xs
xsm
sm
md
lg

3 ของเล่นไอเดียวัยทีน พลิกความเป็นไทยให้เป็นเท่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อไม่นานมานี้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และคนรุ่นใหม่ ที่ฝันอยากทำธุรกิจของตัวเอง ได้ส่งผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นเข้ามาคัดเลือก เพื่อเข้าโครงการต่อยอดพัฒนาเป็นผู้ประกอบการผลิตสินค้าสู่ตลาดจริงต่อไป

เบื้องต้นมีผู้ผ่านรอบแรกมาประมาณ 100 ราย ทาง TCDC จึงจัดกิจกรรมโชว์เคสสินค้าต้นแบบดังกล่าว ซึ่งหลายชิ้นมีความน่าสนใจอย่างมาก เช่น นำวัสดุเหลือใช้มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ กิฟท์ชอปทำจากแฮนด์เมด และอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

นอกจากนั้น ที่สะดุดตาไม่น้อย คือ มีนักคิดรุ่นใหม่หลายรายไอเดียตรงกัน โดยดึงความเป็นไทยมาเพิ่มมูลค่า นำเสนอในมุมที่ทันสมัย ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ อย่างเช่น 3 ผลงานของวัยรุ่นด้านล่าง ที่มีส่วนคล้อยกันตรงแนวคิดในการสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ “ของเล่นเด็ก” ที่ใช้เอกลักษณ์ไทยมาพลิกโฉมให้ดูทันสมัย เหมาะสมกับยุคปัจจุบัน

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
เปรม หะทัยธรรม
‘boxburi’ โมเดลกระดาษสไตล์ไทย

ผลงานชิ้นแรกเป็นของ “เปรม หะทัยธรรม” หนุ่มผู้มากฝีมือด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิก ซึ่งชื่นชอบประดิษฐ์ และเล่นประกอบโมเดลกระดาษ (Paper Model) เป็นงานอดิเรกอยู่เสมอ
โมเดลกระดาษหนุมาน
เปรม เล่าว่า งานโมเดลกระดาษ คือ การนำกระดาษมาต่อประกอบกัน คล้ายการประกอบกล่อง ให้ออกมาเป็นรูปทรงต่างๆ เป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งชิ้นงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะวางขายตามท้องตลาด หรือหาตามอินเตอร์เน็ต ส่วนใหญ่จะมีเฉพาะดีไซน์แนวญี่ปุ่น หรือแบบที่เป็นสากลเท่านั้น เช่น หุ่นยนต์ ตัวการ์ตูน และสัตว์ เป็นต้น ในขณะที่ ดีไซน์แบบไทยๆ แทบยังไม่มีมาก่อน กลายเป็นแรงบันดาลใจ อยากสร้างสรรค์งานโมเดลกระดาษที่เป็นดีไซน์ของไทยออกมาบ้าง


“ผมเห็นว่า ของเล่นโมเดลกระดาษจะเป็นประโยชน์แก่ผู้เล่น โดยเฉพาะเด็กๆ เพราะคนที่ประกอบโมเดลกระดาษ จะต้องวางแผน และฝึกสมาธิไปในตัวเอง รวมถึง การต่อโมเดลกระดาษยังช่วยเสริมความคิดสร้างสรรค์ด้วย ขณะที่ การทำเป็นดีไซน์ไทย ช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เอกลักษณ์ความเป็นไทยไปในตัว” เปรม เสริม

เนื่องจากทำงานด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิกอยู่แล้ว ด้านการออกแบบจึงไม่ใช่ปัญหาสำหรับหนุ่มคนนี้ โดยใช้ชื่อผลงานว่า ‘boxburi’ มีจุดเด่นอยู่ที่ความละเอียดของลวดลายต่างๆ บนกระดาษ รวมถึง การจัดรูปร่างและท่าทางที่จำลองออกมาได้สวยงามน่าดูชม เบื้องต้นมี 3 แบบ ได้แก่ หนุมาน หงส์ลายไทย และจ่าเฉย
จ่าเฉย
เปรม ระบุว่า ตอนนี้ ขายผลงานดังกล่าวเป็นรายได้เสริม ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ www.boxburi.com และ www.facebook.com/puchianme ราคาหนุมานตัวละ 120 บาท ส่วนหงส์ลายไทย และจ่าเฉย ราคาตัวละ 80 บาท สนใจติดต่อไปได้ที่ 08-9792-7154 หรือตามเว็บไซต์ดังกล่าว
หงส์
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

แปลงโฉม “สัตว์ป่าหิมพานต์” เป็นของเล่นไม้

ชิ้นต่อมาเป็นไอเดียสุดแนวของคนหนุ่มอย่าง “ไพศาล ทองด้วง” ด้วยการนำตัวละครต่างๆ จากป่าหิมพานต์ ตามวรรณคดีไทย เช่น นางเงือก ครุฑ เทพนรสิงห์ เป็นต้น มาแปลงโฉมให้เป็นของเล่นไม้
ไพศาล ทองด้วง
โดยรูปแบบจะเป็นตัวการ์ตูนตุ๊กตาไม้ทรงสีเหลี่ยม สามารถต่อประกอบได้ เล่นควบคู่กับแผ่นการ์ดที่จะแนะนำสัตว์แต่ตัว พร้อมบอกส่วนประกอบของสัตว์แต่ละชนิด

