xs
xsm
sm
md
lg

“จักรยานติดเครื่องยนต์” ย้อนอดีตตามแบบฝีมือช่างไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จำลองจากจักรยานติดเครื่องโบราณในสมัยสงครามโลกครั้งที่2
จักรยานติดเครื่อง กำลังเป็นเทรนด์ใหม่ของการขับขี่รถจักรยานที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะกลุ่มนักสะสม เพราะจักรยานติดเครื่อง เป็นเทคโนโลยีการขับขี่ ที่เกิดขึ้นก่อนการมีจักรยานยนต์ ดังนั้น จักรยานติดเครื่องเปรียบเสมือนการจำลองสิ่งที่มีในอดีตให้กลับมาใหม่
นายมานะ วงศ์ประกรคำ เจ้าของผลงาน
สำหรับรถจักรยานติดเครื่องโบราณที่เกิดขึ้นครั้งแรก ในปี 1912 -1920 โดยเป็นผลงานของ 2 ผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ อย่าง แบรนด์ Indian และ Harley Davidson เป็นการผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์ นำวัตถุดิบที่หาได้ในประเทศมาผลิตเป็นจักรยานติดเครื่องดังกล่าว ปัจจุบันรถจักรยานติดเครื่องโบราณเป็นสิ่งที่หายากมาก เป็นจุดเริ่มต้นของการจำลองจักรยานติดเครื่องออกมาจำหน่าย
เน้นสีสันสดใส เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าหลากหลาย
การจำลองขึ้นมาใหม่ในครั้งนี้ มีผู้ผลิตหลายราย แต่สำหรับผลงานของ Art Speed Cycles ของ “นายอรัญ วิชากุล” ผู้ซึ่งคลุกคลีอยู่กับรถบิ๊กไบค์มาเกือบ 20 ปี เป็นผู้ทำการออกแบบและควบคุมการผลิต และมี “นายมานะ วงษ์ประกรคำ” เป็นผู้วางแผนและทำการตลาด โดยใช้พื้นที่การผลิตในจังหวัดอุดรธานี และขนมาจำหน่ายในกรุงเทพฯ

นายมานะ เล่าว่า กลุ่ม Art Speed Cycles ได้เริ่มงานเมื่อเดือนมกราคม 2553 ด้วยการผลิตชุดแต่งแฟนซีรถมอเตอร์ไซค์ ชอปเปอร์ สำหรับส่งออกและขายภายในประเทศ โดยตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ส่วนตลาดรอง คือ ยุโรป และเอเชีย ประกอบไปด้วย อังกฤษ เนเธอแลนด์ แคนาดา เยอรมัน ศรีลังกา มัลดีฟ ไต้หวัน เป็นต้น ซึ่งเป็นรูปแบบที่ทางเราออกแบบทำขึ้นมาเอง โดยไม่ได้อาศัยเครื่องจักรเข้ามาช่วย งานกว่า 90% เป็นงานแฮนด์เมดทั้งหมด
ทำเลียนแบบจักรยานเก่า
"จุดหนึ่งที่ต่างชาติให้ความสนใจผลงานของเราส่วนหนึ่ง เป็นเพราะเป็นงานชิ้นเดียวไม่มีการทำซ้ำ และที่สำคัญลอกเลียนแบบได้ยากเพราะเป็นงานแฮนด์เมด ทำให้ลูกค้าได้ชุดแต่งที่ไม่ซ้ำแบบใคร ยิ่งมีชิ้นเดียวยิ่งดี จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ลูกค้าในหลายๆ ประเทศสั่งซื้อสินค้าจากเรา นอกเหนือจากความพึ่งพอใจในแบบ และมาตรฐานการผลิต ที่ลูกค้ารับได้"

อย่างไรก็ตาม จากการที่ลูกค้าต้องการรูปแบบใหม่ตลอดเวลา จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการคิดรูปแบบใหม่เพื่อนำเสนอลูกค้า แต่ด้วยข้อจำกัดในการออกแบบและการผลิต ในบางครั้ง ไม่สามารถคิดหรือผลิตรูปแบบใหม่ได้ตลอด ทำให้Art Speed Cycles ต้องหยุดไลน์การผลิตชุดแต่งแฟนซี่ ไปก่อน หันมามองหาการผลิตสินค้าในรูปแบบอื่นๆ สุดท้ายก็มาลงที่จักรยานติดเครื่อง เพราะมีคู่แข่งในท้องตลาดน้อย และเป็นสินค้าใหม่สำหรับคนไทย
จักรยานแบบเก๋ เอาใจวัยรุ่น
ทั้งนี้ ประกอบกับสามารถใช้ไลน์การผลิตเดิม และใช้ประสบการณ์จากทีมงานที่ทำชุดแต่งมาปรับใช้ได้ เดิมได้มีการทดลองผลิตจักรยานชอปเปอร์ออกมาก่อน แต่ปัญหาคือ ปัจจุบันตลาดจีนมีการผลิตจักรยานชอปเปอร์ออกมาจำหน่ายเป็นจำนวนมาก เราเองเป็นงานฝีมือ ไม่สามารถแข่งขันได้ในด้านของราคา และจำนวนการผลิต จึงหนีหันมาทำจักรยานติดเครื่องแทน

สำหรับจักรยานติดเครื่องในรุ่นแรกที่ทำออกมาจำหน่าย จะเป็นการจำลองรูปแบบจักรยานติดเครื่องดั้งเดิม ของ ทั้ง 2 แบรนด์ที่กล่าวมาข้างต้น บวกกับการจำลองในแบบที่ทหารอเมริกันนิยมใช้ในช่วงนั้น โดยรูปแบบจะมีหลายลักษณะด้วยกันไม่ว่าจะเป็น การจำลองและทำสีให้ดูเหมือนรถเก่า และการจำลองในแบบและสีสันสดใส ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับความชอบของลูกค้า
ออกแบบตัวถังชอปเปอร์ส่งออก ผลงานถนัด
ในส่วนของเครื่องยนต์ ใช้ เครื่องยนต์ 49 ซีซี สองจังหวะ สตาร์ตมือ ระบบหน้าทองขาว เป็นเครื่องนำเข้าจากประเทศจีน ถังน้ำมันบรรจุประมาณ 3 ลิตร ใช้น้ำมันเบนซิน เป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนผสมกับน้ำมันออโตลูป 1 ฝาต่อน้ำมันเบนซิน1 ลิตร อัตราการสิ้นเปลือง ประมาณ 40 กิโลเมตรต่อลิตร ความเร็วแนะนำ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยความยาวของจักรยานประมาณ 190 เซนติเมตร น้าหนักประมาณ 35 กิโลกรัม ขนาดล้อ 26 นิ้ว (ล้อรถเข็น)

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรถมีขนาดเล็ก ทำให้เดินทางในระยะใกล้ ได้คล่องแคล่ว และประหยัดกว่าจักรยานยนต์ และด้วยความที่เป็นการจำลองของเก่า จึงมีความคลาสสิค ที่ลูกค้าสามารถนำไปสร้างจุดเด่นให้กับงานอีเวนท์ งานโฆษณา หรือการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวได้ ซึ่งมองลูกค้าในกลุ่มนี้ด้วย นอกเหนือจากกลุ่มที่ชื่นชอบความคลาสสิคของเก่าโบราณ
ผลงานออกแบบตัวถังชอปเปอร์
โดยช่องทางการขายที่วางไว้ เป็นการขายผ่านเว็บไซต์ และการมีดีลเลอร์ตัวแทนจำหน่าย เริ่มจากจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวก่อน เพราะการขี่จักรยานหรือ การขี่มอเตอร์ไซด์เป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ โดยเริ่มนำสินค้าไปวางขายครั้งแรกที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ผ่านร้านดีลเลอร์ และค่อยขยายไปตามจังหวัดใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว

ในส่วนของยอดขายต่อเดือนตั้งไว้เพียง เดือนละ 15 คัน เพราะด้วยข้อจำกัดในเรื่องของกำลังการผลิต ที่ผลิตได้เต็มที่เพียงเดือนละ 15 คัน ราคาขายปลีกคันละ21,000 บาท  และในระหว่างที่หันมาทำการผลิตจักรยานติดเครื่อง ในส่วนของชุดแต่งแฟนซี รถมอเตอร์ไซด์ชอปเปอร์ จำเป็นต้องหยุดไปก่อน และหันมาทุ่มกับงานตรงนี้อย่างเต็มที่ ซึ่งมั่นใจว่าตลาดรถจักรยานติดเครื่องน่าจะไปได้ดี เพราะมีคู่แข่งน้อย และตลาดจีนเองก็ยังไม่ลงมาทำ เพราะบางอย่างต้องอาศัยงานแฮนด์เมด ผู้ผลิตจากประเทศจีนจึงยังไม่สนใจ แต่ถ้าเมื่อใดที่ผู้ผลิตจีนลงมาเล่นตลาดเดียวกับเรา ก็คงจะต้องถอยหันไปทำสินค้าอื่นๆต่อไป

โทร. 08-9104-7835
กำลังโหลดความคิดเห็น