xs
xsm
sm
md
lg

มิติใหม่ไม้ไผ่ขดสไตล์โมเดิร์น ผลงานนักออกแบบจบประถม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

งานไม้ไผ่ขด ทำเป็นถาดใส่ของ
การทำเครื่องจักสาน “ไม้ไผ่ขด” เป็นภูมิปัญญาประจำถิ่นล้านนาที่สืบทอดมายาวนาน เมื่อมาประกอบเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ของ น้อม ทิพย์ปัญญา หนุ่มชาวเชียงใหม่ได้พลิกโฉมงานหัตถกรรมท้องถิ่นให้มีรูปแบบแตกต่างไปจากที่เคยเป็นมา ทั้งด้านดีไซน์และประโยชน์ใช้สอย ช่วยตอบความต้องการของตลาดได้เหมาะสมยิ่งขึ้น
น้อม ทิพย์ปัญญา
ในความเป็นจริง เจ้าของผลงานไม้ไผ่ขดรวยไอเดีย มีโอกาสการศึกษาแค่จบระดับประถมเท่านั้น ทว่า ความสามารถเชิงสร้างสรรค์งานจักสานต่างๆ เกิดจากการสะสมประสบการณ์ และเรียนรู้ด้วยตัวเองจากที่เคยเป็นลูกจ้างทำทุกอย่างอยู่ในร้านทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ และอุปกรณ์เครื่องใช้ไม้ที่บ้านถวาย จ.เชียงใหม่ แหล่งผลิตงานไม้ชื่อดังของประเทศ
โคมไฟ ได้แรงบันดาลใจจากพัดลมตั้งโต๊ะ
ทำเป็นสินค้านานาชนิด
น้อม เล่าเสริมว่า ภายใต้จุดอ่อนของเขาที่การศึกษาค่อนข้างจำกัด ส่วนหนึ่งอาจกลายเป็นข้อดีได้เช่นกัน เนื่องจากไม่มีความรู้ด้านการออกแบบใดๆ มาก่อนเลย ทำให้ไม่ยึดติดกับรูปแบบ หรือวิธีการทำแบบมาตรฐานที่เคยมีมา อย่างในกรณีหัตถกรรม “ไม้ไผ่ขด” เดิมจะนำไปทำเป็นภาชนะเครื่องเขิน มีการลงรัก ปิดทอง ซึ่งขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อนมาก แต่เขากลับมาพลิกโฉมให้ง่ายขึ้น โดยตัดขั้นตอนลงรักปิดทองออกไปให้เหลือเป็นลายไม้ไผ่ธรรมชาติ รวมถึง ดัดรูปทรงให้บิดเบี้ยว สร้างความแตกต่างจากงานในอดีตที่เคยมีมา

“เมื่อก่อนงานไม้ไผ่ขดจะต้องเป็นภาชนะรูปทรงกลม แบนๆ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่อยู่คู่ภาคเหนือมาเป็นร้อยๆ ปี แต่ตัวผมเองไม่เคยเรียนรู้วิธีการทำที่ถูกต้องมาก่อนเลย อาศัยลองผิดลองถูกทำเอง รูปทรงของไม้ไผ่ขดที่ออกมามันเลยบิดๆ เบี้ยวๆ คนรุ่นเก่าที่ทำเก่งๆ ก็จะบอกว่าฝีมือไม่ได้เรื่อง แต่ปรากฏว่า งานของผมกลับไปถูกใจลูกค้า ที่มักบอกเหตุผลว่า สไตล์ดูเป็นโมเดิร์น อีกทั้ง มีความเป็นธรรมชาติสูง เหมาะที่จะใช้งานมากกว่างานไม้ไผ่ขดแบบอดีต” น้อม บอกเล่า
โคมไฟ ทำจากไม้ไผ่ขด

