กรมการปกครองลงพื้นที่ทะเลตรังสำรวจอาชีพประมงโพงพางผิดกฎหมาย เบื้องต้นอยู่ระหว่างยืดเวลาขอผ่อนผัน ฝ่ายรัฐฯ เน้นวิธีประนีประนอมมอบอุปกรณ์ประมงสุจริต หวังชาวบ้านใช้ทำกินยังชีพแทนโพงพาง หลังพบทำลายระบบนิเวศทางทะเล
นายอภิชาต เทียวพานิช รองอธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า พื้นที่ชายฝั่งทะเล จังหวัดตรังที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยึดอาชีพประมงเป็นหลัก โดยเฉพาะอำเภอหาดสำราญมีการตรวจพบใช้เครื่องมือประมงโพงพางที่ผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ทางกรมการปกครองจึงจัดทำโครงการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงประจำที่ประเภทโพงพางและโป๊ะน้ำตื้นขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาระบบนิเวศทางทะเลโดยเฉพาะสัตว์น้ำ เนื่องจากโพงพางเป็นเครื่องมือประมงที่ใช้อวนลักษณะคล้ายถุง ปากอวนกางยึดอยู่กับเสาที่ปักกลางทะเลที่มีกระแสน้ำพัดผ่าน ซึ่งจะจับสัตว์น้ำตัวเล็ก สัตว์น้ำวัยอ่อน และจับอย่างไม่แยกประเภท รวมถึงยังมีเครื่องมือที่จัดว่ากีดขวางทางเดินเรือทั้งขณะทำการประมง และหยุดทำการประมงเพราะปักหลักทิ้งไว้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมการปกครองได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงให้แก่ชาวประมง ประเภทอวนกุ้ง อวนปู อวนปลาทู ให้แก่ผู้ประกอบอาชีพโพงพางจำนวน 29 รายจาก 118 ราย โดยใช้งบประมาณงบยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดตรังจำนวน 300,000 บาท โดยเครื่องมือประมงประเภทโพงพางเป็นเครื่องมือที่ผิดกฎหมายตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ห้ามใช้เครื่องมือโพงพาง รั้วไซมาน หรือกั้นซู่รั้วไซมาน หรือเครื่องมือที่มีลักษณะและวิธีการใช้คล้ายคลึงกันทำการประมง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2521) ลงวันที่ 14 กันยายน 2551
“ที่ผ่านมา จ.ตรังเคยมีแนวความคิดและหารือร่วมกับแกนนำเครือข่ายประมงพื้นบ้านที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องเครื่องมือโพงพางและโป๊ะน้ำตื้นมาเป็นระยะๆ แต่ต้องประสบปัญหาเรื่องงบประมาณที่จะช่วยเหลือชาวประมงที่จะต้องปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงหรืออาชีพ ในขณะที่อาชีพประมงโพงพางเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านในละแวกดังกล่าวที่ถ่ายทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น ดังนั้น หากให้มีการเลิกทำประมงโพงพางทันทีอาจจะกระทบวิถีชีวิตและขาดรายได้ เนื่องจากชาวบ้านไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ดังนั้นทางรัฐบาลจึงทำการผ่อนผันเวลาออกไป” รองอธิบดีกล่าว
ด้านนายสุชิน สุธาชีวะ นายอำเภอหาดสำราญ จ.ตรัง กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงทำความเข้าใจกับชาวบ้าน พร้อมทำมอบอุปกรณ์ประมงที่ถูกกฎหมายให้ แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ต้องการปรับเปลี่ยนเนื่องจากประมงโพงพางมีรายได้มากกว่าการทำประมงประเภทอวน โดยรายได้จากการทำประมงโพงพางอยู่ที่ 7,000-12,000 บาท/เดือน (ยังไม่หักค่าจ้างแรงงาน) สามารถทำประมงโพงพางได้ 10-14 ครั้ง/เดือน แต่หากในอนาคตคาดว่ารายได้จะลดลงแน่นอนเนื่องจากรัฐบาลคุมเข้มมากขึ้น ดังนั้นหากชาวประมงเลิกทำประมงโพงพางก่อนก็จะได้เปรียบ