นับเป็นเวลาเกือบ 15 ปีแล้ว จากอาชีพขาย “ขนมเครป” ของอดีตมนุษย์เงินเดือน ที่หวังเพียงหารายได้เสริม ปัจจุบัน ก้าวสู่แฟรนไชส์เจ้าดัง แบรนด์ “N&B” ที่ปักเสาเข็มทางธุรกิจได้อย่างแข็งแรง ด้วยจำนวนกว่าร้อยสาขา ผลประกอบการปีที่ผ่านมา (2554) กว่า 80 ล้านบาท ที่สำคัญกว่านั้น อัตราการปิดตัวลงของสาขาแฟรนไชส์เฉลี่ยเพียง 5-10% เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากในระบบการทำแฟรนไชส์
ในโอกาสที่แบรนด์ “N&B” กำลังจะมีอายุครบ 15 ปีเต็ม หัวเรือใหญ่ผู้อยู่เบื้องหลังแห่งความสำเร็จ “บุญประเสริฐ พู่พันธ์” กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็น แอนด์ บี พิซซ่าเครป จำกัด ได้มาพูดคุยเพื่อบอกเล่าประสบการณ์จากการทำงาน ตลอดจน กลยุทธ์ที่ใช้ขับเคลื่อนธุรกิจจนเติบโตมาถึงวันนี้ รวมไปถึง ยังเผยถึงก้าวต่อไปของธุรกิจอีกด้วย...
@@@@ มุ่งเรียนรู้เพื่อพัฒนา @@@@
หากจะหาคำนิยาม หรือหาแก่นเพื่อเป็นบทสรุปแห่งความสำเร็จที่เกิดขึ้น บิ๊กบอสแห่งแฟรนไชส์ “N&B” บอกทันทีว่า “การเรียนรู้” เพื่อนำมาใช้ “พัฒนา” ตัวเองอยู่เสมอ ทั้งในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาองค์กร ล้วนเกิดการเรียนรู้ ที่ได้ทั้งจากประสบการณ์ในการทำงานจริง ลองถูกลองผิด การพูดคุยกับลูกค้า ตลอดจนคำแนะนำผู้บริโภค เข้าอบรมสัมมนาของหน่วยงานส่งเสริมต่างๆ ฯลฯ เหล่านี้ ประกอบกับนำมาใช้ประยุกต์พัฒนาให้เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด
“สิ่งที่พวกเราพยายามมุ่งมั่นทำมาตลอด คือ การพัฒนาธุรกิจของเรา ซึ่งการพัฒนาที่ได้ผลดีที่สุด มันล้วนเกิดจากการที่เราต้องเรียนรู้สิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว แล้วมานำปรับปรุง อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ของเราที่เริ่มจากทำ “ขนมเครป” ก็เห็นปัญหาว่า เครปต้องรอนาน และคนกินเครปจะซื้อแล้วถือกิน ทำให้ปริมาณซื้อต่อหน่วยน้อย ผมเลยลองประยุกต์เครปให้มีขนาดเล็ก เป็น “มินิเครป” ในลักษณะขนมสำเร็จรูปใส่ในบรรจุภัณฑ์ดูดี ทำสดใหม่ๆ เหมาะซื้อกลับไปเป็นของฝาก ช่วยให้ได้รับความนิยม ตลาดโตขึ้นอย่างมาก ช่วยพลิกธุรกิจของเรา ทำให้เพิ่มยอดขายเป็นมากกว่า 1 แสนชิ้นต่อเดือน”
“นอกจากนั้น เราพยายามพัฒนาทุกๆ ด้านควบคู่กันไป ทั้งพัฒนาระบบองค์กร ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ใหม่ให้มีความสวยงามมากขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่า รีแบรนด์เพิ่มความทันสมัย ออกไส้ใหม่เสมอ และมีผลิตภัณฑ์ใหม่มาขยายฐานลูกค้า เช่น ทำคุกกี้ ซึ่งสามารถซื้อแล้วเก็บไว้กินได้นานๆ เพื่อมาลดจุดอ่อนของมินิเครป ซึ่งมีระยะเวลาเก็บค่อนข้างจำกัด เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ผมจะอาศัยการเรียนรู้ เพื่อนำมาใช้พัฒนา”
