ผู้ประกอบการไทย 10 แบรนด์รวมตัวผุดศูนย์รวมเฟอร์นิเจอร์-ของแต่งบ้านบนดินแดนปลาดิบ ตั้งเป้าโกยรายได้ 400 ล้านบาทใน 5 ปี
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่า ทางรัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุน 10 แบรนด์ไทยเปิดศูนย์รวมและจำหน่ายสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้าน ภายใต้เฟอร์นิเจอร์แบรนด์ชั้นนำจากประเทศไทยในนาม “ไต้ฝุ่น” (TYPHOON) มีที่ตั้งอยู่ในเมืองโอกาวา จังหวัดฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันเป็นศูนย์ที่รวบรวมสินค้าแบรนด์ไทยจำนวนมากที่สุดในญี่ปุ่น โดยตั้งเป้าหมายในอนาคตว่าจะเป็นผู้กระจายสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปทั่วญี่ปุ่น ทั้งนี้ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของกรมฯ ที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในต่างประเทศ พร้อมกับสร้างเครือข่ายการค้า การสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการสร้างตราสินค้าไทย
“ไต้ฝุ่นมีแผนจะขยายธุรกิจในลักษณะกึ่งแฟรนไชส์ ในรูปแบบการสร้างร้านค้าพันธมิตรที่จะนำสินค้าแบรนด์ไทยไปวางจำหน่าย รวมทั้งหาพันธมิตรที่เป็นบริษัท หรือสำนักงานออกแบบตกแต่งงานโครงการอาคารและบ้านพักอาศัยเพื่อผลักดันการนำสินค้าแบรนด์ไทยเหล่านี้ไปใช้งานโครงการก่อสร้างต่างๆ โดยตั้งเป้าสร้างพันธมิตรทั่วญี่ปุ่น 100 รายภายใน 5 ปี หรือมียอดขายประมาณ 400 ล้านบาท (1,000 ล้านเยน) และปีแรกจะมียอดขายประมาณ 40 ล้านบาท (100 ล้านเยน)” นางนันทวัลย์กล่าว
ศูนย์ฯ ไต้ฝุ่นดำเนินงานในนามบริษัท ทีทีเอ็น คอร์ปอเรชั่น อิงค์ มีพื้นที่วางจำหน่ายสินค้าราว 800 ตร.ม. จำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ภายใต้แบรนด์ของผู้ผลิตไทย 7 ราย คือ เคนคูน(KENKOON), เพอร์ฟอร์มาส (PERFORMAX), โมเบลล่า (MOBELLA), KUN, พาลาสโซ่(PALAZZO), เบนจา คอลเลคชั่น (BENJA COLLECTION) และดีสวัส (DEESAWAT) กับกลุ่มของแต่งบ้านและเคหะ สิ่งทอ แบรนด์ไทย 3 แบรนด์ คือ ผลิตภัณฑ์โคมไฟภายใต้แบรนด์ แอท อีสต์ (@ east) และเคหะสิ่งทอแบรนด์พาสายา (PASAYA) และบัวผัด (BUANHAT)
ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นเป็นตลาดนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านไทยที่สำคัญ โดยไทยส่งออกไปแต่ละปีไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท โดยในช่วงไตรมาสแรกปี 2555 (มกราคม-มีนาคม) ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนจากไทยประมาณ 2,034 ล้านบาท หรือ ขยายตัว 15% ซึ่งรูปแบบที่ตลาดต้องการเป็นงานดีไซน์และคุณภาพสูงขึ้น รวมทั้งการยอมรับในมาตรฐานแบรนด์สินค้าไทย ซึ่งถือเป็นการยกระดับภาพลักษณ์สินค้าไทยสู่ตลาดญี่ปุ่นอย่างแท้จริง
นายจิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย กล่าวว่า ตนมั่นใจว่าเฟอร์นิเจอร์ไทยมีคุณภาพสูงกว่าประเทศในกลุ่มอาเซียน ส่วนหนึ่งมีโครงการที-สไตล์ (T-style) เพื่อเชื่อมโยงคุณภาพขั้นสูงกับการเพิ่มมูลค่า โดยร่วมกับดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่น โทชิยูกิ คิตะ กับผู้ผลิตไทยหลายบริษัท โดยการพัฒนาสินค้าให้มีดีไซน์ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม(ECO) เป็นธีม ซึ่งผลงานการออกแบบได้เริ่มนำออกมาจำหน่ายแล้ว ดังนั้น การขึ้นราคาสินค้าที่เกิดขึ้นจากค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่ม 300 บาทเเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ นักธุรกิจต้องปรับตัวให้อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์อยู่ได้ในภาวะดังกล่าว ด้วยการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม