรการเป็น 2 กลุ่ม คือ มาตรการลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการหลังได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงที่สูง 11 ข้อ และ มาตรการทางการเงินในการเสริมสภาพคล่อง 5 ข้อ เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากการปรับค่าแรงไม่เท่ากัน โดยทั้ง 3 องค์กรก็จะมีการทบทวนและเสนอมาตรการต่อรัฐบาลอีกครั้ง และเชื่อว่ารัฐบาลตอบสนองความต้องการของภาคเอกชนบ้างแม้ไม่ใช่ทั้งหมด อาทิ มาตรการทางการเงินในเรื่องของการสนับสนุนการปล่อยเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย จาก 20,000 ล้านบาท เป็น 50,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี
ด้านนายสุชาติ จันทรานาคราช กรรมการบริหาร กล่าวว่า หากรัฐบาลไม่มีการเยียวยานโยบายการขึ้นค่าเเรงครั้งนี้จะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบอย่างร้ายเเรง ซึ่งกว่าร้อยละ 90 ของผู้ประกอบการทั้งหมดเป็นเอสเอ็มอี คณะทำงานจึงต้องระดมสมองเพื่อเสนอมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่เอสเอ็มอีที่มีมาตรการเยียวยากว่า 20 ข้อ ว่าผู้ประกอบการต้องการอะไรบ้างเพื่อลดผลกระทบ เช่น มาตรการด้านภาษี การฝึกอบรมพัฒนาทักษะฝีมือเเรงงาน
ส่วนนายกิตติ ลิ่มสกุล ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาศาสตร์ด้านเเบบจำลองเเละพยากรณ์เศรษฐกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การขึ้นค่าเเรงครั้งนี้เพื่อต้องการดึงให้เเรงงานต่างด้าวทำงานในประเทศไทยต่อไป เนื่องจากขณะนี้อัตราการว่างงานในไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 1 สะท้อนได้จากเเรงงานพม่าเเละชาติอื่นๆ ที่เข้ามาทำงานในไทยมากกว่า 2 ล้านคน
การปรับค่าเเรงเท่ากันที่ 300 บาททั่วประเทศจะส่งผลให้ภายในปีนี้เเรงงานจะหายไป 1 ล้านคนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เพราะเเรงงานจะย้ายกลับไปทำงานยังจังหวัดที่ติดกับชายเเดนประเทศเพื่อนบ้าน เเละเเรงงานพม่าบางส่วนจะเดินทางกลับไปทำงานที่ประเทศของตนเอง