@@@@ ทำเฉพาะสิ่งที่ตัวเองถนัด @@@@
อีกหนึ่งความแตกต่างระหว่างแฟรนไชส์ “N&B” กับแฟรนไชส์ธุรกิจอาหารส่วนใหญ่โดยทั่วไป อยู่ที่หลักการบริหารวัตถุดิบ ซึ่งแฟรนไชส์อาหารทั่วไปมักมีพื้นฐานจากการเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบหลักเสียเอง แต่สำหรับ “N&B” แล้ว ไม่ได้ผลิตวัตถุดิบใดๆ เลย ทว่า จะเลือกทำเฉพาะสิ่งที่ตัวเองเชี่ยวชาญ นั่นคือ การพัฒนาสูตรแป้ง แล้วใช้วิธีจ้างโรงงานมืออาชีพผลิตให้ตามต้องการ
“ผมพยายามโฟกัสทำเฉพาะสิ่งที่เราถนัด โดยเฉพาะการพัฒนาเรื่องแป้งเท่านั้น ซึ่งเป็นสูตรของเราเอง โดยจะไม่ไปมุ่งลงทุน สร้างโรงงานผลิตแป้งสำเร็จรูปของตัวเอง เพราะหากจะทำอย่างนั้น การทำโรงงานให้ได้มาตรฐานสากล ต้องใช้ทุนสูงมาก และที่สำคัญ การทำโรงงานผลิตแป้ง มันไม่ใช่งานที่เราถนัด ดังนั้น เราจะโฟกัสเฉพาะการพัฒนาสูตรแป้ง โดยมีทีม R&D ของตัวเอง เมื่อได้สูตรแป้งแล้ว ค่อยไปว่าจ้างโรงงานผลิตแป้งมืออาชีพ ให้ทำแป้งตามสูตรของเรา แต่เราก็จะไม่จ้างแค่โรงงานแห่งเดียวทำทุกขั้นตอน แต่จะกระจายให้หลายๆ โรงงาน ทำแป้งเฉพาะบางขั้นตอน หรือบางส่วนเท่านั้น หลังจากนั้น ค่อยนำกลับมาผสมกันที่ส่วนกลางที่บริษัทของเรา ซึ่งวิธีนี้ ช่วยป้องกันไม่ให้โรงงานที่เราไปว่าจ้าง ทำเลียนแบบสูตรแป้งของเราได้”
“นอกจากนั้น ผมก็จะไม่ทำ “มินิเครป” เป็นขนมสำเร็จรูป เพื่อไปวางขายตามร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า หรือโมเดิร์นเทรด ทั้งๆ ที่มีบริษัทรายใหญ่ติดต่อมาให้เราเอาสินค้าวางขายในห้างร้านของเขาจำนวนมาก เพราะผมถือว่า ตลาดตรงนั้น เราต้องไปแข่งกับบริษัทผลิตขนมปังรายใหญ่ ซึ่งผมก็มองว่า มันไม่ใช่สนามของเรา”
@@@@ คัดตัวจริงร่วมแฟรนไชส์ @@@@
ปัจจุบันนี้ แฟรนไชส์ “N&B” มีจำนวนสาขารูปแบบ Kiosk กว่า 100 แห่ง และในรูปแบบ Shop หรือร้านอีกกว่า 35 สาขา ที่น่าสนใจกว่านั้น นับตั้งแต่เริ่มเปิดขายแฟรนไชส์อย่างเป็นจริงเป็นจัง เมื่อปีพ.ศ.2552 สถิติการปิดตัวของสาขาแฟรนไชส์ มีอัตราเฉลี่ยเพียง 5-10% เท่านั้น
“สิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจยั่งยืน มันมาจากที่เราต้องมีระบบที่ดี โดยเฉพาะการคัดเลือกลูกค้าที่จะมาซื้อแฟรนไชส์ ผมจะใช้หลักว่า เราต้องคัดลูกค้าตัวจริง หมายถึง คนที่อยากจะมาร่วมธุรกิจกับเราจริงๆ ไม่ใช่ว่า แค่มีเงินแล้วอยากลงทุนหวังกำไร นอกจากนั้น มีใจอย่างเดียวก็ไม่พอ เขาจะต้องมีความพร้อมทุกด้าน ทั้งเรื่องส่วนตัว มีใจรักงานบริการ มีประสบการณ์ มีทำเลเหมาะสม และพร้อมจะปฏิบัติตามระบบบริหารของเรา”