สำหรับวัสดุในการทำ คือ “ไม้ไผ่เฮี้ย” ซึ่งเป็นไผ่พันธุ์ที่มีอยู่มากทางภาคเหนือ คุณลักษณะเด่นจะมีลำปล้องยาว หากโตเติบทีแต่ละปล้อง ยาวถึง 80-100 เซนติเมตร เหมาะจะใช้ม้วนขดโดยไม่ต้องต่อไม้ไผ่บ่อยๆ สำหรับวิธีการทำ เริ่มจากเหลาไผ่เป็นเส้นยาวๆ หรือที่เรียกว่า “ตอก” แล้วนำมาม้วนขด ตามด้วยบิดเป็นรูปทรงตามต้องการ แล้วนำไปชุบกาวลาเท็กซ์เพื่อคงรูปทรง ตากแดดจนแห้ง นำมาขัดผิวให้เรียบเนียนด้วยเครื่องขัดไฟฟ้า จากนั้น นำขี้เลื่อยผสมกาวลาเท็กซ์และสีฝุ่น มาอุดสมานไผ่ขดให้เป็นเนื้อเดียวกัน ทาสีเคลือบเงา และสุดท้ายขัดด้วยเครื่องไฟฟ้าอีกครั้ง เพื่อให้มันวาวสวยงาม


น้อม เล่าต่อว่า ได้ประยุกต์ไม้ไผ่ขดเป็นผลิตภัณฑ์นานาชนิด เช่น ถาดผลไม้ พาน จานรองแก้ว ถังขยะ กล่องใส่ทิชชู่ ขันโตก แจกัน โต๊ะ เก้าอี้ โคมไฟ ฯลฯ นอกจากนั้น ยังนำวัสดุไม้ชนิดอื่นๆ มาผสมผสาน เช่น ไม้มะม่วง หวาย ฯลฯ เพื่อให้มีความหลากหลาย และแปลกใหม่ด้วย โดยสินค้ามีรวมกันกว่า 40-50 แบบ ราคาตั้งแต่สิบกว่าบาทถึงสูงสุดประมาณ 3,000 บาท

ทำเป็นแจกัน
“ที่ผ่านมามีทั้งนักออกแบบ อาจารย์ นักศึกษา มาขอดูงานการออกแบบของผม แล้วก็ถามถึงหลักการออกแบบ ซึ่งผมก็ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร เพราะที่ผ่านมา ผมไม่ได้มีหลักวิชาอะไรเลย อาศัยที่ผมจะพยายามนึกตลอดเวลาว่า ไม้ไผ่สามารถทำเป็นอะไรได้บ้าง ซึ่งส่วนใหญ่สินค้าต่างๆ มันจะมาจากความต้องการของลูกค้าบวกกับสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว เช่น มีอยู่วันหนึ่ง ผมมองไปที่พัดลมตั้งโต๊ะ แล้วก็รู้สึกเหมือนมันกำลังจ้องผม ทำให้ผมเกิดความคิดว่า น่าจะทำเป็นโคมไฟได้นะ เมื่อทำออกมา ลูกค้าก็ให้ความสนใจอย่างมาก เพราะไม่เคยมีใครคิดถึงมาก่อน” หนุ่มชาวเชียงใหม่ เผย
ชุดเฟอร์นิเจอร์
ด้านช่องทางตลาดปัจจุบัน จะรับทำตามออเดอร์ของลูกค้า และมีผู้สั่งสินค้าไปขายตามแหล่งชอปปิ้งย่านท่องเที่ยวต่างๆ เช่น เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต และตลาดนัดสวนจตุจักร เป็นต้น นอกจากนั้น ขายตามงานสินค้าชุมชน ในฐานะโอทอป 4 ดาวประจำ จ.เชียงใหม่ โดยกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ เป็นคนรักการตกแต่งบ้าน รวมถึง กลุ่มโรงแรม รีสอร์ต นำสินค้าไปตกแต่งสถานที่

ในส่วนการผลิตนั้น น้อม เผยว่าทำในรูปแบบกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน ใช้เครื่องหมายการค้าว่า “น้อม ไผ่ไม้ขด” มีแรงงาน 13 คน อยู่ใน ต.ป่าบง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ โดยผลิตได้ประมาณ 500 ชิ้นต่อเดือน อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สำคัญของอาชีพ คือ ไม่มีความพร้อมในการผลิตปริมาณมากๆ ทั้งที่มีออเดอร์รออยู่จำนวนมาก รวมถึง ขาดแคลนแรงงานฝีมือที่จะมาช่วยขยายกำลังผลิต ทำให้เสียโอกาสที่จะขยายตลาดให้กว้างมากขึ้นได้


@@@@@@@@@@@@@@@

โทร.08-1998-4987
กำลังโหลดความคิดเห็น