เป็นที่รู้กันว่าธุรกิจแฟรนไชส์เป็นทางลัดเจ้าของธุรกิจมือใหม่ที่ต้องการเป็นเถ้าแก่ เพราะมีแฟรนไชส์ซอว์วางระบบต่างๆ ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากจุดนี้เองส่งผลให้ในแต่ละปีอัตราการเติบโตธุรกิจแฟรนไชส์เพิ่มสูงขึ้น แม้จะเจอวิกฤตทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งภัยน้ำท่วมหนักที่ผ่านมา
นางสาวสมจิตร ลิขิตสถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท แฟรนไชส์โฟกัส จำกัด และนายกสมาคมแฟรนไชส์ไทย ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน พบว่าช่วงอายุของผู้ซื้อแฟรนไชส์ลดลงเรื่อยๆ จากเดิมเป็นกลุ่มคนวัยทำงาน อายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันจะเป็นคนรุ่นใหม่ เมื่อเรียนจบ ตัดสินใจเป็นเจ้าของธุรกิจทันที โดยเลือกธุรกิจแฟรนไชส์เป็นอันดับต้นๆ หวังลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจครั้งแรกในชีวิต
สำหรับในปี 2554 ที่ผ่านมา มหาอุทกภัยได้ส่งกระทบต่อภาคธุรกิจเป็นวงกว้างไม่เว้นแม้กระทั่งธุรกิจแฟรนไชส์ แต่ตัวเลขการเติบโตของธุรกิจแฟรนไชส์ยังขยายตัว รวมต่อเนื่องระหว่าง 20-25% จากการสำรวจข้อมูลจากสมาคมแฟรนไชส์ไทย ซึ่งเป็นตัวเลขไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมามากนัก และคาดว่าปีหน้า 2555 จะเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าเป็นมาจากปัจจัยหนุนหลัก 7 ประการ ดังนี้
1.การส่งเสริมของภาครัฐ ในการจัดทำเรื่องการสร้างมาตรฐานแฟรนไชส์ที่สร้างความตื่นตัวในพัฒนาระบบธุรกิจแฟรนไชส์ได้ในระดับหนึ่ง จากบทบาทของกระทรวงพาณิชย์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งทำให้ผู้ขายแฟรนไชส์ได้ตระหนักถึงในเรื่องการปรับปรุงแฟรนไชส์ให้แข็งแกร่ง และมีความน่าเชื่อถือ อันเป็นผลทำให้ แฟรนไชส์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน จะสามารถเพิ่มการขายแฟรนไชส์ได้มากขึ้น
2.แรงหนุนจากสถาบันการเงิน ในนโยบาย การสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่ธนาคารต่างๆ ได้นำธุรกิจแฟรนไชส์มาเป็นกลยุทธในการขยายเงินกู้ โดยมีธนาคาร กสิกร เอสเอ็มอีแบงค์ ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารธนชาติ เป็นต้น ผลจากการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อธุรกิจแฟรนไชส์นี้ เป็นแรงกระตุ้นสำคัญ ที่ทำให้แฟรนไชส์ขยายตัวได้เพิ่มขึ้นในปีนี้ และจะส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตของแฟรนไชส์ในปีหน้าอย่างมาก เพราะการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจแฟรนไชส์นี้ เพิ่งเป็นเพียงจุดเริ่ม หากนโยบายในลักษณะนี้ มีความเข้มข้นและมีความต่อเนื่อง ก็จะส่งผลต่อการเติบโตที่ต่อเนื่องของธุรกิจแฟรนไชส์ได้ดีขึ้นในปีหน้า
3.ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ มีคนรุ่นใหม่ วัย 20 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในวัย 30 ต้นๆ มีแนวโน้มที่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการมากขึ้น ซึ่งต่างจากวัยทำงานรุ่นก่อนที่นิยมการทำงานในบริษัทใหญ่ๆ ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นทางเลือกหนึ่ง สำหรับเจ้าของกิจการรุ่นใหม่ที่ต้องการทำธุรกิจได้ทันทีในรูปแบบที่ไม่ต้องการลองผิดลองถูก ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของธุรกิจแฟรนไชส์ ที่เติบโตตามการเพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการรุ่นใหม่
4.ผลกระทบจากน้ำท่วม ทำให้ธุรกิจต่างๆต้องหยุดชะงักชั่วระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งก็รวมถึงธุรกิจแฟรนไชส์ด้วยเช่นกัน ในไตรมาสสุดท้ายของปี อย่างไรก็ตามในช่วงที่มีการฟื้นตัวในครึ่งปีแรก ธุรกิจแฟรนไชส์ ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการที่ช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของการสร้างอาชีพได้ ทั้งนี้ขึ้นกับว่า ภาครัฐจะใช้กลุ่มของธุรกิจแฟรนไชส์เป็นส่วนหนึ่งในกลไกการฟื้นฟูธุรกิจขนาดย่อมหรือไม่
5.บทบาทของสมาคม สมาคมแฟรนไชส์ไทย กำลังมีโครงการจับคู่ธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการเก็บข้อมูลของทั้งสองฝ่าย คือ ผู้ที่ต้องการทำธุรกิจ และผู้ที่ต้องเสนอธุรกิจ ซึ่งโครงการนี้ จะเป็นหน่วยงานกลางในการส่งเสริมให้การเกิดการติดต่อระหว่างกัน เกิดการนัดพบ เพิ่มสะดวกในการหาข้อมูลซึ่งกัน หากโครงการนี้ดำเนินการได้ผล ก็จะมีส่วน สำคัญ ในการเร่งการเกิดธุรกิจได้ง่ายขึ้น
6.เศรษฐกิจอาเซียน การค้าเสรีอาเซียน ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2558 นี้ วิเคราะห์กันว่า จะสร้างโอกาสที่ดีกับธุรกิจ แฟรนไชส์ของประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยที่มีความพร้อมสู่ตลาดอาเซียนได้นั้น มีไม่ถึง 20 ราย จึงเป็นที่น่าเสียดาย ที่โอกาสมาเร็ว แต่อย่างไรก็ตามแฟรนไชส์ไทยรายใดที่มีความพร้อมสู่ตลาดโลก โอกาสของการขยายตลาดมหาศาลนี้ รอคอยอยู่
7.กลยุทธ์ในการขยายตัวของบริษัทแฟรนไชส์เอง ในแต่ละปี บริษัทที่ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ทุกแห่ง ได้มีการตั้งเป้าในการเพิ่มสาขา ซึ่งอย่างน้อยที่สุด แต่ละแฟรนไชส์จะมีการเปิดเพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 5 แห่ง ซึ่งหากเป็นแฟรนไชส์รายใหญ่ ก็จะมีการเปิดมากถึง 100 สาขาทีเดียว นี่เป็นจุดที่ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม อนาคตของธุรกิจแฟรนไชส์จะไปได้ไกลเพียงใด สิ่งสำคัญคงขึ้นอยู่ศักยภาพของผู้ประกอบการ ด้านสร้างมาตรฐานให้ธุรกิจ และมีความตั้งใจที่จะขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์อย่างจริงจัง