“ขณะเดียวกัน ในส่วนบริษัทเอง ก็มีระบบบริหารแฟรนไชส์ที่เป็นมืออาชีพ ตั้งแต่การฝึกอบรมความรู้ทางธุรกิจ ความรู้ในผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง มีการสนับสนุนการตลาด เพื่อประโยชน์ของแฟรนไชส์ซี ระบบการควบคุมการตรวจสอบและจัดส่งสินค้าด้วยคอมพิวเตอร์ฯลฯ ตลอดจน ประสบการณ์ในการทำธุรกิจนี้มาเกือบ 15 ปี ซึ่งจะมาถ่ายทอดและคอยแนะนำให้แฟรนไชส์ซีได้เสมอ ซึ่งจากระบบเหล่านี้ เมื่อบวกกับการที่เราคัดเฉพาะลูกค้าตัวจริงมาร่วมเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ ทำให้อัตราการปิดตัวของสาขาแฟรนไชส์เราน้อยมาก”
@@@ วางเป้าโลดแล่นตลาดอาเซียน @@@
บุญประเสริฐ เผยถึงแผนธุรกิจของแฟรนไชส์ “N&B” ต่อจากนี้ จะเน้นการขยายในรูปแบบร้านเป็นสำคัญ เนื่องจากลูกค้าแฟรนไชส์มีความเสี่ยงที่จะถูกเจ้าของพื้นที่ ยึดคืนพื้นที่เช่าน้อยกว่ารูปแบบ Kiosk โดยทำเลเป้าหมายต้องการขยายสาขาไปตามห้างสรรพสินค้าที่เปิดใหม่ในต่างจังหวัด
ส่วนเป้าผลประกอบการในปีนี้ (2555) จะเพิ่มจากปีที่ผ่านมา (2554) ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 80 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาท ซึ่งจากแนวโน้มผลประกอบการของปีนี้ที่ผ่านมา เชื่อว่าจะถึงตามเป้าแน่นอน
นอกจากนั้น แผนในอนาคต อีก 2-3 ปีข้างหน้า เตรียมจะส่งแฟรนไชส์ “N&B” ไปขายยังประเทศเพื่อนบ้าน แถบอาเซียน ซึ่งได้ไปสำรวจ และทดลองตลาดมาแล้วหลายครั้ง ปรากฏว่า ได้การตอบรับที่ดียิ่งเสมอ ดังนั้น หลังจากบริษัทเตรียมความพร้อมทุกประการแล้ว แฟรนไชส์“N&B” จะออกไปโลดแล่นในตลาดอาเซียนแน่นอน
@@@@@@@@ www.nbpizzacrepe.co.th@@@@@@@@@@@
ข้อมูลลงทุนเบื้องต้นแฟรนไชส์ “N&B” |
-รูปแบบลงทุนมีให้เลือก 2 แบบ 1.แบบ Kiosk เงินลงทุน 69,000 บาท 2.แบบ Shop เงินลงทุน 8 แสนถึง 1.2 ล้านบาท (ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่) |
- คาดการณ์คืนทุน 1.แบบ Kiosk ภายใน 1-3 เดือน 2.แบบ Shop ภายใน 1-2 ปี |
-เงื่อนไขการร่วมเป็นแฟรนไชส์โดยสังเขป 1.ต้องรับวัตถุดิบหลักจากส่วนกลางเท่านั้น 2.พร้อมจะปฏิบัติตามระบบบริหารของบริษัท |
-สิ่งที่จะได้รับจากการเป็นแฟรนไชส์โดยสังเขป 1.ได้รับโปรแกรมฝึกอบรมความรู้ธุรกิจ และการอบรมพนักงาน 2.สนับสนุนและให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง 3.การสนับสนุนการตลาด |
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *