กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยตัวเลขนักลงทุนต่างด้าวเข้ามาลงทุนในไทยเดือนตุลาคมมากถึง 23 ราย เงินลงทุนมากกว่า 1,983 ล้านบาท ธุรกิจบริการมีผู้สนใจเข้ามาลงทุนมากที่สุด 12 ราย รองลงมาคือธุรกิจสำนักงานผู้แทน และธุรกิจค้าส่ง ส่วนประเทศที่สนใจมาลงทุน คือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง เยอรมนี และเดนมาร์ก
นายอิทธิพล ช้างหลำ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยถึงการอนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯ ประจำเดือนตุลาคม 2555 ได้อนุญาตให้ต่างด้าวเข้ามาประกอบธุรกิจในไทยได้จำนวน 23 ราย เป็นเงินทุนที่ใช้ประกอบธุรกิจ 1,983 ล้านบาท มีการจ้างงานคนไทย 235 คน โดยมีธุรกิจที่ได้รับอนุญาตดังกล่าว ประกอบด้วย
1. ธุรกิจบริการ จำนวน 12 ราย (คิดเป็นร้อยละ 53 ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต) มีเงินลงทุนจำนวน 1,282 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่มเกี่ยวกับการให้เช่าที่ดิน ให้กู้ยืมเงิน และรับค้ำประกันหนี้ เป็นต้น ประเทศที่เข้ามาลงทุนได้แก่ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐมอริเชียส เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และสาธารณรัฐเกาหลี
2. ธุรกิจสำนักงานผู้แทน จำนวน 6 ราย (คิดเป็นร้อยละ 26 ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต) มีเงินลงทุนจำนวน 18 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการหาแหล่งจัดซื้อสินค้าต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เสื้อผ้า และเครื่องประดับในประเทศไทยให้สำนักงานใหญ่ และรายงานความเคลื่อนไหวทางธุรกิจเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจ การผลิต การจำหน่าย การลงทุน การตลาด ตลอดจนความต้องการใช้สินค้าและบริการต่างๆ ในประเทศไทยให้สำนักงานใหญ่ทราบ ประเทศที่เข้ามาลงทุนได้แก่ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง เยอรมนี เดนมาร์ก สิงคโปร์ และญี่ปุ่น
3. ธุรกิจค้าส่ง จำนวน 2 ราย (คิดเป็นร้อยละ 9 ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต) มีเงินลงทุนจำนวน 516 ล้านบาท ได้แก่ การค้าส่งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตชุดท่อรวมไอเสียและชุดท่อรวมไอเสีย ให้แก่ผู้ผลิตสินค้าและผู้ประกอบการยานยนต์ และการค้าส่งเครื่องมือแพทย์ให้แก่ตัวแทนจำหน่าย ประเทศที่เข้ามาลงทุนได้แก่ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์
4. ธุรกิจค้าปลีก จำนวน 1 ราย (คิดเป็นร้อยละ 4 ของธุรกิจที่ได้อนุญาต) มีเงินลงทุนจำนวน 17 ล้านบาท ได้แก่ การค้าปลีกแม่พิมพ์ที่ใช้สำหรับผลิตชิ้นส่วนพลาสติกของยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประเทศที่เข้ามาลงทุนคือ ญี่ปุ่น
5. ธุรกิจนายหน้าตัวแทน จำนวน 1 ราย (คิดเป็นร้อยละ 4 ของธุรกิจที่ได้อนุญาต) มีเงินลงทุนจำนวน 6 ล้านบาท ได้แก่ การเป็นนายหน้าตัวแทนในการจัดหาตลาดทั้งในและต่างประเทศเพื่อการจำหน่ายสินค้าให้แก่บริษัทในเครือ ประเทศที่เข้ามาลงทุนคือเนเธอร์แลนด์
6. คู่สัญญากับภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ จำนวน 1 ราย (คิดเป็นร้อยละ 4 ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต) มีเงินลงทุนจำนวน 144 ล้านบาท ได้แก่ บริการจัดหา ก่อสร้าง ติดตั้ง และทดสอบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 500 เควี สำหรับโครงการระบบส่งเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสาลิกไนต์ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ประเทศที่เข้ามาลงทุนคืออินเดีย
ทั้งนี้ ในปี 2555 (มกราคม-ตุลาคม 2555) คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทยแล้วจำนวน 274 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 12,744 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรากฏว่าจำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้นร้อยละ 39 และเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 4,672 ล้านบาท