“ผมอยากให้ของเล่นชิ้นนี้ ช่วยเป็นสื่อการเรียนการสอน ใช้ประกอบในการเล่านิทานหรือสอนวรรณคดีไทยให้เด็กๆ ได้ซึมซับและสนุกสนานมากยิ่งขึ้น” ไพศาล กล่าว

นอกจากนั้น ยังช่วยเสริมสร้างจินตนาการ และสอดแทรกความรู้ไปในตัว เช่น ตัวตุ๊กตา “ลิง” เมื่อถอดส่วนขาออก แล้วใส่ส่วนหางปลาของ “นางเงือก” เข้าไปแทน จะกลายเป็นตัวละคร “มัจฉานุ” ซึ่งผู้สอนสามารถอธิบาย และเล่าเสริมถึงที่มาที่ไปของตัวละครได้
การ์ดแนะนำตัวละคร และวิธีประกอบ
ไพศาล ระบุด้วยว่า สาเหตุที่เลือกทำตัวตุ๊กตาเป็นสัตว์จากป่าหิมพานต์ เพราะเห็นว่า ปัจจุบัน เด็กไทยรุ่นใหม่แทบจะไม่รู้จักตัวละครเหล่านี้แล้ว เมื่อมาทำเป็นของเล่น จะช่วยให้เด็กๆ รู้จักและจดจำได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้ง สัตว์ต่างๆ ในป่าหิมพานต์ มีความเป็นแฟนตาซีสูง เหมาะจะทำเป็นของเล่นที่เติมจินตนาการได้อย่างดี

นอกจากนั้น ส่วนในอนาคต หากได้รับคัดเลือกเข้าโครงการต่อยอด อยากจะทำตัวละครจากวรรณคดีไทยเรื่องอื่นๆ ออกมาเพิ่มเติมด้วย

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
ตัวแขวง
'Heaven or Hell' เกมสนุกท้าปัญญา

ของเล่นชิ้นสุดท้าย เป็นของสาวน้อย “ชลิตา หวังกิตติพร” ที่คิดเกม พร้อมสร้างวิธีการเล่นเอง ใช้ชื่อเกมว่า “Heaven or Hell” หรือชื่อในเวอร์ชั่นไทยว่า “แพ้ตก อดขึ้นสวรรค์”
ชลิตา หวังกิตติพร
สำหรับกติกา ผู้เล่นจะต้องเลือกแผ่นการ์ดซึ่งจะระบุตัวแขวน และจำนวนที่ต้องแขวนไว้ หลังจากนั้น จะต้องทอยลูกเต๋า เพื่อเลือกแท่งสี เมื่อได้แล้ว ให้นำตัวแขวน ไปแขวนตามแท่งสีต่างๆ หากแท่งสีล้มลงมา ถือว่าเป็นฝ่ายแพ้ แต่ถ้าแขวนแล้ว แท่งสียังตั้งอยู่ได้ ผู้เล่นคนต่อไป จะต้องทำตามขั้นตอนดังกล่าวมาข้างต้น โดยเล่นสลับกันไปเรื่อยๆ จนสุดท้าย ถ้าใครทำแท่งสีล้ม ถือว่าแพ้
แท่งวางเป็นการจำลองและตัดทอนมาจากรูปทรง “เขาพระสุเมธ”
สำหรับความเป็นไทยที่สาวน้อยนำมาสอดแทรกไว้ คือ รูปทรงของแท่งวางเป็นการจำลองและตัดทอนมาจากรูปทรง “เขาพระสุเมธ” ในขณะที่ตัวแขวนต่างๆ เป็นการดึงเอกลักษณ์มาจากลักษณะตัวละครในวรรณคดีเรื่อง “รามเกียรติ” มีด้วยกัน 6 ตัวได้แก่ นางสีดา ทศกัณฐ์ หนุมาน องคต พิเภก และพระราม

ชลิตา เล่าว่า ประโยชน์ที่จะได้จากการเล่น สามารถช่วยเสริมทักษะ และรู้จักการวางแผน เพราะการนำตัวแขวนแต่ละตัว ไปแขวนบนแท่งสีแต่ละแท่งนั้น ความยากง่ายจะแตกต่างกันออกไป ดังนั้น ผู้เล่นต้องรู้จักวางแผน และตรึงตรองก่อนตัดสินใจ ในขณะเดียวกัน การแขวนแต่ละครั้ง จำเป็นต้องอาศัยความสุขุมรอบคอบ จึงช่วยเป็นการฝึกสมาธิ

@@@@@@@@@@@@@@@@
กำลังโหลดความคิดเห็น