xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันสิ่งทอ เสนอ 5 โครงการสีเขียว อุ้ม ผปก.สู่ AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุทธินีย์  พู่ผกา
สถาบันสิ่งทอ นำเสนอผลงานวิจัยสิ่งทอเพื่อสิ่งแวดล้อม 5 โครงการ แนะผู้ประกอบการนำไปปรับใช้ เพื่อก้าวสู่ AEC อีกทั้ง จับมือสนง.เศรษฐกิจอุตสาหกรรม ดันโครงการBest Practices ช่วงโรงงานประหยัดได้กว่า 157 ลบ.

นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า ทางสถาบันฯ ได้ดำเนินกิจกรรมวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสู่เชิงพาณิชย์ ภายใต้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทออย่างครบวงจร ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสารตกค้างหรือสารพิษที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าสิ่งทอด้วยการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายและเพิ่มการแข่งขันในตลาดการค้าเสรีได้ ผลการดำเนินโครงการทำให้ได้ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Textile Products) จำนวน 5 ผลิตภัณฑ์ คือ

1. การพัฒนากระบวนการหมักและผลิตภัณฑ์สิ่งทอเส้นใยลูกตาล เพื่อทดแทนการใช้เส้นใยสังเคราะห์ ลดวัสดุเหลือทิ้งในท้องถิ่น เกิดการจ้างแรงงานในพื้นที่ และพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์เคหะสิ่งทอหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการสวมใส่จากสีธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโครงการเป็นผ้าผืนจากเส้นใยตาล และเสื้อผ้าประกอบด้วย ชุดแซก, ชุดยืน, ผ้าคลุมไหล่ผืนใหญ่ และประเภทของตกแต่งภายในบ้าน

2. การพัฒนาเส้นใยสับปะรดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการผลิตเส้นใยธรรมชาติจากใบสับปะรด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษวัสดุเหลือใช้ที่ภาคการเกษตรไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ กระบวนการผลิตใช้วิธีทางธรรมชาติลดการใช้สารเคมีในการผลิต ซึ่งผลิตภัณฑ์ในโครงการเป็น ผ้าทอใยผสมจากใยฝ้ายผสมเส้นใยสับปะรด, เสื้อคลุมอาบน้ำ, ผ้าพันคอ, เสื้อสูท ผ้าม่านและเครื่องใช้ต่างๆ ภายในบ้าน

3. การพัฒนาเส้นใยประดิษฐ์สององค์ประกอบเพื่อการปลดปล่อยปุ๋ยสำหรับการปลูกต้นกล้วยไม้ เป็นการศึกษากระบวนการผลิต ที่มีสมบัติในการปลดปล่อยสารจากภายในเส้นใย โดยควบคุมอัตราและปริมาณการปล่อยปุ๋ยสู่รากกล้วยไม้ ทำให้ลดปริมาณปุ๋ยที่ต้องการใช้ ลดจำนวนครั้งของการฉีดพ่นปุ๋ย และเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยทำเป็นผลิตภัณฑ์ แผ่นปุ๋ยที่เป็นผ้าไม่ทอ (Nonwoven) สำหรับปลูกกล้วยไม้สกุลแวนด้า

4. การพัฒนาผ้าทอโดยใช้เส้นด้ายพอลิเอสเตอร์รีไซเคิลสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นการนำขวดน้ำดื่มพลาสติก (PET) กลับมาใช้ใหม่โดยทำเป็นเส้นด้ายพอลิเอสเตอร์รีไซเคิล แล้วทำการผลิตเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้เป็นผ้าทอจากเส้นใยพอลิเอสเตอร์รีไซเคิลและตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นชุดสูทและเสื้อผ้าสำหรับสวมใส่

5. การผลิตเส้นใย PBT จากพอลิเอสเตอร์รีไซเคิล เป็นการพัฒนาเส้นใยพอลิเอสเตอร์ในกลุ่มของพอลิบิวทิลีนเทเรพแทเลต (PBT) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยได้จากพอลิเมอร์ที่ผ่านกระบวนการทางเคมีที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เพื่อลดปริมาณการใช้วัตถุดิบจากน้ำมันที่ใช้ในการผลิตลง รวมถึงลดปัญหาและความยากในการย้อมผ้าและการย้อมซ้ำที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต

นอกจากนั้น ทางสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมให้ดำเนินโครงการจัดทำแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและผลิตภาพด้านการผลิต สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (Best Practices) และโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มด้วยการบำรุงรักษาเครื่องจักรแบบทวีผล (TPM) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย

สำหรับผลการดำเนินโครงการในปี 2554 โครงการ Best Practices สามารถช่วยโรงงานประหยัดเงินได้มูลค่า 157,464,000 บาทต่อปี และโครงการ TPM ช่วยโรงงานประหยัดเงินได้มูลค่า 116,962,000 บาทต่อปี อีกทั้งผู้ประกอบการเกิดความตระหนัก ได้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีสิ่งทอ การพัฒนาระบบการผลิต และ สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอได้เป็นอย่างดี รวมทั้งมีการเพิ่มผลิตภาพการผลิตโดยการจัดทำและใช้ระบบมาตรฐานฝีมือแรงงาน พร้อมกำหนดอัตราค่าจ้างให้สอดคล้องกับมาตรฐานฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งช่วยให้โรงงานประหยัดเงินได้มูลค่า 5,611,000 บาทต่อปี และ ในอนาคตอันใกล้นี้จะมีการรวมตัวของกลุ่มประเทศในอาเซียน (AEC) ซึ่งจะเป็นการเปิดเสรีสินค้าและบริการ ทำให้ไทยมีคู่แข่งทางการค้ามากขึ้น จึงต้องมีการเตรียมตัวโดยการพัฒนาในเรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) การลดต้นทุนการผลิตโดยรวม และ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และจากปัญหาอุทกภัยที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมทาง สถาบันฯ จึงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุน ฟื้นฟูให้ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอกลับมาอยู่ในสภาวะปกติโดยเร็วผ่านโครงการต่าง ๆ ในปี 2555

ทั้งนี้ สถาบันฯ ได้มีการดำเนินการโครงการอย่างต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2555 ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มสมัครเข้าร่วมโครงการภายในงาน ทั้งโครงการจัดทำแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและผลิตภาพด้านการผลิต สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (Best Practices) และโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มด้วยการบำรุงรักษาเครื่องจักรแบบทวีผล (TPM) รวมทั้งกิจกรรมภายใต้โครงการสิ่งทอครบวงจร อาทิ กิจกรรมการพัฒนาทักษะนักออกแบบและผู้ประกอบการ (ฝึกอบรมสัมมนา) การประกวดงานออกแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่นในบริบทของอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม กิจกรรมการเชื่อมโยงนักออกแบบและผู้ผลิตสินค้าแฟชั่นสิ่งทอกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ หากผู้ประกอบการท่านใดสนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ โทร. 0 2713 5492 – 9 หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.thaitextile.org
กำลังโหลดความคิดเห็น